เปิดรายงานองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ชี้ปัญหาปราบคอร์รัปชันเอเชียแปซิฟิกไม่คืบหน้า
"...มีหลายประเทศในภูมิภาคที่ได้ดำเนินการปฏิรูปเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ทั้งการปรับปรุงกฎหมายข้อมูลข่าวสาร การปรับปรุงหน่วยงานต่อต้านการทุจริต และก็มีอีกหลายประเทศที่ปรับปรุงมาตรการเอาผิดกับผู้ทุจริตให้เข้มข้นขึ้น อย่างไรก็ตามประเทศเหล่านี้ก็ยังประสบปัญหาในการดำเนินทุกองคาพยพให้สอดคล้องกันเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการปราบทุจริต และนอกจากนี้ก็ยังมีประเทศที่ปกครองด้วยโครงสร้างแบบเผด็จการบางประเทศที่แม้จะแสดงท่าทีว่าไม่ยอมรับต่อการทุจริต แต่ท่าทีในการต่อต้านทุจริตของผู้นำเผด็จการนั้นก็เป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืน เพราะความคืบหน้าในการต่อต้านการทุจริตต้องไปขึ้นอยู่กับทัศนคติและช่วงเวลาของผู้นำเผด็จการในแต่ละช่วง..."
นับจนถึงเวลานี้ สาธารณชนคงได้รับข้อมูลกันไปแล้วว่า เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2562 ที่ผ่านมา องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) ประกาศค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ประจำปี 2018 (2561) ระบุว่า ประเทศไทยได้ 36 คะแนน เต็ม 100 อยู่อันดับ 99 จาก 180 ประเทศทั่วโลก โดยคะแนนตกจากเมื่อปี 2017 ที่ได้ 37 คะแนนอยู่อันดับ 96 ของโลก
ขณะที่่ นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ออกมายืนยันว่าถึงผลคะแนน CPI ดังกล่าว ระบุว่า ในการให้ค่าคะแนน CPI ของ TI ต่อประเทศไทยนั้น พิจารณาข้อมูลจาก 9 แหล่ง ซึ่งไทยได้คะแนนเท่าเดิม 6 แหล่ง คะแนนลดลง 3 แหล่ง โดยสังเกตเห็นได้ว่า ค่าคะแนนที่เกี่ยวข้องกับความโปร่งใส หลักนิติธรรม และปัจจัยเกี่ยวกับคอร์รัปชัน ล้วนมีคะแนนเท่าเดิม ขณะที่การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อประชาชน ในการแก้ไขคอร์รัปชั่นของรัฐบาล (อ่านประกอบ :ขาดเจ้าภาพหลัก-หน่วยงานรัฐไม่ร่วมมือ! ป.ป.ช.เผยจุดอ่อน-เบื้องหลังคะแนน CPI ไทยลด, ป.ป.ช.ยันค่า CPI ตกแต่คะแนนนิติธรรมไม่ลด-เชื่อการเลือกตั้งปัจจัยสำคัญให้คนเชื่อมั่น, ประกาศดัชนีรับรู้การทุจริต 2018 ไทย 36 คะแนน อยู่ที่ 99 ของโลก ตกจากเดิม 3 อันดับ)
ล่าสุด องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ได้เผยแพร่บทความเรื่อง เอเชียแปซิฟิก กับความคืบหน้าเพียงเล็กน้อยจนถึงไม่คืบหน้าเลยในการต่อต้านคอรัปชั่น เนื่องจากคะแนนเฉลี่ยของประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั้นได้แค่ 44 คะแนนเท่านั้น ซึ่งสาเหตุหนึ่งก็มาจากกระบวนการสถาบันในระบอบประชาธิปไตยมีความอ่อนแอ และขาดสิทธิในด้านพลเมือง มีรายละเอียดเนื้อหาดังนี้
@ วิกฤตด้านประชาธิปไตยและการทุจริต
ประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิกที่ได้คะแนนสูงอาทิประเทศนิวซีแลนด์และออสเตรเลียนั้นพบว่ามีกระบวนการทำงานของระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ แต่อย่างไรก็ตามแม้ประเทศอย่างสิงคโปร์และเขตปกครองพิเศษฮ่องกงนั้นได้แสดงให้เห็นแล้วว่าสามารถจัดการกับปัญหาทุจริตได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นกัน แม้ว่าจะมีความไม่เป็นประชาธิปไตยอยู่
