คนรวยกลัวมาก คนยาก(จน)กลัวน้อย
"...ภัยพิบัติที่เหมือนกันในมุมหนึ่ง แต่อาจต่างไป ถ้าภัยนั้นจับต้องไม่ได้ให้เห็นตายต่อหน้าในทันทีเกิดปรากฎการณ์ “คนรวยกลัวมากคนยาก(จน)กลัวน้อย” หรือไม่กลัวเลย..."
ในผัสสะของคนเมือง อย่างคน กทม น้ำท่วม 54 กับ ฝุ่นจิ๋ว 62 มีความเหมือนและความต่าง คือ ต่างก็จัดเป็นภัยพิบัติ รุนแรง ที่รุนแรงเพราะตนเองรู้สึกเดือดร้อน ทั้งใจกายและสิ่งแวดล้อม เริ่มต่อว่าคนบริหารบ้านเมืองระดับต่างๆ หาจำเลย หาเจ้าภาพ ที่จะตอบโจทย์ และ กระตือรือร้น ค้นหาทางรอดปัจเจก
น้ำท่วม คนเมืองต้องหนี ทุนมากหนีที่ปลอดภัย ที่สบายกว่า ทุนน้อยทนหน่อยแออัด หนาแน่น เลือกไม่ได้ ไม่น้อย ผจญในภัยไม่ทิ้งบ้าน ความทุกข์ได้รับการเปิดแสดงต่อสาธารณะ สื่อต่างๆนำมาให้เห็นภาพ ดูชัดเจนกว่า เห็นผลต่อบ้านช่อง การเข้าถึงอาหารน้ำ การต้องเคลื่อนย้าย ไม่น้อย ว่างงาน ขาดรายได้ ใช้ทุนเดิม หรือ กู้หลังภัย
ภาพภัยฝุ่นจิ๋วไม่ชัดเจน ในสายตาผู้คนยากจน ว่าเป็นภัยพิบัติถึงตน สัมผัสไม่ถึง เว้น คนที่ป่วยภูมิแพ้ มีโรคทางเดินหายใจ รู้สึกไม่สบาย ส่วนน้อยที่มีความสนใจ รู้รับข้อมูล ตื่นตัวหน่อย จึงเกิดมโนทัศน์ด้านความเสี่ยง เป็นภัยพิบัติรุนแรงที่ซ่อนเร้น มองไม่เห็น ตายผ่อนส่ง
ความเสี่ยงแบบนี้มีมาก แต่คนรู้น้อย พูดมากก็บอกวิทยาศาสตร์วิตกจริต หมอขี้กลัว พิสูจน์อย่างไร ไม่เห็นมีคนตายให้เห็นต่อหน้า ระยะแรกของโรคเอดส์ ระยะแรกของหวัดนก และอื่นๆ แม้คนมีมากจะกระทบ แต่คนส่วนน้อย คนจนจะถูกกลบซ่อนในพื้นที่เปิดน้อยกว่า แค่กระทบชีวิตสุขภาพรุนแรง
ความเหลื่อมล้ำลักษณะนี้ ไม่โดดเด่น ราคาน้อยเชิงข่าวเมื่อสัมพัทธ์เปรียบกับผลภัยพิบัติน้ำท่วมกับคนมีน้อยหรือคนจน
คนใช้แรงงาน ไม่เคยรู้ตัวว่า ฝุ่นจิ๋วของใยหินเล็กกว่า PM 2.5 เข้าปอด และอีกยี่สิบปีต่อมาจะเป็น มะเร็งเยื่อหุ้มปอด คนเหล่านี้คือคนมีน้อยหรือหาวันกินวัน
เมื่อวันหยุด ได้ไปเห็นกับตา ว่า ผู้ใช้แรงงาน เลื่อยท่อน้ำที่มักผสมใยหิน ฝุ่นฟุ้งกระจาย คนเลื่อยไม่มีผ้าปิดหน้า แถมสูบบุหรี่ ที่ผสมฤทธิ์ก่อมะเร็งเสริมภัยอย่างดี ฝุ่นที่กระจายออกไม่แค่ช่าง แต่คนไปวัดแห่งนั้นด้วย เก็บภาพไว้เป็นหลักฐาน
