ขมวดปมถ้า ‘บิ๊กตู่’อยู่บัญชีนายกฯ พปชร. โผล่จอพูดรายการทุกคืนวันศุกร์ได้ไหม?
“…ที่สำคัญคือการพูดในรายการคืนวันศุกร์ เป็นการใช้งบประมาณจากภาครัฐ แต่การสนับสนุนการหาเสียง กกต. จะเป็นคนคิดคำนวณค่าใช้จ่าย ตรงนี้จะถือว่านำเงินงบประมาณจากภาครัฐมาเข้าข่ายหาเสียงหรือไม่ เพราะต้องไม่ลืมว่า แค่โผล่หน้าให้ประชาชนเห็นทุกคืนวันศุกร์ ก็อาจเป็นการเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น ๆ ทีต้องปฏิบัติตามกฎหมายของ กกต. ได้ ?...”
บทบาทของ ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำลังถูกจับตาจากสาธารณชนอย่างมาก!
หลังจากพรรคพลังประชารัฐ เตรียมทาบทามมาใส่เป็น 1 ใน 3 บัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรค ร่วมกับนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค อดีต รมว.อุตสาหกรรม และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ
ส่วน ‘บิ๊กตู่’ แม้ยังไม่ตกปากรับคำอย่างเป็นทางการ แต่ท่าทีผ่านสื่อ ไม่ได้แสดงออกในเชิงรับ หรือเชิงปฏิเสธแต่อย่างใด ?
“เขาเชิญผมมาเมื่อไหร่ ก็มีเวลาไปถึงวันที่ 8 ก.พ. เขาเชิญผมมาเมื่อไหร่ผมก็รับและยินดี ขอบคุณนะ แต่ยังไม่รับ ขอบคุณที่เชิญ” เป็นคำยืนยันของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ตอบคำถามสื่อเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2562
คงต้องรอในวันที่ 1 ก.พ. 2562 ดีเดย์พรรคพลังประชารัฐจะเทียบเชิญมาเข้าบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรี โดยนายอุตตม ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อระบุว่า ทำหนังสือเชิญผ่านทีมงานของ พล.อ.ประยุทธ์แล้ว และวันที่ 1 ก.พ. นายอุตตม
พร้อมด้วยคณะผู้บริหารพรรค 4-5 ราย จะไปทำเนียบรัฐบาล เพื่อเชิญอย่างเป็นทางการอีกครั้ง
ประเด็นสำคัญคือ หาก ‘บิ๊กตู่’ ยอมถูกใส่ในบัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ จะสามารถจัดรายการทุกคืนวันศุกร์ได้อยู่หรือไม่ หากยังจัดอยู่จะถือว่าสุ่มเสี่ยงขัดต่อกฎหมายหรือไม่ ประการใด ?
เรื่องนี้มีอยู่ 2 ประเด็น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปข้อเท็จจริงให้ทราบ ดังนี้
หนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ สามารถพูดในรายการคืนวันศุกร์ได้อยู่หรือไม่ ?
ต้องเข้าใจก่อนว่า ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 มาตรา 69 บัญญัติว่า ห้ามผู้สมัคร พรรคการเมือง หรือผู้ใดโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งทางวิทยุกระจายเสียง หรือวิทยุโทรทัศน์ เว้นแต่เป็นการดำเนินการตามที่ได้รับการสนับสนุนตามมาตรา 81
ส่วนมาตรา 71 ระบุว่า การหาเสียงเลือกตั้งด้วยวิธีการอื่นใดนอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 69 70 81 และ 83 กกต. จะกำหนดให้ต้องทำตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ กกต. กำหนดก็ได้ โดยคำนึงถึงความเท่าเทียม ความเสมอภาค และความเที่ยงธรรมของผู้สมัคร และพรรคการเมือง
ขณะที่มาตรา 81 ระบุว่า ให้ กกต. มีหน้าที่สนับสนุนการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัคร และพรรคการเมือง ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ กกต. กำหนด ในการนี้ กกต. จะขอให้หน่วยงานอื่นของรัฐเป็นผู้ดำเนินการสนับสนุนด้วยก็ได้
ในการสนับสนุนการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งตามวรรคหนึ่ง กกต. อาจจัดเวทีประชันนโยบายบริหารประเทศสำหรับพรรคการเมืองได้ด้วย
ประเด็นนี้ นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต. เคยเปิดเผยแล้วว่า กกต. ขอความร่วมมือกับสถานีโทรทัศน์ของรัฐ และสถานีโทรทัศน์ดิจิตอล ในการจัดสรรเวลาออกอากาศ โดย 1 วัน ขอเวลา 60 นาที เป็นเวลา 10 วัน โดย 5 วันแรกคือการออกสปอตโฆษณาของพรรคการเมือง พรรคละ 10 นาที ส่วนอีก 5 วันถัดมา เป็ฯการออกอากาศเทปการประชันนโยบายของพรรคการเมือง พรรคละ 10 นาที รวม10 วัน ตกพรรคละ 20 นาที
ดังนั้นถ้าภายหลัง ‘บิ๊กตู่’ ยอมรับเป็นหนึ่งในบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ แล้วยังพูดในรายการทุกคืนวันศุกร์อยู่ อาจเข้าข่ายขัดกับกฎหมายที่ กกต. จะต้องมีหน้าที่สนับสนุนการโฆษณาหาเสียงของพรรคการเมือง โดยกำหนดเวลาไว้แค่พรรคละ 20 นาทีหรือไม่
ที่สำคัญคือการพูดในรายการคืนวันศุกร์ เป็นการใช้งบประมาณจากภาครัฐ แต่การสนับสนุนการหาเสียง กกต. จะเป็นคนคิดคำนวณค่าใช้จ่าย ตรงนี้จะถือว่านำเงินงบประมาณจากภาครัฐมาเข้าข่ายหาเสียงหรือไม่ เพราะต้องไม่ลืมว่า แค่โผล่หน้าให้ประชาชนเห็นทุกคืนวันศุกร์ ก็อาจเป็นการเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น ๆ ทีต้องปฏิบัติตามกฎหมายของ กกต. ได้ ?
เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2562 พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สั้น ๆ ถึงกรณีนี้ว่า คงต้องมีการหารือ และวิเคราะห์กันในข้อกฎหมาย ทราบว่าวันนี้ กกต. เดินทางไปพบนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือแล้ว คงต้องรอฟังผลสรุปจากนายวิษณุ
วันเดียวกัน สื่อหลายสำนักรายงานว่า นายวิษณุ ให้สัมภาษณ์ว่า ในส่วนของพล.อ.ประยุทธ์ หากให้ชื่อพรรคพลังประชารัฐ ไปใส่ในบัญชีรายชื่อเพื่อเสนอเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว จะไม่สามารถหาเสียงได้ทั้งในและนอกเวลาราชการ
ดังนั้นหากหลังจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ พูดออกอากาศผ่านรายการทุกคืนวันศุกร์ จะเข้าข่ายหาเสียงหรือไม่ คงต้องรอ กกต. สรุปให้ชัดเจนอีกครั้ง
(ภาพจาก รายการคืนวันศุกร์ เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2562 ที่ผ่านมา)
สอง หาก พล.อ.ประยุทธ์ พูดในรายการคืนวันศุกร์อยู่ เข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่ ?
ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 78 ระบุว่า ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย กระทำการใด ๆ เพื่อเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง
การใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายตามวรรคหนึ่ง มิให้หมายความรวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติที่ต้องพึงปฏิบัติในตำแหน่งของเจ้าหน้าที่รัฐนั้น หรือการแนะนำหรือช่วยเหลือในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง โดยมิได้เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ แม้ว่าการกระทำจะเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด
ในกรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า มีการฝ่าฝืนบทบัญญัติตามวรรคหนึ่ง ให้ กกต. ที่พบเห็นมีอำนาจสั่งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐยุติหรือระงับการกระทำใดที่เห็นว่า อาจเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด
ในกรณีตามวรรคสาม ให้ กกต. แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีหน้าที่และอำนาจกำกับดูแลเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้น สั่งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีพฤติการณ์อันอาจเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองพ้นจากหน้าที่เป็นการชั่วคราว
นอกจากนี้เมื่อปี 2547 (สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร) เคยมีมติคณะรัฐมนตรีเรื่องแนวทางการปฏิบัติสำหรับข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ตอนหนึ่งระบุว่า ให้ข้าราชการ พนักงาน และเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภท และทุกระดับ ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น วางตัวเป็นกลางในการเลือกตั้งทุกครั้งอย่างเคร่งครัด ไม่ปฏิบัติการใด ๆ ในทางตรงหรือทางอ้อม ทั้งทางส่วนตัวและราชการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งพรรคการเมืองใดโดยเด็ดขาด
นี่ข้อเท็จจริงตามกฎหมายว่า ท้ายที่สุดหาก ‘บิ๊กตู่’ ยอมลงเล่นในสนามการเมืองอยู่ ‘หน้าฉาก’ โดยถูกใส่ในบัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐนั้น จะสามารถทำอะไรได้-ไม่ได้บ้าง ?
ส่วนจะมีบทสรุปอย่างไร คงต้องรอ กกต. เคาะกันอีกครั้ง !
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
'บิ๊กตู่-อุตตม-สมคิด'อยู่ในบัญชีนายกฯ พปชร. เมินเสียงค้าน-ลั่นซื่อสัตย์-ปชช.ชอบ
ใครเป็นใคร! เปิดโผบัญชีรายชื่อนายกฯพรรค-‘บิ๊กตู่-ชัชชาติ-หญิงหน่อย-มาร์ค’ตัวเต็ง?