นักวิชาการ ชงศาลดึงสิทธิชุมชน ประกอบคดีที่ดิน ชี้ กม.ภาษีที่ดินกลายเป็นการเมือง
นักกฎหมาย-สังคมศาสตร์ เรียกร้องศาลดึงสิทธิชุมชนประกอบคดีที่ดิน ชี้ภาษีที่ดิน-ธนาคารที่ดิน-โฉนดชุมชนถูกแช่แข็งเพราะกลายเป็นการเมือง ชาวบ้านโป่งโวยเป็นพื้นที่โฉนดชุมชนแต่โดนคดีเพียบ
เร็วๆนี้ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่(มช.) จัดเสวนา “ป่ากับคน : ในมุมมองของศาล บทเรียนจากคำพิพากษาคดีแม่อมกิ” ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มช. กล่าวว่าบริบททางสังคมควรเป็นเครื่องมือที่ศาลใช้ประกอบการพิจารณาควบคู่กับตัวบทกฎหมายในคดีที่เกี่ยวข้องกับที่ดินชาวบ้าน เพราะเป็นเรื่องที่มีความอ่อนไหวทางสังคมทั้งในแง่วิถีชีวิตวัฒนธรรม สิทธิมนุษยชน และชาติพันธุ์ ทั้งนี้จะต้องช่วยกันผลักดันให้ประเด็นสิทธิชุมชนถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาในศาล เป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ของกระบวนการยุติธรรมไทย
ด้านนายทศพล ทรรศนกุลพันธ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มช. กล่าวถึงเหตุที่ประเด็นสิทธิชุมชนไม่ได้รับการพิจารณาในศาล เพราะไม่มีแนวทางที่ชัดเจนบัญญัติไว้ คำพิพากษาของศาลจึงยึดตามแนวทางซึ่งเป็นกรอบเดิมคือตัวบทกฎหมายที่ระบุว่าชาวบ้านเป็นผู้กระทำผิดเป็นผู้บุกรุกที่ดิน จึงแทบไม่มีคดีไหนที่คำพิพากษาศาลฎีกาจะยอมรับสิทธิชุมชน ชาวบ้านจึงไม่มีทั้งสิทธิในการใช้และครอบครองที่ดิน ส่วนนโยบายรัฐทั้งกฎหมายเก็บภาษีที่ดินแบบก้าวหน้า ธนาคารที่ดิน โฉนดชุมชน กลายเป็นเรื่องการเมืองซึ่งเปลี่ยนตามการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล และไม่เดินหน้า ชาวบ้านจึงต้องเคลื่อนไหวผลักดันต่อไป
ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา ตัดสินคดีที่ดินโดยให้นักสังคมศาสตร์นักมานุษยวิทยาเข้าร่วมกระบวนการยุติธรรมด้วย เพื่อใช้บริบททางสังคมประกอบ ที่แคนาดาจะยกเว้นกลุ่มชาติพันธุ์ที่สามารถพิสูจน์ตนเองได้ว่าอยู่ในพื้นมาแต่ดั้งเดิม แสดงให้เห็นความยืดหยุ่นด้านกฎหมาย หากคดีเกี่ยวกับที่ดินในประเทศไทยมีความยืดหยุ่นเช่นนี้บ้าง อาจบรรเทาปัญหาที่ดินทำกินชาวบ้านทั่วประเทศได้มากขึ้น
ส่วนในประเทศไทยมีชาวบ้านกว่า 2 ล้านคนไม่มีที่ดินทำกิน และยังมีผู้ถูกดำเนินคดีที่ดินเพิ่มขึ้นทุกปี ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติตั้งแต่ปี 2551-2553 พบว่าชาวบ้านถูกฟ้องคดีขับไล่ที่ดินเพิ่มร้อยละ 5 คดีบุกรุกที่ดินเพิ่มร้อยละ 2 นอกจากนี้ตั้งแต่ ม.ค.-เม.ย.55 ชาวบ้านถูกฟ้องไปแล้วกว่า 6,000 คดี ทั้งนี้เมื่อเร็วๆนี้ศาลได้ตัดสินลงโทษแกนนำขับเคลื่อนโฉนดชุมชนพื้นที่ต้นแบบป่าซาง จ.ลำพูน ในคดีบุกรุกที่ดิน รวมทั้งคดีชาวบ้านแม่อมกิ จ.ตาก
นายดิเรก กองมูล ประธานกลุ่มปฏิรูปที่ดินชุมชนบ้านโป่ง อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ กล่าวว่ากว่า 10 เดือนของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เคยให้สัญญาประชาชนว่าจะแก้ปัญหาที่ดินเป็นนโยบายเร่งด่วน แต่กลับเพิกเฉย ซึ่งใน จ.เชียงใหม่ มีเพียงพื้นที่เดียวที่ประกาศเป็นโฉนดชุมชนตั้งแต่รัฐบาลชุดก่อน คือ ต.บ้านโป่ง แต่ชาวบ้านโป่งเองก็ยังคงต้องต่อสู้กับคดีที่ดินในศาลกว่า 75 ครอบครัว จากการฟ้องร้องขับไล่ของโครงการจัดสรรบ้านและที่ดินบริษัทบริพัต และโครงการบ้านและสวนอ้อมดอย