นักการฑูตชี้ไทยอันดับต้นค้ามนุษย์แรงงานประมง
นักการฑูตเผยไทยถูกจับตาค้ามนุษย์อันดับต้น กระจกเงาโชว์ตัวเลขชายไทย-พม่าถูกกดขี่แรงงาน-โก่งค่าแรงประมง “เผดิมชัย” ร้องเอ็นจีโอกรองข้อมูลก่อนให้ข่าวต่างประเทศ
วันที่ 25 มิ.ย. 55 มูลนิธิกระจกเงา จัดเสวนา “มุมมองการค้ามนุษย์ในภาคแรงงานประมงต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคต” ณ สภาคริสตจักรในประเทศไทย โดยนายสมบัติ บุญงามอนงค์ ประธานมูลนิธิกระจกเงา เปิดเผยข้อมูลสถานการณ์การค้ามนุษย์ในภาคแรงงานประมงปี54-55ว่า ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา รับแจ้งเหตุแรงงานประมงถูกล่อลวงและบังคับให้ทำงานโดยไม่สมัครใจกว่า 40 กรณี โดยมีลักษณะการล่อลวงผ่านนายหน้าค่าหัวว่ามีงานสบายรายได้ดีให้ทำ ซึ่งทำให้แรงงานเข้าใจว่าไม่ใช่อาชีพประมงหรือเป็นประมงชายฝั่งที่จับปลาระยะสั้น นายหน้าจะนำแรงงานขายต่อให้ผู้คุมเรือในราคา 7,000-30,000 บาท นอกจากนี้ยังบังคับใช้แรงงานขัดหนี้ โดยหลอกล่อให้เข้าร้านคาราโอเกะฟรี ซึ่งความจริงแล้วร้านเหล่านี้กลับคิดราคาแพง เมื่อแรงงานหลวมตัวจึงไม่มีเงินจ่ายเลยต้องทำงานชดใช้หนี้บนเรือประมง โดยมีหนี้คนละ 12,000-30,000 บาท แต่เมื่อไม่สามารถชดใช้ได้บางคนจึงโดนฆาตกรรมทิ้งทะเล
นายสมบัติจึงเสนอให้ผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมประมงสร้างแรงจูงใจให้ค่าจ้างที่สูงกว่ากรรมกรทั่วไป และจ้างงานด้วยความเป็นธรรม ซึ่งจะทำให้มีแรงงานไทยเข้าสู่อุตสาหกรรมดังกล่าวมากขึ้น และลดจำนวนแรงงานต่างด้าวในประเทศได้ ที่สำคัญต้องสร้างระบบการขึ้นทะเบียนเรือประมงและลูกเรือให้ตรวจสอบได้ผ่านสัญญาณจีพีเอสเพื่อระบุพิกัดของเรือประมงแต่ละลำเช่นเดียวกับญี่ปุ่น ทั้งสามารถป้องกันเหตุจากพายุและโจรสลัดได้ด้วย
ด้านนายภูเบศ จันทนิมิ ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีแรงงานประมงประมาณ 1 แสนคน ซึ่งมีเพียง 1-2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มีปัญหา ดังนั้นจะเหมารวมไม่ได้ว่าไทยเป็นเมืองที่ขาดมาตรการป้องกันการค้ามนุษย์ภาคแรงงานประมง เพราะอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกวัตถุดิบทางทะเลยังต่างประเทศได้และจะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยถดถอยลง ซึ่งทุกวันนี้สมาคมฯ พยายามร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนในการขับเคลื่อนลดการค้ามนุษย์แรงงานประมง แต่ยอมรับว่าค่อนข้างยาก เพราะไทยมีกฎหมายเกี่ยวกับประมงมากมาย เช่น กฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยเขตน่านน้ำ การทำประมงชายฝั่งที่มีบทบาทหน้าที่ไม่สอดคล้องกัน ทำให้ยากต่อการแก้ไขปัญหา
“อุตสาหกรรมประมงไทยไม่ด้อยกว่าใครในอาเซียน ทั้งการป้องกันความสะอาด อันตราย และค่าตอบแทนที่เป็นธรรม แต่อย่าเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่นหรือสหรัฐอเมริกา เพราะล้วนแต่มีเครื่องมือจับสัตว์น้ำที่ทุ่นแรงและมีเรือประมงใหญ่กว่าไทยถึง 10 เท่า ซึ่งใช้แรงงานเพียง 5 คน ส่วนไทยใช้ถึง 30 คน” ประธานสมาคมการประมงฯ กล่าว