ตรงนี้จึงนำไปสู่การตั้งคำถามว่าทำไมประเทศบางประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยน้อยและมีลักษณะเป็นเผด็จการอย่างสิงคโปร์และฮ่องกงนั้นถึงทำคะแนนได้ดี ซึ่งคำตอบก็คือทั้ง 2 ประเทศนั้นมีความเป็นรัฐที่มีขนาดเล็กและมีสถาบันการตรวจสอบต่อต้านทุจริตที่เข้มแข็ง ซึ่งจะจำกัดการทุจริตในบริเวณเฉพาะจุดเท่านั้น แต่ทั้งนี้ความไม่เป็นประชาธิปไตยนั้นก็จะส่งผลทำให้ประเทศไม่สามารถออกมาตรการต่อต้านทุจริตที่ยั่งยืนได้เหมือนกับประเทศประชาธิปไตยเต็มใบ
อย่างไรก็ตามมีรายงานด้วยว่าการบั่นทอนสถาบันและหน่วยงานตามระบอบประชาธิปไตยนั้นทำให้การดำเนินกระบวนการต่อต้านทุจริตในประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิกหลายประเทศเป็นไปอย่างยากลำบาก ซึ่งเรื่องเหล่านี้กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยและประเทศกัมพูชา
โดยวิกฤติทางด้านประชาธิปไตยนั้นจะนำไปสู่ความอ่อนแอใน 3 ด้านได้แก่ 1.สถาบันในกระบวนการประชาธิปไตยที่อ่อนแอจะลดการออกมาตรการที่ยั่งยืนเพื่อการปราบทุจริตลง 2.การเสื่อมถอยของสิทธิและการแสดงออกทางการเมือง จะเพิ่มอัตราการทุจริตให้สูงขึ้น 3.การขาดกระบวนการทางประชาธิปไตยจะทำใหขาดการออกกฎหมายในการต่อต้านการทุจริต และจะทำให้องค์กรที่ทำหน้าที่ทางด้านกฎหมายนั้นไม่ได้เดินหน้าอย่างเต็มที่
ทั้งนี้องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติยังได้รวบรวมข้อมูลประเทศในภูมิภาคซึ่งมีปัญหาได้ค่าคะแนนลดลงมากกว่า 2-3 คะแนนนับตั้งแต่ปี 2560 ได้แก่ ประเทศติมอร์เลสเต ได้ 35 คะแนน ประเทศบังกลาเทศได้ 26 คะแนน ประเทศมัลดีฟส์ได้ 31 คะแนน และประเทศเวียดนามได้ 33 คะแนน ซึ่งทุกประเทศนั้นมีปัจจัยที่คล้ายคลึงกันหลายปัจจัยในด้านปัญหาการออกมาตรการเพื่อรับมือกับปัญหาการทุจริต ซึ่งรวมไปถึงการขาดสถาบันทางประชาธิปไตยที่ทำหน้าที่อย่างเข้มแข็งและเป็นอิสระในกระบวนการตรวจสอบและถ่วงดุล นอกจากนี้รัฐบาลกลางประเทศเหล่านี้ยังพบว่าสามารถใช้อำนาจได้อย่างเสรีในการจำกัด ปิดกั้น หรือเปิดพื้นที่ให้สื่อหรือประชาชนในการที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบภาครัฐ โดยถ้าสมรรถภาพของกระบวนการประชาธิปไตยนั้นอ่อนแอและสิทธิทางการเมืองลดลง การทุจริตก็จะเติบโต
อย่างเช่นในประเทศเวียดนามซึ่งแม้จะมีการใช้มาตรการให้หน่วยงานด้านอัยการลงโทษผู้ที่มีการทุจริตเป็นรายตัว แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะต่อสู้กับการทุจริตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ปัญหาในเรื่องของการทุจริตของประเทศเวียดนามนั้นสืบเนื่องมาตั้งแต่ปี 2558 แล้ว โดยมีรายงานจากทั้งประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศญี่ปุ่นว่ามีบริษัทที่จ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางเวียดนามเพื่อแลกกับสัญญาของรัฐบาลหรือเพื่อการได้มีบทบาทเข้าไปสนับสนุนการพัฒนาโครงการต่างๆ และล่าสุดเมื่อปี 2560 ธนาคารโลกก็ยังได้มีการตัดสิทธิบริษัทให้คำปรึกษาสัญชาติเนเธอร์แลนด์หลังจากพบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการจ่ายสินบนให้กับรัฐบาลเวียดนาม
