สแกนนโยบายพรรคการเมืองดังก่อนเลือกตั้ง มีใครชูเรื่องปราบคอร์รัปชั่นบ้าง?
ไล่สแกนนโยบายพรรคการเมืองชื่อดัง ก่อนเลือกตั้ง 24 มี.ค. 62 พบส่วนใหญ่เน้นชูโรงเรื่องการเมือง-เศรษฐกิจ ‘เพื่อไทย’ พูดภาพรวมยกเครื่องระบบราชการให้โปร่งใส ‘ประชาธิปัตย์’ ลดอำนาจรัฐเพิ่มให้ประชาชน ทำให้สังคมโปร่งใส ‘พลังประชารัฐ’ เน้นสานต่อนโยบาย รบ.บิ๊กตู่
อีกราว 1 เดือนเศษนับจากนี้ หากไม่มีอะไรผิดพลาด หรือเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ประชาชนชาวไทยจะได้เข้าคูหาเลือกตั้งอีกครั้งในรอบเกือบ 5 ปี ในวันที่ 24 มี.ค. 2562 ตามโร้ดแม็พของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
เมื่อวันที่ 4-5 ก.พ. 2562 ที่ผ่านมา บรรดาพรรคการเมืองทั้งเล็ก-ใหญ่ต่างพาเหรดนำว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง มาสมัครเป็น ส.ส. ทั้งแบบเขต และแบบบัญชีรายชื่อกันอย่างคึกคัก
อย่างไรก็ดีในช่วงเวลาดังกล่าว มีบางฝ่ายพยายามตั้งคำถามว่า ในช่วงปี่กลองการเมืองเริ่มดังขึ้นเรื่อย ๆ หลายพรรคออกนโยบายมากมายเป็นทางเลือกให้ประชาชน แล้วมีพรรคไหนบ้างที่ออกโรงชูมาตรการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น ?
ช่วงเวลาเดียวกัน พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะแม่งานหลักในการป้องปรามโกงของประเทศนี้ หล่นคำพูดในการบรรยายพิเศษที่สำนักงาน ป.ป.ช. อย่างน้อย 2 ครั้งว่า ต้องการให้นักการเมือง และพรรคการเมือง จำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันการทุจริต หากนักการเมืองคนไหนไม่มีเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริต ประชาชนอย่าไปเลือก (อ่านประกอบ : ป.ป.ช.คลอดเกณฑ์ป้องทุจริตนโยบาย-ลั่นนักการเมืองคนไหนไม่ต้านโกงอย่าเลือก, ปธ.ป.ป.ช.เตือนคนลง ส.ส.ต้องมีเจตจำนงต้านโกง-ลั่นปราบทุจริตไม่สำเร็จจะพิจารณาตัวเอง)
ขณะที่สำนักงาน ป.ป.ช. คลอดหลักเกณฑ์ป้องกันการทุจริตเชิงนโยบาย โดยผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า ต้นตอการทุจริตเชิงนโยบายที่ผ่านมา เกิดจากที่พรรคการเมืองเน้นหาเสียง โดยไม่เปิดเผยรายละเอียดให้ประชาชนรับทราบทั้งหมด แต่กลับแอบแฝงผลประโยชน์เอาไว้ ขณะที่หน่วยงานราชการในฐานะฝ่ายปฏิบัติก็ไม่มีแผนบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างเพียงพอ (อ่านประกอบ : คนชอบแต่การหาเสียงไม่สนเบื้องหลัง! ชนวนเกิดทุจริตนโยบาย-ป.ป.ช.คลอดหลักเกณฑ์ป้อง)
เพื่อให้สาธารณชนรับทราบข้อเท็จจริง สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สืบค้นข้อมูลนโยบายพรรคการเมืองชื่อดังผ่านเว็บไซต์ของพรรคอย่างเป็นทางการ รวมถึงการให้สัมภาษณ์ของแกนนำพรรคต่าง ๆ ผ่านสื่อในช่วงเวลาที่ผ่านมา สรุปได้ ดังนี้
@พรรคเพื่อไทย
พรรคเพื่อไทย เผยแพร่นโยบายในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นบนเว็บไซต์พรรคเพื่อไทย (www.ptp.or.th) โดยในส่วนของนโยบายการบริหาร ตอนหนึ่งระบุว่า พรรคเพื่อไทยเตรียมพัฒนาระบบราชการ ให้ส่วนราชการปฏิบัติหน้าที่อย่างมีหลักการสมเหตุสมผล มีความรับผิดชอบ รับฟังความคิดเห็นของประชาชน เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ สร้างความโปร่งใส เปิดเผยของระบบราชการ โดยเฉพาะความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของทางราชการ และการบริหารจัดการที่สามารถคาดคะเนผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน โดยพรรคมุ่งให้ข้าราชการมีทัศนคติที่เอื้อต่อการบริการประชาชน ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ยึดถือกฎระเบียบจนสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน มีความหวงแหนทรัพย์สินสาธารณะ มีความซื่อสัตย์ ขยัน อดทน
@พรรคประชาธิปัตย์
พรรคประชาธิปัตย์ เผยแพร่แนวทางพรรคบนเว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์ (democrat.or.th) ในส่วนแนวทางด้านการเมือง ระบุว่า ลดอำนาจรัฐเพิ่มอำนาจให้ประชาชน ทำงานอย่างเป็นระบบด้วยความโปร่งใส ปราศจากการแทรกแซง และทุจริตคอร์รัปชั่น สร้างมาตรฐานทางการเมืองที่สร้างสรรค์ และอยู่บนหลักจริยธรรม เพิ่มการตรวจสอบ ถ่วงดุล โดยภาคประชาชน เปิดข้อมูลราชการที่ละเอียดแต่เข้าใจง่าย ให้รางวัลกับผู้แจ้งเบาะแส เป็นต้น