ดร.วราภรณ์ พรหมพจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการประมงต่างประเทศ ในฐานะผู้แทนอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ รูปแบบของแรงงานประมง กล่าวว่า ตั้งแต่พายุเกย์ถล่มพื้นที่ภาคใต้ของไทยเมื่อปี 32 ประกอบกับคนส่วนใหญ่หันไปเป็นแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม ส่งผลให้จำนวนแรงงานประมงไทยลดน้อยลงตามลำดับ ผู้ประกอบการจึงต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวคิดเป็นสัดส่วน 90 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานประมงทั้งหมด รัฐบาลภายใต้การดูแลของกระทรวงแรงงานจึงร่วมมือทุกภาคส่วนคิดโมเดลโครงการจัดตั้งศูนย์ประสานแรงงานประมงขึ้น เพื่อทำหน้าที่ดูแลและควบคุมให้ลูกจ้างและนายจ้างประมงเข้าสู่ระบบ พิสูจน์สัญชาติ ก่อนปรากฏข้อมูลในคลังออนไลน์และไม่เอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน พร้อมเป็นหน่วยงานจัดหาแรงงานแก่ผู้ประกอบการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จะได้ลดการแทรกแซงของนายหน้าและป้องกันสิทธิของแรงงานต่างด้าวด้วย โดยศูนย์ประสานงานดังกล่าวแบ่งเป็น 7 ศูนย์ดูแลพื้นที่ 25 จังหวัดชายฝั่งทะเล ได้แก่ ตราด ระยอง ชุมพร ระนอง สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และสตูล
ขณะที่นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีที่สหรัฐอเมริกาประกาศอันดับประเทศที่มีความพยายามในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ โดยให้ไทยเป็นประเทศที่ต้องจับตามอง ระดับ 2.5 (Tier 2 Watch list) เป็นปีที่ 3 ติดต่อกันว่า สาเหตุที่ไทยถูกต่างชาติมองว่ามีปัญหาค้ามนุษย์ เพราะองค์กรอิสระที่ดูแลแรงงานต่างด้าวสำรวจพบมีเด็กต่างด้าวแกะกุ้งในโรงงาน โดยเฉพาะต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร และนำรายงานต่อองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ว่าประเทศไทยใช้แรงงานเด็กและค้ามนุษย์ โดยไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน
“กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงานได้ชี้แจงต่อสหรัฐฯ ว่า ไทยมีแผนและเร่งแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ตลอด ส่วนเด็กต่างด้าวที่แกะกุ้งอยู่ในโรงงานนั้น เพียงติดตามพ่อแม่เข้ามาในโรงงานและช่วยทำงาน ไม่ใช่การค้ามนุษย์ จึงไม่ตกไปอยู่ระดับ 3” รมว.แรงงานกล่าว
ทั้งนี้จากข้อมูลการศึกษาปัญหาการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานไทยเพศชายในภาคประมงนอกน่านน้ำ โดยมูลนิธิกระจกเงา ระบุรอบปี 54 พบแรงงานชายไทยถูกล่อลวง 83 ราย อายุระหว่าง 14-55 ปี ขณะที่แรงงานชายพม่า 51 ราย อายุระหว่าง 20-47 ปี สถานที่พบนายหน้าส่วนใหญ่ ได้แก่ สถานีรถไฟหัวลำโพง สถานีขนส่งหมอชิต สนามหลวง มหาชัย.