นักวิชาการชี้การเมืองไทยเข้าสู่ระบบ 3 ก๊ก "พท.-ปชป.-พปชร" ต้องมีสองฝ่ายรวมตัวสร้างอำนาจต่อรอง
เลือกตั้ง 62 นักวิชาการ กม.ชี้การเมืองไทยเข้าสู่ระบบ 3 ก๊ก "พท.-ปชป.-พปชร" ต้องมีสองฝ่ายรวมตัวกัน จึงมีอำนาจต่อรอง ด้าน "อิสระ ไพรีพ่ายฤทธิ์" เชื่อหาก "บิ๊กตู่" เป็นนายกฯ อีกสมัย มีสิทธิ์ปชช.ต้าน คสช.
วันที่ 30 ม.ค. 2562 บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) จัดเวที “เสวนาเลือกตั้ง 2562 จุดเปลี่ยนประเทศไทย” ณ ห้อง infinity 1-2 โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ กรุงเทพฯ
ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักวิชาการด้านกฎหมายมหาชน กล่าวถึงข้อกังวลที่จะเกิดก่อนการเลือกตั้ง 2562 มี 3 เรื่อง ได้แก่ 1.การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่สามารถใช้รูปแบบการเลือกตั้ง สมัยพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ได้ เพราะ พล.อ.เปรมไม่ได้ก่อการปฎิวัติ และไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการร่างรัฐธรรมนูญ อีกทั้งไม่สามารถใช้รูปแบบการเลือกตั้ง สมัย ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เช่นกัน เพราะ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2517 กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)
2.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ไม่แสดงออกชัดเจนว่าสนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี นั่นจึงทำให้ประชาชนนอาจมองว่า ปชป. มีความเป็นไปได้จะสนับสนุน
3.การเลือกตั้งถือเป็นความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เนื่องจากการเลือกตั้งครั้งนี้ กกต.มีอำนาจมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา โดย กกต.เพียง 1 คนสามารถทำให้เกิดการเลือกตั้งใหม่ในพื้นที่นั้น ๆ โดยไม่ต้องผ่านการลงมติเอกฉันท์เหมือนการเลือกตั้งครั้งก่อน
นักวิชาการด้านกฎหมายมหาชน ยังกล่าวอีกว่า ตอนนี้การเมืองไทยเข้าสู่ระบบสามก๊ก คือ ต้องมีสองฝ่ายรวมกันจึงจะมีอำนาจในการต่อรอง สามก๊กในที่นี้หมายถึงพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งแต่ละพรรคล้วนมีจุดอ่อนที่แตกต่างกัน โดยพรรคเพื่อไทย ยังมีภาพของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตามติดอยู่เสมอ ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ พ่ายแพ้การเลือกตั้งติดกันถึง 4 ครั้งในสมัยที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นหัวหน้าพรรค ส่วนพรรคพลังประชารัฐ อาจถูกมองว่าเป็นการสืบทอดอำนาจต่อ
“คสช. เป็นคณะรัฐประหารชุดแรกที่อยู่ในอำนาจได้นานขนาดนี้ เพราะปกติการยึดอำนาจต้องเกิดการเลือกตั้งใหม่ภายในปีเศษ ถามว่าเพราะเหตุใด คสช.ถึงอยู่ได้นานท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจาณ์ เพราะเราแตกแยกแบ่งเป็น 2 ฝ่ายทำให้ทุกวันนี้ทหารต้องมามีบทบาทดูแล ซึ่งเป็นหน้าที่ต้องรักษาความสงบภายในประเทศ” ผศ.ดร.ปริญญา กล่าว
ขณะที่ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ศาสตราจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุหากคิดว่าประชาธิปไตยคืออนาคตของการเมืองไทย เสรีนิยมดีกว่าอำนาจนิยม ต้องปลดแอก 5 ชุดเหล่านี้ คือ 1.ต้องคิดรัฐธรรมนูญใหม่ โดยผลักดันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญปี 2560 2.กฎหมายลูกที่ออกมาไม่ตอบสนองต่อเงื่อนไขของการพาสังคมไทยไปสู่อนาคต จึงต้องรื้อกฎหมายลูก 3.ยุทธศาสตร์ไม่ได้ออกแบบเพื่อการดำรงอยู่ของประเทศไทยในอนาคต 4.การยกสถานะของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ซึ่ง กอ.รมน. กลายเป็นกระทรวงหนึ่งของระบบราชการไทยไปแล้ว และ 5.อนาคตของทหารกับการเมืองไทย
