ทส. สรุปแนวทางแก้ฝุ่น PM2.5 ระยะเร่งด่วน สั่งผู้ว่าฯ ทั่ว ปท.ตรวจจับรถ -ห้ามเผาที่โล่ง
ทส. สรุปแนวทางแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ระยะเร่งด่วน สั่งผู้ว่าฯ กทม.-ผู้ว่าราชการจังหวัด ทั่วประเทศ ตรวจจับรถโดยสาร-รถบรรทุก บังคับใช้กม.เข้มงวด ขยายพื้นผิวจราจร งดเผาในที่โล่งเด็ดขาด พร้อมตรวจสอบ รง.
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่าวันที่ 4 ก.พ. 2562 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติเเละสิ่งเเวดล้อม (ทส.) จัดประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2562 (นัดพิเศษ) เพื่อพิจารณาแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เป็นประธาน มี พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย ผู้บริหารกระทรวงฯ ข้าราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 401 ชั้น 4 อาคารสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
มีข้อสรุปแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะเร่งด่วน ระยะปานกลาง และระยะยาว ดังนี้
มาตรการระยะเร่งด่วน ได้แก่
1) ขั้นเตรียมการ (ช่วงก่อนเกิดสถานการณ์: กันยายน - พฤศจิกายน) เป็นขั้นทำความเข้าใจ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำรวจแหล่งกำเนิดมลพิษ จัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ เพื่อเตรียมพร้อมการสั่งการก่อนเข้าสู่ สถานการณ์
2) ขั้นปฏิบัติการ (ธันวาคม – เมษายน) เป็นการปฏิบัติการช่วงเกิดสถานการณ์ PM2.5 เกินมาตรฐาน โดยกำหนดแผนปฏิบัติการตามปริมาณ PM2.5 ดังนี้
ระดับที่ 1 เป็นระดับที่ PM2.5 มีค่าไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม. ให้ส่วนราชการทุกหน่วยต้องดำเนินการตามภารกิจ อำนาจหน้าที่ และกฎหมายที่มีอยู่ให้ครบถ้วนตามสภาวะการณ์ปกติ
ระดับที่ 2 เป็นระดับที่ PM2.5 มีค่าสูงกว่า 50 มคก./ลบ.ม. ให้ทุกส่วนราชการดำเนินการเพิ่ม และยกระดับมาตรการต่างๆ ให้เข้มงวดขึ้น โดยผู้ว่ากทม. และผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เป็นผู้บัญชาการ เหตุการณ์ในพื้นที่รับผิดชอบ โดยส่วนราชการอื่นๆ เป็นหน่วยสนับสนุน การดำเนินการ อาทิ ตรวจสอบตรวจจับรถ โดยสาร/รถบรรทุก และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ขยายพื้นผิวจราจร งดเว้นกิจกรรมที่ส่งผลทำให้เกิดฝุ่นละออง ห้าม เผาในที่โล่งเด็ดขาด ตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวดในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล การเฝ้าระวังและปฏิบัติการทำฝนเทียม และมีมาตรการจูงใจให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการให้เป็นไปตาม ข้อบังคับของกฎหมาย การใช้รถสาธารณะ การควบคุมฝุ่นละอองจากการก่อสร้างขนาดใหญ่และอาคารสูง การเร่งคืนสภาพ พื้นผิวการจราจรจากการก่อสร้าง
3) ขั้นฟื้นฟูหลังจากสถานการณ์กลับสู่ปกติ กำหนดให้มีการประชุมเพื่อถอดบทเรียนหรือ After Action Review/AAR เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในปีต่อไป
ทั้งนี้ สำหรับมาตรการระยะกลางและระยะยาว ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยคณะกรรมการควบคุมมลพิษ รับความเห็นของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติไปปรับปรุงและพิจารณาในรายละเอียด
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/