คนเชียงใหม่ดันจังหวัดจัดการตนเอง ล่าหมื่นรายชื่อเสนอ กม.เชียงใหม่มหานคร
ภาคประชาชนร่วมยกร่าง พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร เปิดโต๊ะล่าหมื่นรายชื่อชง กม.ตามรัฐธรรมนูญ เสนอยกเลิกบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็นส่วนกลางและท้องถิ่น จัดเก็บภาษีใช้เองส่งรัฐแค่ร้อยละ 30
เร็วๆนี้ บริเวณลานหอศิลป์ล้านนา จ.เชียงใหม่ ภาคีขับเคลื่อนเชียงใหม่จัดการตนเอง จัดเวทีสาธารณะ “ปฏิรูปประเทศไทยเชียงใหม่จัดการตนเอง” โดยมีการนำเสนอร่างพระราชบัญญัติเชียงใหม่มหานคร ซึ่งยกร่างเสร็จแล้วและอยู่ในขั้นตอนรับฟังความคิดเห็น และกำลังระดมรายชื่อประชาชนผู้สนับสนุนให้ครบ 10,000 รายชื่อตามรัฐธรรมนูญเพื่อเสนอร่างกฏหมายเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา
สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร มุ่งแก้ไขปัญหา 3 แนวทาง คือ 1.ยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาค เหลือเพียงราชการส่วนกลางและราชการส่วนท้องถิ่นเต็มพื้นที่และมีฐานะเป็นนิติบุคคล 2.มีอำนาจกำหนดแนวนโยบาย ระเบียบ ข้อบัญญัติ จัดงบประมาณ จัดการบริหารบุคลากรและกลไกโครงสร้างการบริหารงานภายในท้องถิ่นได้ครอบคลุมทุกเรื่อง ยกเว้น 4 เรื่องหลัก คือการทหาร ระบบเงินตรา การต่างประเทศ และการศาล โดยจัดการปกครองเป็น 2 ระดับ คือระดับบน(เชียงใหม่มหานคร) และระดับล่าง(เทศบาล) ทำให้สามารถดูแลครอบคลุมเต็มพื้นที่ มีการแบ่งหน้าที่การทำงานชัดเจน เพื่อให้การเมืองโปร่งใส มีคุณธรรม มีระบบตรวจสอบที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ 3.สร้างดุลยภาพทางการเมืองให้ตรวจสอบอำนาจกันโดยแบ่งโครงสร้างการปกครอง 2 ส่วนคือฝ่ายบริหารกับฝ่ายออกข้อบัญญัติ เช่น ผู้ว่าราชการเชียงใหม่มหานคร สภาเชียงใหม่มหานครและสภาพลเมือง
นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้ประชาชนสามารถใช้อำนาจโดยตรงกำหนดทิศทางการพัฒนา ตรวจสอบการทำงานหน่วยงาน ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ทุกระดับ และเข้าถึงการใช้งบประมาณผ่านกระบวนการกลไกต่างๆ อาทิ สภาพลเมือง การไต่สวนสาธารณะ การจัดตั้งกรรมาธิการด้านต่างๆ ทั้งด้านการศึกษา เกษตร การจัดการปัญหาหมอกควัน และสิ่งสำคัญคือการการปรับโครงสร้างภาษี โดยภาษีทุกชนิดที่เก็บได้ในพื้นที่จะส่งคืนทางรัฐบาลส่วนกลาง 30 % และคงไว้ที่เชียงใหม่มหานคร 70%
ผู้สื่อข่าวรายงานว่ายังมีการร่วมกันประกาศเจตนารมณ์เชียงใหม่จัดการตนเอง ระบุว่าเชียงใหม่มีอายุได้ 700 ปี มีความรุ่งเรืองทั้งด้านวัฒนธรรม เศรษฐกิจ สังคม สมบูรณ์ทั้งธรรมชาติ มีวัฒนธรรมและชาติพันธุ์หลากหลาย น่าเสียดายที่ถูกรุกรานจากระบบทุนนิยมและอำนาจถูกรวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลาง 120 ปีนับตั้งแต่ 2435 อำนาจการตัดสินใจกำหนดทิศทางการพัฒนาถูกโอนเข้าสู่รัฐบาลกลาง ประชาชนท้องถิ่นและผู้คนถูกลดทอนอำนาจ โครงการพัฒนาที่เข้ามาในพื้นที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่นและประชาว ดังนั้นชาวเชียงใหม่ทั้งภาคการเมือง ท้องถิ่น และกลุ่มพลังทางสังคม จึงจำเป็นต้องขับเคลื่อนยกร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเชียงใหม่มหานครขึ้น เพื่อเป็นแนวทางจัดการของท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ได้บัญญัติไว้