มูลนิธิบูรณะนิเวศ ชี้จุดอ่อน พ.ร.บ.โรงงาน ฉบับ คสช. ลั่นมีวาระซ่อนเร้นอื้อ
ร่าง พ.ร.บ.โรงงาน ฉบับ คสช. มูลนิธิบูรณะนิเวศ ชี้มีวาระซ่อนเร้น ยันคลอดออกมาเมื่อไหร่ ซ้ำเติมปัญหา PM 2.5 จี้สนช.ถอนกฎหมายฉบับนี้ออกจากการพิจารณา
วันที่ 31 มกราคม มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Greenpeace SEA) และศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าว ร่าง “พ.ร.บ.โรงงาน ฉบับ คสช.”: วาระซ่อนเร้น - ซ้ำเติมปัญหา PM 2.5 ? ณ ห้องประชุมห้อง 701 อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ตอนหนึ่งนางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวถึงร่างพระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....ที่กำลังอยู่ในการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (อ่านประกอบ:รับหลักการ ร่างพ.ร.บ.โรงงานฯ -สนช.ห่วงยกเลิกต่อใบอนุญาตประกอบกิจการรง. ) ว่า กฎหมายฉบับนี้จะนำพาไปสู่วิกฤติการณ์สิ่งแวดล้อมที่รุนแรงมากขึ้น มีอะไรซ่อนเร้นและเป็นปัญหาอยู่มาก
"รัฐบาลคสช.กับกฎหมายเอื้อการลงทุนหลายฉบับ แต่กลับลดการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม โดย 'ทุนใหญ่' ผูกขาดการออกกฎหมาย ดูได้จากรายชื่อคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่พิจารณากฎหมายเกี่ยวกับอุตสาหกรรมและพลังงาน"
นางสาวเพ็ญโฉม กล่าวอีกว่า ร่างพ.ร.บ.โรงงานฯ มีการตัดมาตรการสำคัญในการกำกับดูแลผู้ประกอบการออกไป เช่น ตัดเรื่องการฟื้นฟูเยียวยาความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมจากการประกอบกิจการโรงงาน ทั้งการประกันภัย หลักประกัน หรือกองทุนเพื่อการเยียวยาความเสียหายที่เกิดจากผู้ประกอบกิจการ (ร่างมาตรา 8 (9)) และยกเลิกอายุของใบอนุญาตประกอบกิจการ (ร่างมาตรา 14) จากพ.ร.บ.โรงงาน 2535 จากใบอนุญาตประกอบกิจการมีอายุ 5 ปี อนาคตใบอนุญาตประกอบกิจการไม่มีวันหมดอายุ
"เราจะปล่อยให้ร่างพ.ร.บ.โรงงาน ฉบับคสช.ร่วมมือกับกฤษฎีกาที่มาจากภาคเอกชนเกือบทั้งหมด ออกกฎหมายที่ปกป้อง "มลพิษ" ทอดทิ้งชีวิตประชาชนอย่างนั้นหรือ"
นางสาวเพ็ญโฉม กล่าวต่อว่า ร่างพ.ร.บ.โรงงานฯ ที่บอกว่าจะตัดปัญหาการทุจริตของเจ้าหน้าที่ การรับเงินใต้โต๊ะ โดยจะ เกิด 'ผู้ตรวจสอบเอกชน' ทำหน้าที่แทนพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น ก็หวั่นว่า วงจรการทุจริตคอร์รัปชั่นจะรุนแรงขึ้นหรือไม่ เพราะเปิดโอกาสให้เกิดการร่วมกระทำผิดและความไม่โปร่งใสในระบบการตรวจสอบและรับรองสถานประกอบการทั้งระบบได้ง่าย
ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ ยังกล่าวถึงสาระสำคัญบางประเด็นในร่างพ.ร.บ.โรงงานฯ ที่สนช.กำลังพิจารณา ในนิยามโรงงานการตั้งโรงงานที่เปลี่ยนไป หากกฎหมายฉบับนี้ออกมาและมีผลบังคับใช้ โรงงานจำนวนมากกว่า 6 หมื่นแห่งจะไม่อยู่ภายใต้พ.ร.บ.โรงงานอีกต่อไป เนื่องจากขนาดโรงงานไม่อยู่ภายใต้นิยามนี้ รวมถึงการตั้งโรงงาน 'ลด' นิยามเหลือเพียงการนำเครื่องจักรมาติดตั้งเท่านั้น ซึ่งถือว่า เปิดช่องว่างให้ก่อสร้างอาคารได้โดยไม่ต้องขออนุญาตประกอบกิจการ หรือปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมจนเปรียบเหมือนมัดมือชกให้ตั้งโรงงานได้
"โรงงานเหล่านั้นไม่ใช่จะไม่มีกฎหมายกำกับดูแล แต่จะไปอยู่ภายใต้ข้อบัญญัติท้องถิ่นหรือพ.ร.บ.สาธารณสุขฯ ซึ่งมีมาตรการกำกับดูแลที่อ่อนกว่ามาก ขณะที่ขั้นตอนที่หายไป คือ การตรวจสอบสภาพโรงงานเพื่อประกอบการพิจารณาต่ออายุใบอนุญาต"
ทั้งนี้ ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ ตั้งคำถามทิ้งท้าย เกิดอะไรขึ้นกับวิธีคิดของคณะกรรมการกฤษฎีกา เกิดอะไรขึ้นกับรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งอยากให้สนช.ซึ่งต้องพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ ขอร้องให้ทบทวนให้ดีๆ โปรดถอนกฎหมายฉบับนี้ออกจากการพิจารณา ก่อนวิกฤติการณ์สิ่งแวดล้อมของไทยจะรุนแรงไปมากกว่านี้ และขอให้เริ่มกระบวนการพิจารณาใหม่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เครือข่ายภาคปชช.ค้านร่างพ.ร.บ.โรงงานฯ สนช.ตอบทำไม่ได้ เหตุครม.เป็นผู้เสนอ
ประชาสังคม เรียกร้อง สนช. ระงับพิจารณา ร่างพ.ร.บ.โรงงาน ฉบับลดทอนคุ้มครองสิ่งแวดล้อม