'บีอีเอ็ม' โชว์ละเอียด เงินต้น+ดบ. เรียกค่าเสียหายกทพ. 11 เรื่อง เป็นเงิน 1.3 แสนล.
การที่กทพ.บีอีเอ็ม และบริษัทย่อย ได้มีข้อตกลงไกล่เกลี่ยในการยุติข้อพิพาทที่มีต่อกัน โดยจะยกเลิกบรรดาข้อพิพาททั้งหมดที่เกิดขึ้น ขยายระยะเวลาของสัญญาสัมปทาน อัตราค่าผ่านทางจะปรับเพื่มขึ้นในอัตราคงที่ ลงทุนก่อสร้างปรับปรุงทางด่วนขั้นที่ 2 จึงเป็นการบริหารความเสี่ยงที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย
อย่างที่ทราบกันว่า การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ซึ่งเป็นคู่สัญญาสัมปทาน มีข้อพิพาทกับบริษัทเอกชนอยู่หลายแห่ง ซึ่งจากข้อมูลรายงานประจำปี 2561 ของกทพ.เองก็พบว่า มีคดีที่ถูกฟ้องร้องอยู่ 23 คดี และมีหนี้สินที่อาจเกิดขึ้นจากการถูกฟ้องร้อง ณ วันที่ 30 กันยายน 2561 เป็นเงิน 52,303.85 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันหลายคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการและศาล (อ่านประกอบ:เปิดข้อมูล 23 คดี การทางพิเศษฯ ถูกฟ้องร้อง เป็นเงินกว่า 5.2 หมื่นล้าน)
บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ถือเป็นหนึ่งในคู่กรณีที่มีข้อพิพาทกับการทางพิเศษฯ มากที่สุด รวมระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 15 ปี
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบพบว่า การทางพิเศษฯเป็นคู่สัญญาสัมปทานกับบริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด หรือบริษัทย่อยของบีอีเอ็ม รวมทั้งสิ้น 4 สัญญา ได้แก่
1.สัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2
2.สัญญาเพื่อการต่อขยายโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ส่วนดี)
3.สัญญาโครงการทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร
และ 4.สัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด
ในระหว่างการดำเนิการตามสัญญา กทพ.กับบีอีเอ็ม และบริษัทย่อย มีข้อพิพาทกับกทพ. คดีทั้งอยู่ในชั้นคณะผู้พิจารณา ชั้นคณะอนุญาโตตุลาการ และในชั้นศาลปกครอง โดยประเด็นสำคัญ เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2561 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษา ในข้อพิพาทเรื่องผลกระทบจากการแข่งขัน ให้กทพ.ชดเชยรายได้ที่ลดลงจากการประมาณการ เนื่องจากผลกระทบจากการแข่งขันให้บริษัทย่อย ของบีอีเอ็ม ซึ่งข้อพิพาทดังกล่าวมีมูลค่าข้อพิพาทรวมสูงมาก
กระทั่ง เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2561 คณะรัฐมนตรี จึงมีมติให้กทพ.ไปเจรจาต่อรองกับบีอีเอ็ม เพื่อบรรเทาความเสียหายของรัฐ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ประชาชน โปร่งใส และชอบด้วยกฎหมาย โดยคำนึงถึงประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ
ขณะที่กทพ.เอง ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ พิจารณาแนวทางการดำเนินคดีข้อพิพาทตามสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 สัญญาเพื่อการต่อขยายโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ส่วนดี) และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด
มีรายงานว่า คณะอนุกรรมการฯ และบอร์ดการทางพิเศษฯ มีการประชุมและเจรจากับบีอีเอ็ม และบริษัทย่อยหลายครั้งหลายหนจนได้ข้อตกลงร่วมกัน ในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและการดำเนินโครงการ โดยมีขั้นตอนทางกฎหมายที่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 (อ่านประกอบ:เปิดผลเจรจาข้อพิพาท 'กทพ.-บีอีเอ็ม' ก่อนได้ข้อยุติขยายสัมปทาน แลกใช้หนี้แสนล้าน และ รองปลัดคมนาคม ระบุพร้อมประชุมพิจารณาผลเจรจา 'กทพ.-บีอีเอ็ม' ขยายสัมปทานทางด่วน 2)
จนเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2562 สหภาพการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ออกมาคัดค้าน พร้อมกับแสดงจุดยืนให้บอร์ด กทพ.ส่งร่างสัญญาทางด่วนขั้นที่ 2 รวมส่วนต่อขยาย และทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบเพื่อความถูกต้อง พร้อมเรียกร้องให้ 'ยกเลิก' มติบอร์กทพ. เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2561 ขยายสัมปทานให้บีอีเอ็มอีก 37 ปี