นอกจากนี้องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติยังได้มีการระบุว่าประเทศมาเลเซียซึ่งได้ 47 คะแนนนั้นถือว่าเป็นประเทศที่ต้องจับตามองว่าจะมีการพัฒนาในด้านต่อต้านการทุจริตเพิ่มขึ้นมากอีกหรือไม่ โดยปัจจัยที่สำคัญที่ถูกนำมาประเมินคะแนนก็คือการเปลี่ยนตัวรัฐบาลเมื่อปีที่ผ่านมา และการจัดการกับผู้ที่มีส่วนในการทุจริตกองทุนวันเอ็มดีบีมูลค่า 4.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ บาท ซึ่งการทุจริตนี้โยงใยไปถึงนายนาจิบ ราซัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และนักการเมืองระดับสูงของมาเลเซียอีกหลายคน
@ ข้อแนะนำเพิ่มเติม
มีเพียงแค่ไม่กี่ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเท่านั้นที่ได้คะแนนต่อต้านการทุจริตในระดับที่สูงมาก ในขณะที่ประเทศส่วนมากยังพบว่าล้มเหลวในการต่อต้านการทุจริตและต้องดำเนินมาตรการอีกมาก เพื่อจะให้ประสบความสำเร็จ หมายความว่ารัฐบาลต้องดำเนินมาตรการให้มากขึ้นกว่านี้เพื่อจะแก้ปัญหาการทุจริตด้วย โดยการกำหนดเรื่องการต่อต้านทุจริตเอาไว้ให้หลากหลาย ลงในยุทธศาสตร์ชาตินั้นก็ถือเป็นกลไกสำคัญที่จะป้องกันการทุจริตได้
ทั้งนี้มีหลายประเทศในภูมิภาคที่ได้ดำเนินการปฏิรูปเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ทั้งการปรับปรุงกฎหมายข้อมูลข่าวสาร การปรับปรุงหน่วยงานต่อต้านการทุจริต และก็มีอีกหลายประเทศที่ปรับปรุงมาตรการเอาผิดกับผู้ทุจริตให้เข้มข้นขึ้น อย่างไรก็ตามประเทศเหล่านี้ก็ยังประสบปัญหาในการดำเนินทุกองคาพยพให้สอดคล้องกันเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการปราบทุจริต
และนอกจากนี้ก็ยังมีประเทศที่ปกครองด้วยโครงสร้างแบบเผด็จการบางประเทศที่แม้จะแสดงท่าทีว่าไม่ยอมรับต่อการทุจริต แต่ท่าทีในการต่อต้านทุจริตของผู้นำเผด็จการนั้นก็เป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืน เพราะความคืบหน้าในการต่อต้านการทุจริตต้องไปขึ้นอยู่กับทัศนคติและช่วงเวลาของผู้นำเผด็จการในแต่ละช่วง
ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุดในการต่อต้านทุจริตก็คือการส่งเสริมระบบประชาธิปไตยให้เข้มแข็งด้วยการทำให้ภาคประชาชนสามารถตรวจสอบรัฐบาลได้อย่างสมดุล มีกระบวนการยุติธรรมที่เป็นอิสระ จะเป็นกุญแจสำคัญที่สุดในการออกมาตรการต่อ้านทุจริตที่ยั่งยืน
(เรียบเรียงข้อมูลจาก: https://www.transparency.org/news/feature/asia_pacific_makes_little_to_no_progress_on_anti_corruption)
ทั้งหมดนี่ คือ ความเห็นขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ที่สังเคราะห์ปัญหาการต่อต้านคอร์รัปชันในกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิกภาพรวม สำหรับประเทศไทยนั้น ต้องจับตาดูกันต่อไปว่าภายในปี 2562 ที่มีการเลือกตั้งใหม่เกิดขึ้น จะสามารถสร้างมาตรการต่อต้านการทุจริตที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืนดังกล่าวให้ออกมาได้จริงหรือไม่
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/