ป.ป.ช.คลอดเกณฑ์ป้องทุจริตนโยบาย-ลั่นนักการเมืองคนไหนไม่ต้านโกงอย่าเลือก
ปธ.ป.ป.ช. ลั่นถ้านักการเมืองคนไหนไม่มีเจตจำนงต้านโกง ประชาชนไม่ต้องเลือก เผยจัดทำหลักเกณฑ์ป้องทุจริตเชิงนโยบายแล้วชง กกต.-รบ. แล้ว หากเกินเกณฑ์โดนสอบทันที เผยคะแนนดัชนีคอร์รัปชั่นจาก ม.หอการค้าไทย ได้ 54 คะแนน เชื่อปัญหาทุจริตมีแนวโน้มลดลง ไม่ใช่ดูแค่ของ CPI อย่างเดียว
เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2562 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานเปิดอบรมหลักสูตรนักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง โดยบรรยายเรื่องนนโยบายการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตอนหนึ่งว่า กรณีองค์การเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (TI) ประกาศคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ปี 2018 ที่ระบุว่า ไทยได้ 36 คะแนน อยู่อันดับ 99 ของโลกนั้น ปัจจุบันค่า CPI ของไทยอยู่ระดับกลางของอาเซียน โดยเมื่อปลายปี 2561 ที่ผ่านมา ป.ป.ช. จัดตั้งสำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต จะทำหน้าที่มอนิเตอร์ค่าคแนนจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ โดยต้องดูว่าคะแนนในแหล่งข้อมูลที่ลดลงเกิดจากอะไร และจะทำอย่างไรให้ดีขึ้น ส่วนแหล่งข้อมูลอื่นต้องดูว่าจะเพิ่มคะแนนอย่างไร นอกจากนี้ยังประสานงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) รวมถึงรัฐบาล เพราะการทำให้ค่า CPI ดีขึ้นต้องอาศัยการดำเนินการของรัฐบาลด้วย
พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวอีกว่า นอกจากค่า CPI ที่ถือว่าเป็นการประเมินระดับนานาชาติแล้ว ประเทศไทยยังมีค่าดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทย (CSI) ที่เป็นผลสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า ปี 2555-2556 ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจกับภาครัฐต้องจ่ายเงินเพิ่มให้แก่เจ้าหน้าที่และนักการเมืองทุจริต เฉลี่ย 25-35% ปี 2557 เฉลี่ย 5-15% ปี 2558-2559 เฉลี่ย 1-15% และปี 2560 เฉลี่ย 5-15% ดังนั้นหากลดการจ่ายเงินใต้โต๊ะได้ % จะประหยัดงบประมาณได้ถึงหมื่นล้านบาท นอกจากนี้การสำรวจค่า CSI ปี 2561 มีการจัดทำระดับคะแนน พบว่าปัญหาการคอร์รัปชั่นในไทยมีแนวโน้มลดลงหรือสถานการณ์ดีขึ้น ได้ 54 คะแนน และมีแนวโน้มจะได้ถึง 57 คะแนนในอนาคต โดยการทำงานของ ป.ป.ช. ต้องตระหนักทั้งค่าคะแนน CPI และ CSI ด้วย
ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ปัจจุบัน ป.ป.ช. มียุทธศาสตร์ที่จะยกระดับเจตจำนงทางการเมืองในด้านการต่อต้านการทุจริต คือ 1.พัฒนากลไกกำหนดให้นักการเมืองแสดงเจตจำนงทางการเมืองในการต่อต้านการทุจริตต่อสาธารณชน 2.เร่งรัดการกำกับติดตามมาตรฐานทางจริยธรรมของนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับ 3.สนับสนุนให้ทุกภาคส่วนกำหนดกลยุทธ์และมาตรการต่อต้านการทุจริต 4.พัฒนาระบบการบริหารงบประมาณด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เพื่อให้ได้รับการจัดสรรงบประมาณที่เหมาะสมกับการแก้ปัญหา 5.ส่งเสริมการจัดตั้งกองทุนต่อต้านการทุจริตสำหรับภาคเอกชน โดยรัฐสนับสนุนทุนตั้งต้น และ 6.ประยุกต์นวัตกรรมในการกำกับดูแล และควบคุมการดำเนินงานตามเจตจำนงทางการเมืองของพรรคการเมืองที่แสดงไว้ต่อสาธารณะ ดังนั้นในการเลือกตั้งที่จะถึง หากนักการเมืองคนใดไม่มีการแสดงเจตจำนงทางการเมืองในการต่อต้านทุจริตอย่างจริงจัง ก็ไม่ควรเลือกนักการเมืองคนนั้น
"ส่วนเรื่องการสกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบายนั้น ตามกฎหมายให้อำนาจ ป.ป.ช. ในการวางมาตรการเสริมในการสกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบายบนฐานธรรมาภิบาลในทุกขั้นตอน ทั้งในชั้นก่อตัวนโยบาย ชั้นการกำหนดนโยบาย ชั้นตัดสินใจนโยบาย ชั้นการนำนโยบายไปปฏิบัติ และในชั้นการประเมินนโยบาย ขณะนี้เราได้จัดทำหลักเกณฑ์ใช้วัดเรื่องการทุจริตเชิงนโยบาย ทั้งในขั้นตอนเริ่มต้นและขั้นตอนดำเนินนโยบาย หากเกินเกณฑ์ที่กำหนดก็จะถูกตรวจสอบ โดยตอนนี้มีการเสนอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แล้ว เพราะกำลังจะมีการจัดการเลือกตั้ง และเตรียมที่จะเสนอให้รัฐบาลพิจารณา" ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/