ความเคลื่อนไหวล่าสุดประเด็นนี้ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ ทางบีอีเอ็ม ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่องสารสนเทศการได้มาจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์จากการยุติข้อพิพาทกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(แก้ไข) ว่า เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 1/2562 ได้มีมติอนุมัติให้นำเสนอที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2562 ในวันที่ 18 มีนาคม 2562 เพื่อพิจารณาอนุมัติให้บริษัทฯ และบริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด ("บริษัทย่อย") ยุติข้อพิพาททั้งหมดกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ("กทพ.") โดยการทบทวนและแก้ไขสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 สัญญาเพื่อการต่อขยายโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ส่วนดี) และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน - ปากเกร็ด
มีข้อมูลที่น่าสนใจ ในรายงานดังกล่าว ระบุว่า บีอีเอ็มและบริษัทย่อย มีข้อพิพาทกับการทางพิเศษฯ โดยได้ยื่นเรียกร้องค่าเสียหายจาก การทางพิเศษฯ จำนวน 11 เรื่องมีมูลค่าฟ้องร้องจนถึงวันที่ยืนข้อพิพาททั้งสิ้นประมาณ 54,504 ล้านบาท ตามหมายเหตุประกอบงบการเงิน ณ วันที่ 30 กันยายน 2561
อย่างไรก็ดี ยังมีข้อพิพาทตามสัญญา ซึ่งประเด็นเดียวกัน หรือประเด็นเกี่ยวเนื่องกันกับข้อพิพาทที่มีการยื่นฟ้องร้องคดีต่อศาล และต่อคณะอนุญาโตตุลาการแล้ว แต่ยังอยูในขั้นตอนคณะผู้พิจารณาและในขั้นตอนยื่นหนังสือบอกกล่าวให้การทางพิเศษฯ ปฏิบัติตามสัญญาอีก โดยมีมูลค่าข้อพิพาททั้งสองส่วน รวมดอกเบี้ยคำนวณถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2561 เป็นจำนวนเงินรวมประมาณ 137,517 ล้านบาท
ดังนั้น การที่กทพ.และบีอีเอ็ม และบริษัทย่อย ได้มีข้อตกลงไกล่เกลี่ยในการยุติข้อพิพาทที่มีต่อกัน โดยจะยกเลิกบรรดาข้อพิพาททั้งหมดที่เกิดขึ้น หรืออาจจะเกิดขึ้นในอนาคตที่เกี่ยวข้องตามสัญญาสัมปทานเดิมทั้งหมด การขยายระยะเวลาของสัญญาสัมปทานทั้ง 3 สัญญา ออกไปสิ้นสุดในปี 2600 อัตราค่าผ่านทางจะมีการปรับเพื่มขึ้นในอัตราคงที่ทุกระยะเวลา 10 ปี และการลงทุนก่อสร้างปรับปรุงทางด่วนขั้นที่ 2 ใช้เงินลงทุนประมาณ 31,500 ล้านบาท
บีอีเอ็ม ระบุตอนท้ายๆ ถึงผลประโยชน์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากข้อตกลงไกล่เกลี่ยข้อพิพาทนี้ สามารถทำให้ความเสึ่ยงจากข้อพิพาทตามสัญญาหมดไป เพราะในการดำเนินงานของบริษัทฯ/บริษัทย่อย กับกทพ.ตามสัญญาสัมปทาน มีการตีความในสัญญาที่แตกต่างกันในเรื่องต่างๆ ที่เกิดข้อพิพาทอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาสัญญา ซึ่งกระบวนการระงับข้อพิพาทตามสัญญา โดยรวมตั้งแต่ชั้นคณะผู้พิจารณา ชั้นอนุญาโตตุลาการ และชั้นศาลปกครอง ใช้ระยะเวลานานกว่า 15 ปี และมีความไม่แน่นอนว่า บริษัทฯ/บริษัทย่อยจะชนะคดี หรือหากชนะคดีก็อาจไม่ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษา อันเนื่องจากคู่กรณี เป็นหน่วยงานรัฐ ที่ไม่อาจฟ้องบังคับยึดทรัพย์ หรือมีเหตุปัจจัยภายนอกที่บริษัทไม่อาจควบคุมได้
"การที่สามารถยุติข้อพิพาทที่มีต่อกันตามสัญญา จึงเป็นการบริหารความเสี่ยงที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
บีอีเอ็ม แจ้งตลท.ไกล่เกลี่ยยุติข้อพิพาทคดีทางด่วน 1.3 แสนล้าน ลุ้นครม.เห็นชอบ
เปิดข้อมูล 23 คดี การทางพิเศษฯ ถูกฟ้องร้อง เป็นเงินกว่า 5.2 หมื่นล้าน
รองปลัดคมนาคม ระบุพร้อมประชุมพิจารณาผลเจรจา 'กทพ.-บีอีเอ็ม' ขยายสัมปทานทางด่วน 2
เช็คลิสต์ 5 คดีค้าง กทพ. พิพาททางด่วนกับ 2 เอกชนยักษ์ใหญ่
เปิดผลเจรจาข้อพิพาท 'กทพ.-บีอีเอ็ม' ก่อนได้ข้อยุติขยายสัมปทาน แลกใช้หนี้แสนล้าน