น่านแซนด์บ๊อกซ์คืบ "บัณฑูร" โชว์สัดส่วน 72-18-10 ข้อตกลงจัดสรรที่ดินป่าสงวน
" บัณฑูร" แถลงความคืบหน้า โครงการน่านแซนด์บ๊อกซ์ ระบุวันนี้ได้ข้อตกลงร่วมกันเบื้องต้นแล้วทั้งจังหวัด พร้อมเผยสัดส่วนการจัดสรรที่ดินป่าสงวน ให้สิทธิที่ทำกินมีความชอบด้วยกฎหมาย เล็งหาเงินทุนเข้ามูลนิธิรักษ์ป่าน่าน ช่วยเกษตรกรช่วงเปลี่ยนผ่าน
เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่จังหวัดน่าน นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานกรรมการภาคเอกชน ในคณะกรรมการดำเนินงานพื้นที่จังหวัดน่าน การบริหารพื้นที่รูปแบบพิเศษเพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน:พื้นที่จังหวัดน่าน กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการน่านแซนด์บ๊อกซ์ (Nan Sand Box) ที่ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2562 รายงานให้นายกรัฐมนตรีรับทราบแล้ว
นายบัณฑูร กล่าวถึงการทำงาน 1 ปีที่ผ่านมาว่า ได้มีการเจรจาทำความเข้าใจกับผู้นำชุมชน 99 ตำบล จนได้ "คู่มือผู้นำชุมชน" ซึ่งคือข้อมูลของชุมชน เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้ภาคประชาชนร่วมทำงานแก้ไขปัญหาป่าน่านกับภาครัฐ และภาคเอกชน
ขณะที่การจัดสรรที่ดินป่าสงวนจังหวัดน่าน เพื่อแก้ปัญหาประเด็นสิทธิที่ดินทำกินของเกษตรกรให้มีความชอบด้วยกฎหมายนั้น ประธานคณะกรรมการภาคเอกชน กล่าวว่า จังหวัดน่านจะบริหารจัดการพื้นที่ เขตป่าสงวนตามสัดส่วนดังนี้
- 72% พื้นที่ป่าสงวนในปัจจุบัน ทุกคนช่วยรักษาป่าต้นน้ำนี้ให้คงอยู่ตลอดไป
- 18% พื้นที่ทำกินในเขตป่าที่เกษตรกรน่านยินดีฟื้นฟูกลับมาเป็นป่ามีต้นไม้ใหญ่ โดยรัฐจะอนุญาตให้เกษตรกรปลูกพืชเศรษฐกิจใต้ต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่ส่วนนี้ได้
- 10% พื้นที่ที่จัดสรรให้ปลูกพืชเศรษฐกิจได้เต็มที่ (ยังคงเป็นป่าสงวนโดยกฎหมาย)
"ตัวเลข 72% 18% 10% อยู่ในวิสัยที่ทำได้ 28% การจัดสรรที่ดินป่าสงวนจังหวัดน่าน ประชาชนจะมีสิทธิที่ดินทำกินถูกกฎหมาย"นายบัณฑูร กล่าว และว่า สิ่งนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ที่รัฐกับประชาชนคุยกันได้จนสามารถบรรลุข้อตกลงในหลักการเบื้องต้น คือ การจัดสรรพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาป่าต้นน้ำทั้งจังหวัด
นายบัณฑูร กล่าวอีกว่า ช่วง 2 ปี ภาครัฐมีการปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวกับป่าสงวน ทำให้วันนี้เรามีกลไกทางนิติศาสตร์ อยู่ในวิสัยที่สามารถอะลุ่มอล่วยให้ข้อตกลงนี้เป็นจริงได้
"ไม่เคยมีจังหวัดไหนในประเทศไทยรวมกันได้แบบนี้ ถือเป็นปรากฎการณ์ใหม่ ลำดับแรกที่เราจะแก้ปัญหาป่าจังหวัดน่าน ก็คือการทำพื้นที่ให้ถูกต้อง สิ่งดีๆที่น่านกำลังจะเกิดขึ้น แต่ไม่ได้แปลว่าจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ เราต้องทำงานต่อไปตามกรอบนี้ "
สำหรับช่วงเปลี่ยนผ่านเกษตรกรที่ทำกินในเขตป่าสงวนจะได้รับเงินสนับสนุนให้เกิดการสร้างโอกาส ซึ่งแผนการดำเนินงานปี 2562 นั้น นายบัณฑูร กล่าวว่า จะมีการดำเนินการหาเงินทุนสนับสนุน ผ่าน 'มูลนิธิรักษ์ป่าน่าน' โดยงบประมาณทั้งหมดจะนำมาใช้เพื่อให้เกษตรกรหยุดตัดป่า ชะลอการปลูกข้าวโพด เตรียมพืชทางเลือก ที่สำคัญ คือการนำพาชุมชนทั้งจังหวัดสู่การทำมาหากินในระดับที่สูงขึ้น พืชเดิมๆใช้ไม่ได้ รวมทั้งเรากำลังคิดจะเสนอเรื่องน่านอย่างไรให้มีพลัง และได้รับการสนับสนุนจากทั้งในและต่างประเทศ
"โจทย์นี้ยังอีกไกล แต่เราก็มาไกลพอสมควร"
ด้านดร.วิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานกรรมการภาครัฐ กล่าวถึงการสร้างฐานข้อมูลจังหวัดน่านตัวเลขการใช้ประโยชน์ที่ดินทำกินในเขตป่าทั้งจังหวัดน่าน ต้องใช้เวลา 20 ปีถึงเสร็จ แต่เนื่องจากชุมชนมีฐานข้อมูลเดิมอยู่แล้ว จึงคาดว่า กรมป่าไม้จะปรับข้อมูลให้เป็นชุดเดียวกันให้เสร็จภายในปี 2563 และน่านจะเป็นตัวอย่างให้พื้นที่อื่นๆต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
““บัณฑูร ล่ำซำ” กับภารกิจใช้โจทย์ป่าน่าน ทดลอง “ปฏิรูป” บริหารราชการฯ เชิงพื้นที่
นายกฯ ตั้งคณะกก. 2 คณะ บริหารฟื้นฟูพื้นที่จ.น่าน-เจ้าสัวบัณฑูร ร่วมด้วย