ป.ป.ช.ยกคดีสินบนโรงไฟฟ้า-ปาล์มอินโดฯถกองค์กรปราบโกงอาเซียน-การันตีเสร็จปี62
ป.ป.ช. เตรียมนั่งหัวโต๊ะเป็น ปธ.ประชุมหน่วยงานต้านทุจริตอาเซียนครั้งที่ 15 หยิบยกคดีสินบนโรงไฟฟ้าขนอม-คดีปลูกปาล์มอินโดฯมาแลกเปลี่ยน การันตีทำเสร็จปี 62
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2562 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ถึงกรณีในช่วงเดือน ต.ค. 2562 ป.ป.ช. จะเป็นประธานการประชุมประจำปีของหน่วยงานต่อต้านการทุจริตในภูมิภาคอาเซียน หรือ SEA-PAC Principals Meeting ครั้งที่ 15 โดยมีผู้นำของหน่วยงานต่อต้านการทุจริตจากอาเซียนกว่า 10 ประเทศเข้าร่วมประชุม
นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ระบุว่า ที่ผ่านมาไทยมีบทบาทสำคัญในกรอบการประชุมดังกล่าว โดยเฉพาะการผลักดันการยกระดับของ SEA-PAC ให้กลายเป็นองค์กรที่มีความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศอาเซียน จะทำให้การต่อต้านการทุจริตเป็นประเด็นที่ผู้นำอาเซียนต้องหันมาให้ความสำคัญ และร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง เพื่อทำให้ภูมิภาคนี้ปราศจากการทุจริต
นายวรวิทย์ ยังระบุช่วงท้ายด้วยว่า การประชุมครั้งนี้จะช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลประสบการณ์การทำคดีระหว่างประเทศ และเกิดความร่วมมือในภูมิภาคมากยิ่งขึ้น ซึ่งคดีระหว่างประเทศในเขตภูมิภาคที่คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2562 ได้แก่ คดีสินบนโรงไฟฟ้าขนอม และคดีจัดหาที่ดินปลูกปาล์มน้ำมันในอินโดนีเซีย
@คดีสินบนโรงไฟฟ้าขนอมใกล้เสร็จ-แจ้งข้อกล่าวหา บ.ลูก MHPS ไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับที่มาของคดีสินบนโรงไฟฟ้าขนอม เกิดจากกรณี สำนักงานสืบสวนพิเศษของอัยการกรุงโตเกียว ได้สืบสวนบริษัทมิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ จำกัด หรือ MHPS ในข้อหาละเมิดกฎหมายป้องกันการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ในการจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่ทางการของประเทศไทย เกี่ยวกับงานโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าโรงไฟฟ้าขนอม หน่วยที่ 4 โดยมีรายงานข่าวว่า เจ้าหน้าที่ของบริษัทมิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ ได้ให้สินบนกับเจ้าหน้าที่ทางการของไทย ผ่านนายหน้ารายหนึ่ง เป็นมูลค่ากว่า 60 ล้านเยน หรือราว 20 ล้านบาท
ขณะที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับการยืนยันข้อมูลว่า ปัจจุบันกรมเจ้าท่า ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริงเรื่องนี้แล้ว และคำสั่งย้าย นาวาโท สาธิต ชินวรณ์ อดีตผอ.สนง.เจ้าท่าภูมิภาคนครศรีธรรมราช ซึ่งปัจจุบันย้ายไปเป็นผอ.สนง.เจ้าท่าภูมิภาคตรัง เข้ามาช่วยราชการที่ส่วนกลางชั่วคราว เพื่อรอผลการสอบสวนข้อเท็จจริง
ความคืบหน้ากรณีนี้เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2562 ที่ผ่านมา แหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักงาน ป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า คดีดังกล่าวใกล้แล้วเสร็จแล้ว และมีการแจ้งผู้ถูกกล่าวหาเพิ่มเติม เป็นบุคลากรของบริษัทลูกของ MHPS ประจำประเทศไทย (อ่านประกอบ : ป.ป.ช.แจ้งข้อหาตัวแทน บ.ลูก MHPS ไทย สนับสนุนปมจ่ายสินบนสร้างโรงไฟฟ้า 20 ล.)
@คดีปลูกปาล์มอินโดฯค่านายหน้าที่ยังไม่เคลียร์-เส้นทางเงินซับซ้อนพัวพันคนไทย
ส่วนคดีปลูกปาล์มน้ำมันอินโดนีเซีย เกิดจากกรณีเกิดขึ้นจากที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ตั้งบริษัท พีทีที.กรีนเอเนอร์ยี่ฯ หรือ PTT.GE ลงทุนโครงการปลูกปาล์มน้ำมันที่ประเทศอินโดนีเซีย ต่อมามีการตรวจสอบพบว่า ทำไม่โปร่งใส และมีการจ่ายค่านายหน้าที่ดินแพงเกินจริง ขณะที่ผลสอบของผู้สอบบัญชีระดับโลก ระบุว่า มีผู้บริหารระดับสูงของ ปตท. รู้เห็น และมีการโอนเงินเข้าบัญชีคนไทยจำนวนหลายล้านเหรียญสหรัฐฯ
บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ จำกัด (บริษัทลูกของ Deloitte Touche Tohmatsu ผู้สอบบัญชีระดับโลก) ตรวจสอบพบความไม่ชอบมาพากลในการดำเนินโครงการนี้หลายประการ และนำเรื่องเรียนต่อผู้บริหารระดับสูงใน ปตท. ช่วงเดือน มิ.ย. 2560 ที่ผ่าน
โดยเฉพาะประเด็น ‘ค่านายหน้า’ การซื้อขายที่ดินในโครงการ PT.Az Zhara (มี Mr.Agustiar เป็นเจ้าของ) และ PT.KPI (มี Mr.Burhan เป็นเจ้าของ) ที่ทำสัญญากับ KSL เอกชนที่ปรึกษาจดทะเบียนในประเทศโดมินิกัน และมี 2 คนไทยเกี่ยวข้องในการลงนาม โดยได้รับเงินอย่างน้อย 32 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และพบเส้นทางการเงินที่ไหลไปยังคนไทยรายอื่น และเอกชนต่างประเทศ ผ่านธนาคารในฮ่องกง รวมถึงรายละเอียดเช็คบางส่วนที่แฟกซ์ถึงร้านค้าใจกลางเมือง กทม. อีกจำนวนหลายล้านเหรียญสหรัฐฯด้วย (อ่านประกอบ : เปิดลำดับเหตุการณ์สำคัญคดีปลูกปาล์มอินโดฯก่อนกรณีค่านายหน้า32ล.ดอลลาร์)