ในส่วนของแนวทางด้านกระบวนการยุติธรรม ระบุว่า กระบวนการยุติธรรมยุคใหม่ กฎหมายต้องทันสมัย ไม่เอื้อต่อการทุจริต และบังคับใช้ได้จริงอย่างเท่าเทียม กระบวนการยุติธรรมรวดเร็ว ปราศจากการแทรกแซง ตำรวจต้องเป็นที่พึ่งของประชาชน การสอบสวนมีความเป็นอิสระ
@พรรคพลังประชารัฐ
พรรคพลังประชารัฐ เผยแพร่นโยบายของพรรคไว้บนเว็บไซต์ (www.pprp.or.th/) โดยมีนโยบายทั้งหมด 7 ข้อ โดยส่วนใหญ่เกี่ยวกับเรื่องการเมือง และความปรองดองของชาติ เช่น สร้างความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน สร้างความสามัคคีให้กับชนในชาติ ไม่ครอบงำ หรือเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่โดยอิสระของ ส.ส. สร้างความสุข สงบ ให้ประชาชนกินอิ่มนอนหลับอยู่ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นต้น
ขณะที่ผ่านมาแกนนำพรรคพลังประชารัฐส่วนใหญ่ ล้วนชูนโยบายที่อาจรับไม้ต่อจากรัฐบาล เช่น นโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นต้น
@พรรคอนาคตใหม่
พรรคอนาคตใหม่ เผยแพร่นโยบายผ่านเว็บไซต์ (futureforwardparty.org) โดยระบุชัดเจนถึงนโยบายเปิดข้อมูลรัฐ กำจัดทุจริต ที่แถลงโดยนายไกลก้อง ไวทยการ สมาชิกพรรคอนาคตใหม่ สรุปได้ว่า เทคโนโลยีคืออาวุธในการต่อต้านคอร์รัปชั่น โดยตั้งใจจะให้รัฐเปิดเผย และให้อำนาจประชาชนต่อต้านการคอร์รัปชั่น ใช้วิธี Open Data ในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเปิดข้อมูลออนไลน์ให้ประชาชนเข้าถึงได้ ยกตัวอย่างประเทศสโลวาเกีย ที่เปิดเผยข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมด ทำให้ลำดับความโปร่งใสของประเทศสโลวาเกียดีขึ้น นอกจากนี้ยังเน้นเรื่องการให้ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่รัฐยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินด้วย
@พรรคชาติไทยพัฒนา
พรรคชาติไทยพัฒนา เผยแพร่นโยบายผ่านเว็บไซต์ (http://www.chartthaipattana.or.th) ระบุถึงนโยบายด้านการเมืองการปกครองตอนหนึ่งว่า ต้องการปฏิรูป และพัฒนาองค์กรทางการเมืองให้เข้มแข็ง เพื่อตอบสนองเจตนารมณ์ทางการเมืองของประชาชน ส่งเสริมเสรีภาพของประชาชน ขณะเดียวกันการบริหารราชการแผ่นดินต้องดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพอย่างมีธรรมาภิบาล โดยน้อมนำปรัชญาด้านเศรษฐกิจพอเพียงเป็นฐาน คำนึงผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก ส่งเสริมให้มีกระบวนการทำงานที่รวดเร็ว โปร่งใส ตรวจสอบได้โดยประชาชน ตลอดจนจัดให้มีศูนย์บริหารราชการแบบครบวงจรในพื้นที่พิเศษ เพื่อให้การบริหารราชการมีประสิทธิภาพมากขึ้น
@พรรครวมพลังประชาชาติไทย
พรรคนี้ ต้นกำเนิดมาจากกลุ่มม็อบ กปปส. หรือม็อบนกหวีด ช่วงปี 2556-2557 มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ นักการเมืองชื่อดังเป็นแกนนำ ระบุเจตนารมณ์ในการปฏิรูปประเทศผ่านเว็บไซต์ (http://act-party.org/) ตอนหนึ่งว่า จะปฏิรูประบบการป้องกัน และปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่น อย่างไรก็ดีไม่ได้ระบุรายละเอียดเชิงรูปธรรมว่าจะดำเนินการอย่างไร
นี่คือข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับนโยบายด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เท่าที่มีการเผยแพร่ผ่านสาธารณะของพรรคการเมืองต่าง ๆ
ส่วนพรรคการเมืองชื่อดังที่เหลือ เช่น พรรคไทยรักษาชาติ ที่สมาชิกส่วนใหญ่โยกย้ายมาจากพรรคเพื่อไทย จะเน้นนโยบายในเชิงเศรษฐกิจเป็นหลัก ส่วนพรรคชาติพัฒนา และพรรคภูมิใจไทย ยังไม่ระบุนโยบายไว้บนเว็บไซต์ ระบุเพียงว่า ให้ติดตามในเร็ว ๆ นี้ เป็นต้น
ท้ายที่สุดพรรคไหนจะได้ใจประชาชน คงต้องรอวัดฝีมือกันในวันที่ 24 มี.ค. 2562
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/