ครม.ไฟเขียว 'ปลากัดไทย' เป็นสัตว์น้ำประจำชาติ-ยอดส่งออกเเนวโน้มสูงขึ้น
ครม.มีมติเห็นชอบ 'ปลากัดไทย' เป็นสัตว์น้ำประจำชาติ หลังผลักดันนานกว่า 1 ปี 'กฤษฎา' เผย จ.นครปฐม เเหล่งเพาะพันธุ์ใหญ่สุด ปี 2556 -2560 ยอดส่งออก 20 ล้านตัว/ปี มูลค่าไม่ต่ำกว่า 115 ล้านบาท/ปี ด้านปธ.ชมรมอนุรักษ์ฯ เชื่อต่างชาติจะสนใจมากขึ้น
วันที่ 5 ก.พ. 2562 นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมว.กษ.) เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. มีมติเห็นชอบให้ปลากัดไทยเป็นสัตว์น้ำประจำชาติ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมงเสนอ โดยการดำเนินงานที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ผลักดันเรื่องดังกล่าวมาเป็นเวลากว่า 1 ปี ซึ่งการเห็นชอบของที่ประชุม ครม. ในวันนี้นับว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2560 เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2560 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง) เป็นประธาน ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ปลากัดเป็นสัตว์น้ำประจำชาติ ต่อมาในการประชุมคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ ครั้งที่ 2/2561 เมื่อวันที่ 20ธันวาคม 2561 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เป็นประธาน มีมติให้ปลากัดไทยเป็นสัตว์น้ำประจำชาติ และการประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 22มกราคม 2562 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เป็นประธาน มีมติให้ปลากัดไทยเป็นปลาประจำชาติ จนในวันนี้ได้ผ่านการเห็นชอบจาก ครม. เป็นขั้นตอนสุดท้ายเรียบร้อยแล้ว
สำหรับสาระสำคัญของการเสนอให้ปลากัดเป็นสัตว์น้ำประจำชาติ ประกอบด้วย 3 ด้าน คือ
1. ด้านวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ เป็นที่ทราบกันดีว่า คนไทยรู้จัก คุ้นเคย และมีความผูกพันกับปลากัดมาตั้งแต่โบราณ ซึ่งมีหลักฐานยืนยัน และเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2556กระทรวงวัฒนธรรมได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้ปลากัดเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ
2. ด้านความเป็นเจ้าของ และความมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว “ปลากัดไทย” ที่เสนอให้เป็นสัตว์น้ำประจำชาติ ชื่อวิทยาศาสตร์ Betta splendens ชื่อสามัญ “Siamese Fighting Fish” หรือ “Siamese Betta” มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย เป็นสายพันธุ์ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น จนเป็นที่รู้จัก และได้รับการยอมรับกันอย่างกว้างขวางในระดับสากล ชื่อ Siamese จึงเป็นเครื่องสะท้อนอย่างชัดเจนว่า ปลากัดไทยนั้นเป็นเครื่องพิสูจน์ความเป็นเจ้าของได้ อีกทั้งไทยเป็นแหล่งอ้างอิงมาตรฐานหลักของปลากัดอีกด้วย
3. ด้านประโยชน์ใช้สอย ปลากัดไทยได้ก่อให้เกิดประโยชน์ใช้สอยในหลายประการ โดยเฉพาะด้านการส่งเสริมการเพาะเลี้ยง และการสร้างนวัตกรรมด้านการเพาะพันธุ์ ซึ่งนําไปสู่การค้าเชิงพาณิชย์และก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ข้อมูลส่งออกปลากัดไทยกว่า 95ประเทศ ปริมาณการส่งออกระหว่างปี 2556 - 2560 ประมาณ 20.85 ล้านตัว/ปี มูลค่าไม่ต่ำกว่า115.45 ล้านบาท/ปี หรือ 5.42 บาท/ตัว และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี
ปลากัด betta splendens. ปลากัดชนิดแรกของโลก ได้มาจากประเทศไทย เป็นรากเหง้าของปลากัดสวยงามทั่วโลกในปัจจุบัน
ปัจจุบันมีการเลี้ยงปลากัดไทยทั่วโลก โดยด้านพันธุศาสตร์นั้น ชื่อของปลากัดจีน ปลากัดมาเลย์ และปลากัดอินโด แม้จะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไป แต่มีที่มาจากสายพันธุ์เดียวกับปลากัดป่าของไทยทั้งสิ้น
โดยจังหวัดนครปฐมเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุด ปัจจุบันความนิยมของปลากัดไทยประเภทกัดเก่งนั้นลดลงมาก ขณะที่ได้รับความสนใจในด้านการพัฒนาสายพันธุ์เน้นที่ความสวยงาม ทําให้มีการเพาะเลี้ยงทั่วประเทศ มีการขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมประมง จํานวน 1,500 ราย เกษตรกรที่เพาะเลี้ยงปลากัดไทยมีการกระจายทั่วพื้นที่ของประเทศไทยจํานวน 500 ราย และมีผู้ที่เลี้ยงรายย่อย ผู้ชื่นชอบการเลี้ยงปลากัดไทยมากกว่า 100,000 ราย ซึ่งปลากัดไทยสามารถสร้างอาชีพที่มั่นคงให้กับชุมชนได้ รวมทั้งมีการเพาะเลี้ยงปลากัดเพื่อเอาไว้กัดแข่งขันเป็นกีฬา หรือนิยมเลี้ยงไว้ดูเล่นเพื่อความเพลิดเพลิน รวมถึงมอบเป็นของขวัญในวันพิเศษ และยังสามารถนําไปใช้เป็นสัญลักษณ์ของไทย ตลอดจนนําไปใช้ประกอบสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อสะท้อนความเป็นไทยได้
รมว.กษ. กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ปลากัดไทยมีความเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นด้านพฤติกรรมการต่อสู้ นับเป็นสัตว์น้ำเพียงชนิดเดียวของไทยที่มีลักษณะดังกล่าว เหมาะกับการเป็นสัตว์น้ำประจำชาติเนื่องจาก คล้ายกับลักษณะของคนไทยที่รักและหวงแหนชาติ ปกป้องแผ่นดินจากข้าศึก สู้รบอย่างกล้าหาญ แม้ปลากัดไทยจะมีลักษณะดุดัน แต่ในยามสงบ กลับอ่อนโยน นุ่มนวลสอดคล้องกับนิสัยคนไทย
ชาญชัย สุนันกิ่งเพชร ประธานชมรมอนุรักษ์และพัฒนาปลากัดพื้นบ้าน
ด้านนายชาญชัย สุนันกิ่งเพชร ประธานชมรมอนุรักษ์และพัฒนาปลากัดพื้นบ้าน กล่าวว่า ปลากัดอยู่คู่คนไทยตั้งแต่ชนชั้นรากหญ้า จนถึงพระมหากษัตริย์ เช่น ในยุคสุโขทัย การชนไก่ กัดปลา เป็นเกมการพนันที่ได้รับการจารึกว่า เป็นที่นิยมในหมู่ชาวไทยมาแต่โบราณ ต่อมาสมัยปลายอยุธยา-ต้นรัตนโกสินทร์ อนุญาตให้เปิดบ่อนกัดปลาเพื่อเก็บภาษีเป็นรายได้ของประเทศ
"พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ให้ตราพระราชบัญญัติห้ามเลี้ยงปลากัดเพื่อการพนัน ปี พ.ศ. 2383 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้มอบปลากัดแก่นายแพทย์เดียวดอร์ แคนเตอร์ จากสถาบันเบนเกลเมดิคอล เซอร์วิสของสหรัฐอเมริกา ที่เป็นวาดภาพ และบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับปลากัดไว้ เรื่องราวประวัติศาสตร์เหล่านี้แสดงให้เห็นว่าปลากัดอาศัยอยู่ในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน มีความสำคัญกับบ้านเมืองในแต่ละยุคสมัย"
ประธานชมรมอนุรักษ์และพัฒนาปลากัดพื้นบ้าน กล่าวถึงการอนุมัติให้ปลากัดเป็นสัตว์ประจำชาติแล้ว จะทำให้คนไทยมีกำลังใจไปพัฒนาพันธุ์ปลากัดต่อไป ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจให้เกษตรกรมียอดขายเพิ่ม รวมทั้งชาวต่างชาติเองก็จะให้ความสนใจเรื่องปลากัดไทยยิ่งขึ้นด้วย .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/