ทั้งนี้ เหตุผลพูดถึงเรื่องปลดแอก คสช. ไม่ได้หมายความว่าจะยุให้ไปทำสงครามปฏิวัติ แต่สิ่งนี้คือเงื่อนไขการปลดแอกผ่านกระบวนการการเลือกตั้ง เนื่องจากพันธะที่ คสช. ทิ้งไว้ในหลายเรื่องเป็นปัญหากับอนาคตมาก จึงคิดว่าโจทย์ยุทธศาสตร์เป็นโจทย์ใหญ่ โจทย์รัฐธรรมนูญเป็นโจทย์ใหญ่ ทั้งกฎหมายลูกและกอ.รมน. และเรายังไม่ถกกันเรื่องเมื่อมีการเลือกตั้งแล้วเอากองทัพไปไว้ไหน ตกลงจะพาทหารกลับเข้ากองหรือเปล่า และบทบาทกองทัพตกลงจะเอาอย่างไร เพราะมีความสนใจ new generation ในกองทัพ” นักวิชาการจุฬาฯ กล่าว
นายอิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ไอที Blognone.com กล่าวว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ว่าจะไปในทิศทางใดก็น่าจะเกิดความวุ่นวายขึ้นได้ หากพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย เชื่อว่าจะมีมวลชนจำนวนมากที่ไม่ต้องการ คสช.แล้ว หรือถ้านายกรัฐมนตรีเป็นบุคคลอื่น คงต้องมีการปรับโครงสร้างกันใหม่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรัฐธรรมนูญหรือแผนพัฒนาชาติ ซึ่งเรื่องราวทั้งหมดจะจบลงง่าย ๆ หรือไม่นั้น ยังนึกภาพไม่ออก
ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ไอทีฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า คนรุ่นใหม่น่าจะอยากเลือกตั้ง ออกไปใช้สิทธิ์ที่ตัวเองมี แต่ทั้งนี้ก็ระวังเรื่องหมายเลขของแต่ละพรรคดี ๆ เพราะแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน
นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) และอดีตกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) กล่าวถึงแผนยุทธศาสตร์ก่อนการเลือกตั้งว่า เมื่อสามสัปดาห์ที่ผ่านมา ครม. มีมติไม่เห็นชอบข้อเสนอของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่เสนอแผนปฏิรูปประเทศและเสนอขอตั้งหน่วยงาน 52 หน่วยงาน โดยหนึ่งในนั้นคือ สำนักงานแก้ไขความเหลื่อมล้ำแห่งชาติ อีกทั้งมีการตั้งข้อสังเกตว่า มติ ครม. ดังกล่าวได้ขอให้ยับยั้งไว้ก่อน เนื่องจากไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ตามที่ระบุไว้ในมติพระราชบัญญัติในการปฏิรูปประเทศ ทั้งนี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีการอนุมัติการขอจัดตั้ง 52 หน่วยงานเป็นเอกฉันท์แล้วแต่สุดท้ายกลับกล่าวว่าไม่สอดคล้อง
ด้าน รศ.ดร.โคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และอดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงสถานการณ์การเลือกตั้งว่า ผู้ที่มีสิทธิ์เลือกตั้งและผู้มีอำนาจรัฐ ทุกคนมีบทบาทเป็นของตนเอง รวมถึงนักการเมือง ที่จะทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปตามเจตนารมณ์ โดยคนที่จะมาปกครองประเทศจะต้องผ่านความเห็นชอบของผู้ที่มีสิทธิ์เลือกตั้งจากความชอบธรรม มิเช่นนั้นหากอาศัยอำนาจต่างๆ เกรงว่าจะทำให้รัฐบาลชุดต่อไปขาดความชอบธรรม
“บางคนยังติดว่าไม่ชอบใครเลย ทำให้ไปลงคะแนนในช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนนหรือเปล่า ซึ่งมองว่าสิ่งนั้นเป็นเหมือนกับการยอมแพ้ ขณะที่เราต้องพยายามรวบรวมคนที่ยังเชื่อในเสียงของประชาชน” ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนฯ กล่าว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/