งบไม่เท่ากัน-ส.ผู้ปกครองมีอิทธิพลฝากเด็ก!เบื้องหลัง ป.ป.ช.ชง ครม.แก้ปม ‘แป๊ะเจี๊ยะ’
เบื้องหลัง! ป.ป.ช. ชง ครม. มาตรการป้องกันโรงเรียนรับเงิน ‘แป๊ะเจี๊ยะ’ ชี้การรับนักเรียนเงื่อนไขพิเศษคือช่องทางหลักในการทุจริต ทำให้เกิดการเสนอผลประโยชน์ เผยที่ผ่านมาระบบการศึกษาไทยเหลื่อมล้ำสูง จัดสรรงบไม่เท่ากัน ส.ผู้ปกครองฯ มีอิทธิพลในการฝากเด็ก
จากกรณีคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีมาตรการป้องกันการทุจริตในการเรียกรักทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทนเพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติราชการ หรือปราบปรามการทุจริตต่อหน้าที่ โดยสรุปสาระสำคัญคือ การลดหย่อนหรือยกเว้นภาษี มุ่งเน้นให้ผู้บริจาคเงินเพื่อการศึกษาให้กับโรงรียนที่มิใช่โณงเรียนที่มีการแข่งขันสูง หรือโรงเรียนที่ขาดแคลนหรือด้อยโอกาส ให้ได้รับสิทธิทางด้านภาษีมากกว่าปกติ โดยให้กระทรวงการคลัง กรมสรรพากร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณากำหนดแนวทางให้ชัดเจนนั้น (อ้างอิงข่าวจาก แนวหน้าออนไลน์)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า สาเหตุประการสำคัญที่ทำให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องทำมาตรการดังกล่าว เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาศึกษามาตรการป้องกันการทุจริตในการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทนเพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในสถานศึกษา พบข้อเท็จจริงว่า การรับนักเรียนเงื่อนไขพิเศษ ถือเป็นดุลยพินิจของแต่ละโรงเรียนที่จะกำหนดให้มีการรับนักเรียนด้วยกรณีเงื่อนไขพิเศษหรือไม่ก็ได้ ทั้งนี้ในทางปฏิบัติ พบข้อเท็จจริงว่า หลักเกณฑ์การพิจารณาการรับนักเรียนที่มีเงื่อนไขพิเศษ กลายเป็นช่องทางให้มีการกระทำทุจริตในการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทนเพื่อโอกาสให้มีการเข้าเรียนในสถานศึกษา เป็นช่องว่างให้มีการเสนอผลประโยชน์จากผู้ปกครองนักเรียนซึ่งต้องการจะฝากบุตรหลานเข้าเรียน และผู้มีอำนาจในการรับเด็กเข้าเรียนมีการเรียกรับผลประโยชน์จากผู้ปกครองนักเรียน
คณะอนุกรรมการฯ ยังระบุด้วยว่า ระบบการศึกษาไทยยังมีความเหลื่อมล้ำและมีความแตกต่างกันอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านคุณภาพหรือมาตรฐานการศึกษาระหว่างสถานศึกษาขนาดเล็กที่กระจายอยู่ในท้องที่แต่ละแห่ง กับสถานศึกษาขนาดใหญ่หรือสถานศึกษาที่มีชื่อเสียง ทำให้ผู้ปกครองมีความคาดหวังให้บุตรหลานของตนเข้าศึกษาต่อในสถานศึกษาชื่อดัง มีคุณภาพ ทำให้สถานศึกษาชื่อดังมีที่นั่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้เรียน ส่งผลให้ต้องมีการแข่งขันกันเพื่อเข้าเรียน โดยมีการใช้ช่องทางการบริจาคเพื่อให้ได้เข้าเรียนในสถานศึกษาดังกล่าว หรือที่เรียกกันว่า ‘แป๊ะเจี๊ยะ’
การกระทำดังกล่าวส่งผลกระทบต่อโอกาสทางการศึกษาของเด็กเรียนเก่ง แต่มีฐานะทางการเงินของครอบครัวไม่ดี อาจถูกกีดกันเพราะที่นั่งจำกัด เนื่องจากสูญเสียให้เด็กที่สามารถเข้าศึกษาต่อโดยระบบฝากที่มีการบริจาคเงินหรือจ่ายเงินเพื่อให้ได้เข้าเรียนในสถานศึกษา ประกอบกับรายงานความเห็นประชาชนขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (TI) ประจำปี 2017 เปิดเผยข้อมูลของประเทศไทย พบว่า มีการจ่ายสินบนเพื่อให้ได้รับบริการของรัฐ และการจ่ายสินบนเพื่อให้ได้รับบริการของโรงเรียน มีปัญหามากเป็นลำดับต้น ๆ
ประกอบกับเมื่อรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริง รวมถึงมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ชี้มูลความผิดผู้บริหาร ผู้อำนวยการ ครู อาจารย์ ในสถานศึกษาต่าง ๆ เกี่ยวกับการทุจริตในการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทนเพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในการศึกษา สรุปได้ว่า ปัญหาเกี่ยวกับการระดมทรัพยากร และการบริจาคเงินให้กับสถานศึกษา พบว่า การบริจาคเงินและทรัพย์สิน รวมทั้งการรับเงิน หรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้โรงเรียน ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ระเบียบกฎเกณฑ์ ข้อกำหนด เนื่องจากการบริจาคเงินหรือสิ่งของต่าง ๆ เป็นช่องทางให้เกิดการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างโรงเรียน และผู้ปกครองของนักเรียนเพื่อให้ได้เข้าเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานศึกษาที่มีการแข่งขันสูง
นอกจากนี้ยังมีปัญหาเกี่ยวกับบทบาทของสมาคมผู้ปกครองและครู สมาคมศิษย์เก่า และสมาคมที่เกี่ยวข้อง พบว่า ปัญหาจากการที่โรงเรียนเอื้อประโยชน์ให้สมาคมในการให้สิทธิพิเศษหรือโควตาพิเศษในการฝากเด็กเข้าเรียน หรือใช้ช่องทางดังกล่าวเพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ในรูปแบบของการให้ผู้ปกครองบริจาคเงินผ่านสมาคมให้เด็กได้รับสิทธิเข้าเรียน
เนื่องจากสมาคมดังกล่าว มีบทบาทและอำนาจในการต่อรองกับทางโรงเรียนค่อนข้างสูง และสามารถผลักดันเด็กนักเรียนผ่านโควตาของสมาคม และการเป็นนักเรียนเงื่อนไขพิเศษ กรณีการเป็นผู้มีอุปการคุณต่อโรงเรียนอย่างต่อเพราะเป็นผู้ทำงานให้กับทางสมาคมผู้ปกครองและครู ถือเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากเป็นไปเพื่อการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ในการเข้าเรียน
ขณะเดียวกันปัญหาเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณเพื่อการศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่า แนวทางการจัดสรรยังขาดความเสมอภาค โดยเฉพาะแนวทางการจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวที่รัฐอุดหนุนโรงเรียน ส่วนใหญ่เป็นค่าจัดการเรียนการสอน มีอัตราเท่ากันสำหรับโรงเรียนทุกขนาด ทำให้ไม่สามารถสะท้อนต้นทุนการบริหารจัดการที่แท้จริงของแต่ละสถานศึกษาที่มีความหลากหลายตามขนาดได้ และอาจมิได้ปรับให้สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริงในปัจจุบัน และความจำเป็นตามสภาพพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ สภาพทางเศรษฐกิจ และที่ตั้งของสถานศึกษาด้วย
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/