"กฤษฎีกา" ตีความการเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย (แพ่ง) ตามหลักกฎหมายอิสลาม
เมื่อเร็วๆ นี้ได้มีบันทึกความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ชี้ขาดประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับบุตรของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกิดกับบิดาและมารดาที่เป็นสามีภรรยากันโดยชอบด้วยหลักกฎหมายอิสลาม มีสิทธิได้รับเงินบำนาญพิเศษกรณีเจ้าหน้าที่รัฐผู้นั้นเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ซึ่ง "ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา" เห็นว่าเป็นกรณีที่น่าสนใจ และเกี่ยวข้องเกี่ยวพันกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่นับถือศาสนาอิสลาม จึงได้สรุปรายละเอียดทั้งหมดมานำเสนอ
กรณีนี้สืบเนื่องจากกรมบัญชีกลางได้มีหนังสือ ที่ กค 0406.5/03954 ลงวันที่ 2 ก.พ.2555 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สรุปความได้ว่า กองทัพบกได้ส่งเรื่องขอรับบำนาญพิเศษของ อาสาสมัครทหารพราน (อส.ทพ.) ซาการียา มะเกมีนา ซึ่งถึงแก่ความตายเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่เมื่อวันที่ 25 ก.พ.2553 โดยทายาทที่มีสิทธิได้รับบำนาญพิเศษ ได้แก่ น.ส.อานิตา มะเกมีนา กับ ด.ญ.อารีนี มะเกมีนา ซึ่งเป็นบุตรของผู้ตาย และ นางปีเด๊าะ เจะเลาะ มารดาของผู้ตาย โดยกรมบัญชีกลางได้จ่ายบำนาญพิเศษให้แก่นางปีเด๊าะแล้ว แต่ในส่วนของ น.ส.อานิตา กับ ด.ญ.อารีนี นั้น ยังมิได้จ่าย
ต่อมาบุคคลทั้งสองได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดนราธิวาส ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทั้งคู่เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายซาการียา แต่ศาลมีคำสั่งไม่รับคำร้อง เนื่องจากเห็นว่าบุคคลทั้งสองเป็นบุตรซึ่งเกิดแก่นายซาการียากับ น.ส.รอฮานิง ยาเง๊าะ ซึ่งจดทะเบียนสมรสกันตามหลักกฎหมายอิสลามอยู่แล้ว ดังนั้นนายซาการียากับ น.ส.รอฮานิง จึงเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยหลักศาสนาอิสลาม ทั้ง น.ส.อานิตา และ ด.ญ.อารีนี เกิดระหว่างสมรส จึงเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายตามหลักศาสนาอิสลามของนายซาการียากับ น.ส.รอฮานิง โดยไม่ต้องมีการรับรองบุตรอีก
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาที่เป็นประเด็นข้อกฎหมายว่า การที่ นายซาการียาได้สมรสกับ น.ส.รอฮานิง ตามหลักกฎหมายอิสลาม โดยมิได้จดทะเบียนสมรสตามมาตรา 1457 (1) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ.2478 จะมีผลทำให้บุตรทั้ง 2 คนเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายและมีสิทธิได้รับบำนาญพิเศษหรือไม่ เพราะคณะกรรมการกฤษฎีกาเคยมีความเห็นตามหนังสือที่ นร 0901/0223 ลงวันที่ 15 ก.พ.2551 เป็นบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง สิทธิในการได้รับบำเหน็จตกทอดและบำนาญพิเศษในฐานะภรรยาและบุตรตามมาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 (กรณีจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายอิสลาม เรื่องเสร็จที่ 120/2551) ว่าการสมรสโดยชอบด้วยบทบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม หากมิได้ปฏิบัติเงื่อนไขการสมรสตามมาตรา 1457 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม่ถือว่าเป็นการสมรสที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
จากเหตุดังกล่าว กรมบัญชีกลางจึงขอหารือข้อกฎหมายใน 2 ประเด็น กล่าวคือ
1) น.ส.อานิตา และ ด.ญ.อารีนี เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ของนายซาการียา โดยไม่ต้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายอีกหรือไม่
2) เพื่อประกอบการพิจารณาสิทธิในการได้รับบำนาญพิเศษ กรมบัญชีกลางสามารถพิจารณาสถานะความเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของ น.ส.อานิตา และ ด.ญ.อารีนี ตามคำสั่งศาลจังหวัดนราธิวาสได้หรือไม่ อย่างไร
ทั้งนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 11) ได้พิจารณาข้อหารือของกรมบัญชีกลางแล้ว มีความเห็นตามที่ปรากฏในบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 678/2555 ลงนามโดย นายอัชพร จารุจินดา เรื่อง "การเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายตามกฎหมายอิสลาม" ว่า มาตรา 1457 (2) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้กำหนดเงื่อนไขแห่งการสมรสไว้ว่า การสมรสตามประมวลกฎหมายนี้จะมีได้เฉพาะเมื่อได้จดทะเบียนแล้วเท่านั้น และมาตรา 1547 (3) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้กำหนดเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดากับบุตรไว้ว่า เด็กที่เกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกันจะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายต่อเมื่อบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลัง หรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตร หรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร
แต่สำหรับเรื่องครอบครัวหรือมรดกที่ผู้เสนอคำขอเป็นอิสลามศาสนิก และเป็นกรณีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้นใน จ.ปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล จะต้องนำพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ.2489 มาปรับใช้ ซึ่งมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติว่า "ในการวินิจฉัยชี้ขาดคดีแพ่งเกี่ยวด้วยเรื่องครอบครัวและมรดกอิสลามศาสนิกของศาลชั้นต้นในจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล ซึ่งอิสลามศาสนิกเป็นทั้งโจทก์ จำเลย หรือเป็นผู้เสนอคำขอในคดีที่ไม่มีข้อพิพาท ให้ใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกบังคับแทนบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการนั้น เว้นแต่บทบัญญัติว่าด้วยอายุความมรดก ทั้งนี้ ไม่ว่ามูลคดีเกิดขึ้นก่อนหรือหลังวันใช้พระราชบัญญัตินี้"
กรณีที่หารือปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายซาการียา และ น.ส.รอฮานิง เป็นอิสลามศาสนิก มีภูมิลำเนาอยู่ใน จ.นราธิวาส ได้ทำการสมรสกันถูกต้องตามกฎหมายอิสลามแล้ว จึงถือได้ว่าเป็นสามีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ.2489 ถึงแม้จะไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็ตาม
ดังนั้น น.ส.อานิตา กับ ด.ญ.อารีนี ซึ่งเป็นบุตรที่เกิดจากการสมรสดังกล่าวย่อมเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย โดยมิต้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายอีก กรมบัญชีกลางจึงสามารถพิจารณาจ่ายบำนาญพิเศษให้แก่บุคคลทั้งสองได้โดยไม่ต้องนำคำสั่งของศาลจังหวัดนราธิวาสมาประกอบการพิจารณา