คนชอบแต่การหาเสียงไม่สนเบื้องหลัง! ชนวนเกิดทุจริตนโยบาย-ป.ป.ช.คลอดหลักเกณฑ์ป้อง
ป.ป.ช.คลอดเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงทุจริตเชิงนโยบาย เผยโอกาสโกงมีได้ตั้งแต่การพัฒนานโยบาย ประชาชนเลือกแต่พรรคที่หาเสียงน่าสนใจ แต่ไม่รู้เบื้องหลังที่อาจแอบแฝงผลประโยชน์ไว้ หน่วยงานรัฐไร้แผนบริหารจัดการความเสี่ยง แก้ได้ต้องให้ภาคเอกชน-ประชาชนมีส่วนร่วมเฝ้าระวังตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อต้นเดือน ก.พ. 2562 ที่ผ่านสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เผยแพร่ทำเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงเพื่อสกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบายในโครงการของรัฐ โดยมีคณะอนุกรรมการชุดหนึ่งขึ้นมาศึกษา มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันปัญหาการทุจริตเชิงนโยบาย และส่งเสริมให้นโญบายที่จะไปใช้บริหารประเทศมีความโปร่งใส
คณะอนุกรรมการฯ วิเคราะห์ถึงโอกาสเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย สามารถจำแนกกระบวนการทางนโยบายของประเทศไทยได้ 5 ส่วน ได้แก่ 1.การที่พรรคการเมืองพัฒนานโยบายเพื่อใช้ในการหาเสียง 2.การเสนอแนวนโยบายของพรรคการเมืองต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตามมาตรา 57 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2561 3.กิจกรรมการเลือกตั้ง 4.การแถลงนโยบายต่อรัฐสภา และ 5.แปลงนโยบายเป็นแผนบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อให้หน่วยงานของรัฐในฝ่ายบริหารนำไปปฏิบัติ
โดยโอกาสเสี่ยงต่อการทุจริตสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกขั้นตอนของกระบวนการนโยบาย โดยความเสี่ยงสำคัญที่สามารถเกิดขึ้นในขั้นตอนการพัฒนานโยบายคือ ความเสี่ยงเกี่ยวกับการไม่เปิดเผยให้ประชาชนทราบว่าการพัฒนานโยบายและแนวทางการนำนโยบายไปสู่ภาคปฏิบัติ มีการวิเคราะห์ความเสี่ยงต่อการทุจริตหรือไม่ การไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้มีส่วนได้เสียที่จะเกี่ยวข้องกับนโยบายดังกล่าวให้กับประชาชน ดังนั้นประชาชนอาจเลือกพรรคการเมืองโดยไม่ได้รับข้อมูลครบถ้วนเพียงพอต่อการตัดสินใจ แต่อาจพิจารณาเพียงว่านโยบายที่พรรคการเมืองหาเสียงน่าสนใจ ทั้งนี้นโยบายดังกล่าวอาจแอบแฝงผลประโยชน์เอาไว้
ต่อมาเมื่อได้เป็นฝ่ายบริหาร มีกระบวนการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา การแปลงนโยบายเป็นแผนบริหารราชการแผ่นดิน และนำแผนบริหารราชการแผ่นดินไปสู่การปฏิบัติโดยหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง จะต้องจัดทำแผนงาน/โครงการเพื่อรองรับ ซึ่งความเสี่ยงที่อาจเกิดการทุจริตได้คือ หน่วยงานของรัฐไม่ได้มีการประเมินความเสี่ยงและบริหารจัดการความเสี่ยงต่อการทุจริตในแต่ละแผนงาน/โครงการ จึงทำให้มีโอกาสที่จะเกิดการทุจริตขึ้นในช่วงการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ
คณะอนุกรรมการฯ ระบุว่า วิธีการสกัดกั้นปัญหาการทุจริตเชิงนโยบายที่ดีที่สุดคือ การออกแบบระบบหรือกลไกให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองในฐานะผู้พัฒนานโยบาย และนำเสนอนโยบาย ภาครัฐในฐานะที่เป็นผู้ดำเนินการตามนโยบาย ภาควิชาการในฐานะผู้เปรียบเสมือนคลังสมองที่ร่วมวิเคราะห์นโยบายของรัฐเพื่อให้ได้นโยบายมีประสิทธิภาพและสอดคล้องตามหลักวิชาการ ภาคเอกชนและประชาชนในฐานะที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินนโยบาย มีส่วนร่วมต่อกระบวนการทางนโยบายเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การเพิ่มบทบาทให้ผู้พัฒนานโยบาย พัฒนานโยบายที่จะใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งอย่างถูกต้อง ตระหนักถึงความเป็นไปได้และความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย มีการเผยแพร่ผลการพัฒนานโยบายสาธารณะได้รับทราบ
การเพิ่มบทบาทให้กับภาครัฐในฐานะเป็นผู้ดำเนินการตามนโยบาย ให้มีการวิเคราะห์ความเสี่ยงต่อการทุจริต การบริหารจัดการความเสี่ยงต่อการทุจริต และการสร้างการเฝ้าระวังการทุจริตด้วยการเผยแพร่ผลการดำเนินการตามนโยบายสาธารณะ การเพิ่มบทบาทให้ภาควิชาการ เข้ามาร่วมวิเคราะห์แนวนโยบายของพรรคการเมือง และของรัฐบาลได้อย่างสะดวก ผ่านการเข้าถึงข้อมูลนโยบายได้ง่าย
นอกจากนี้การเพิ่มบทบาทให้ภาคเอกชนและประชาชน ให้มีการเฝ้าระวังการดำเนินนโยบายของพรรคการเมืองตั้งแต่ก่อนมีการเลือกตั้ง ไปตลอดจนถึงภายหลังจากการเลือกตั้ง และมีการแปลงนโยบายทางการเมืองสู่การปฏิบัติโดยภาคราชการ ผ่านเครื่องมือที่ให้พรรคการเมือง และภาคราชการเปิดเผยข้อมูลการพัฒนานโยบายและนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/