ขยับจากซี 7 เป็นซี 9-ป.ป.ช.กำหนดตำแหน่ง จนท.รัฐใหม่ให้ ป.ป.ท. ไต่สวน
ป.ป.ช. ออกประกาศกำหนดตำแหน่ง จนท.รัฐตั้งแต่อำนวยการระดับสูงลงมา ให้อำนาจ ป.ป.ท. ดำเนินการไต่สวนได้ หลังก่อนหน้านี้มีปัญหา รับได้แต่เรื่องร้องเรียน แต่ดำเนินการไม่ได้ เหตุกฎหมายไม่กำหนดให้ชัด ตาม รธน.50 แค่ซี 7 ตอนนี้ได้ถึงซี 9
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2562 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรื่อง กำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่อำนวยการระดับสูงหรือเทียบเท่าลงมา พ.ศ.2562
มีสาระสำคัญคือ กำหนดให้มีการเทียบตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่อำนวยการระดับสูงหรือเทียบเท่าลงมา ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะมอบหมายหน้าทีและอำนาจให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ตามกฎหมายว่าด้วยมาตรการของฝ่ายบริหารของ ป.ป.ท. ดำเนินการแทนได้
สำหรับตำแหน่งตั้งแต่อำนวยการระดับสูงหรือเทียบเท่าลงมาที่ให้อำนาจ ป.ป.ท. ไต่สวน เช่น ข้าราชการพลเรือน คือ หัวหน้าส่วนราชการที่ต่ำกว่าระดับกรม หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัด นายอำเภอ ผู้ตรวจราชการกรม หัวหน้าสำนักงานรัฐมนตรี ตำแหน่งข้าราชการท้องถิ่น เช่น ปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้อำนวยการสถานศึกษา ระดับเชี่ยวชาญ เลขานุการสภา กทม. ผู้อำนวยการเขต ตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เช่น ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่เชี่ยวชาญ ศึกษาธิการจังหวัด
ตำแหน่งข้าราชการตำรวจ เช่น รองผู้บังคับการ ตำแหน่งข้าราชการทหาร เช่น ตำแหน่งชั้นยศพันเอกอัตราเงินเดือนพันเอกพิเศษ ตำแหน่งในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานรัฐอื่น ตั้งแต่ตำแหน่งผู้อำนวยการ ผู้อำนวยการสำนักงาน ผู้อำนวยการกองลงมา
ทั้งนี้กรณีใดไม่อาจเทียบตำแหน่งข้าราชการตามหลักเกณฑ์ข้างต้น ให้เสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาเทียบตำแหน่งเป็นรายกรณี
(ดูประกาศ ป.ป.ช. ฉบับเต็ม คลิกที่นี่)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงรัฐธรรมนูญปี 2550 และ พ.ร.บ.ป.ป.ช.ฉบับเดิม กำหนดให้ สำนักงาน ป.ป.ท. สามารถไต่สวนข้าราชการ และเจ้าหน้าที่รัฐได้แค่ถึงระดับ 7 (ซี 7) แต่ปัจจุบันตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ระบุให้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ออกประกาศกำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่รัฐระดับล่างที่ให้ ป.ป.ท. ไต่สวน
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ แหล่งข่าวจากสำนักงาน ป.ป.ท. เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า ปัจจุบันสำนักงาน ป.ป.ท. รับเรื่องร้องเรียนเข้ามาจำนวนมาก แต่ทำได้แค่เพียงรับเลขที่ตามทะเบียนเท่านั้น ไม่สามารถแสวงหาข้อเท็จจริง หรือตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงได้ เนื่องจากตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ ไม่มีการระบุถึงตำแหน่งของเจ้าหน้าที่รัฐว่า ระดับไหนถึงอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ท. หรือ ป.ป.ช. (อ่านประกอบ : รวมศูนย์คดีทุจริต!ป.ป.ช.ต้องรู้ทุกเรื่องก่อนกระจายงาน ยัน ป.ป.ท.ทำงานได้ตาม ม.62)