ความเหลื่อมล้ำแบบนี้ แอบซ่อน เร้นกายอยู่ ไม่เหมือนดัชนี จีนี หรือ ข้อมูลการครอบครองทรัพย์สิน ในมุมมองเศรษฐศาสตร์ ความเหลื่อมล้ำแบบนี้ บางทีมองก็ไม่เห็น เพราะไม่อยากมอง หรือไม่รู้มองไปทำไม เพราะ ตู ก็จะแย่อยู่แล้ว ต้องฝากนักมานุษยวิทยา นักสังคมวิทยามาอรรถาธิบาย
น่าตั้งเป็นข้อสังเกตว่า สื่อสารมวลชนยังจับสารเหล่านี้มาสื่อน้อย ไม่มีการตั้งโจทย์นี้ มุ่งแต่หาเครื่องตรวจ เครื่องป้องกัน มาตรการรัฐ แก้ปัญหา กฎกติกาคุมแหล่งก่อเหตุ และ แหล่งอำนาจคุมระบบ
ภัยพิบัติที่เหมือนกันในมุมหนึ่ง แต่อาจต่างไป ถ้าภัยนั้นจับต้องไม่ได้ให้เห็นตายต่อหน้าในทันทีเกิดปรากฎการณ์ “คนรวยกลัวมากคนยาก(จน)กลัวน้อย” หรือไม่กลัวเลย
ข้อเรียกร้อง ณ บัดนาว คือ
หนึ่ง ขอสื่อสารมวลชน สื่อสาธารณะเจาะวัตรปฏิบัติ ชีวิตประจำวันคนมีน้อย หาวันกินวันว่า มีวิถีป้องตนกับฝุ่นจิ๋วกันไหมอย่างไร เปิดให้สังคมได้เห็นบ้าง อาจรู้สึกผ่อนภัยของตนลงบ้าง
สอง ขอหน่วยงาน สถาบันต่างๆ มาลงพื้นที่สนับสนุนหน้ากาก กระตุ้นเร่งเร้าการป้องกันตนของคนมี(น้อย) ลูกเด็กเล็กแดง คนเฒ่าคนแก่ ผู้ใช้แรงงาน ผู้ทำงานกลางแจ้ง คนป่วยในชุมชนแออัด คนไร้บ้าน เหล่านี้ เหมือนคราวถูกน้ำท่วม นิสิตนักศึกษาเป็นโอกาสเดินหน้าเข้าหาคนในสังคมที่มีโอกาสน้อย
สาม ขอทุกคนร่วมกัน ไม่ชี้นิ้วใส่ใคร เพราะ คนสั่งการตอนนี้ ยังสับสน ไม่ค่อยจะรู้ว่าจะสั่งให้แก้อย่างไร เพราะ ของมันยังใหม่ ไม่รู้วิธีไหนดีที่สุด หลายประเทศกว่าจะแก้ได้ไม่น้อยกว่าสิบปี เช่น โกเธนเบอร์ก สวีเดน ก็ใช้เวลา สิบห้าปี จากดำเป็นขาว หน้ามือเป็นหลังมือ กลายเป็น โชว์เคสเบสแพรคทีส (show case-best practice) ระดับโลก เช่นเดียวกับ กรุงปักกิ่ง
จะแบบซิงเกิล หรือ มัลติเพิลคอมมานต์ แบบไหนไม่ว่า มาช่วยกันทำให้ คนมี(น้อย)ตื่นตัวกับฝุ่นจิ๋วกันมากขึ้น ให้พวกเขามีเครื่องยังชีพป้องกันเนื่องจากขาดแคลน ใครอยากช่วยก็หนุนเสริมหาเวทีให้แสดงบริจาค เสริมต่ออายุคนมีน้อย
ทำให้เห็นเป็นอีกหน้าประวัติศาสตร์หนึ่ง ที่คนไทยไม่ทิ้งกัน No one left behide on Smile Land แบบที่เคยมีมา
วิทยา กุลสมบูรณ์
ผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาฯ
อดีต ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ
ที่มา : วิทยา กุลสมบูรณ์
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://www.bbc.com