ชัดๆ ข้อมูล 'กิตติพันธ์' ยื่นสอบ บิ๊กกรุงไทย ปมหุ้นกู้เอิร์ธฯ-โชว์ตารางเทียบกรณีสินเชื่อ
"...ข้าพเจ้าเห็นว่าข้อมูลที่ข้าพเจ้าได้รับมานั้นอาจจะเป็นประโยชน์กับการตรวจสอบของสำนักงานก.ล.ต. เพื่อให้ความเป็นธรรมกับผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกๆส่วนโดยเฉพาะนักลงทุนรายย่อยซึ่งลงทุนในหุ้นกู้ของกลุ่มบมจ. เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ รวมถึงการตรวจสอบคำตอบที่ทางธนาคารกรุงไทยได้ให้ต่อนักลงทุนและทางสำนักงานก.ล.ต. ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่าควรได้รับการตรวจสอบโดยสำนักงานก.ล.ต.ว่าตรงกับข้อเท็จจริงตามหลักฐานเอกสารที่ปรากฏหรือไม่ และเป็นมาตรฐานเดียวกับที่ธนาคารกรุงไทยได้ใช้ตรวจสอบผู้เกี่ยวข้องกับการอำนวยสินเชื่อหรือไม่ เนื่องจากธนาคารกรุงไทยมีหลายบทบาท และการตรวจสอบที่ผ่านมานั้นทำโดยธนาคารกรุงไทยที่เป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการปล่อยสินเชื่อแต่ขณะเดียวกันเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ซึ่งนำความเสียหายมาสู่กับนักลงทุนรายย่อยกว่า 1,000 ราย..."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เป็นรายละเอียดในหนังสือของ นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ อดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ซึ่งถูกคณะกรรมการสอบสวนของธนาคารกรุงไทย แจ้งข้อกล่าวหาว่ากระทำความผิดร้ายแรง เกี่ยวกับการปล่อยสินเชื่อให้บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) ในการให้ข้อมูลที่ไม่ตรงตามข้อเท็จจริงในการเสนอปล่อยสินเชื่อทำให้ธนาคารได้รับความเสียหาย ที่ทำถึง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อขอให้ตรวจสอบกระบวนการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ของธนาคารกรุงไทย ในส่วนของบมจ. เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธฯ ทั้งในเรื่องการระบุวัตถุประสงค์การใช้เงินจากการระดมทุนผ่านหุ้นกู้รุ่นที่ 1/2558 ในเดือนธ.ค.2558 และหุ้นกู้รุ่นที่ 1/2559 ในเดือนต.ค.2559 ซึ่งมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าการระบุวัตถุประสงค์ในการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ทั้งสองชุดนั้น ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์แรกเริ่มที่ทางกลุ่ม บมจ. เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธฯ เข้ามาหารือกับธนาคารกรุงไทย และการไม่ตรวจสอบการระบุวัตถุประสงค์การใช้เงินให้เป็นไปตามข้อเท็จจริง ว่ามีความรัดกุมเพียงพอในการปกป้องผลประโยชน์ของนักลงทุนและธนาคาร และเป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาชีพที่ดีหรือไม่ มีการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะของธุรกิจอย่างไร สอดคล้องกับประเด็นข้อกังวลของสายงานบริหารความเสี่ยงและคณะกรรมการบริหารของธนาคารในขณะนั้นหรือไม่ และมีการนำเสนอข้อเท็จจริงที่มีนัยสำคัญโดยเฉพาะประเด็นความเสี่ยงที่ผู้จะลงทุนควรรับทราบหรือไม่
โดยนายกิตติพันธ์ ระบุว่า กรณี บมจ. เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธฯ เป็นความเสียหายในวงกว้างทั้งต่อธนาคารกรุงไทย นักลงทุน ประชาชนทั่วไป และส่งผลกระทบร้ายแรงต่อภาพลักษณ์ของวงการธนาคาร และตลาดทุน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการตรวจสอบถึงสาเหตุที่แท้จริง ของความเสียหาย หากแต่กระบวนการตรวจสอบต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส เป็นธรรม เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงแห่งความเสียหาย ตนจึงสนับสนุนให้ก.ล.ต. ตรวจสอบการทำงานของสายงานตลาดเงินตลาดทุนซึ่งรับผิดชอบจัดจำหน่ายหุ้นกู้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย รวมถึงนักลงทุนรายย่อยซึ่งได้รับความเสียหายจากการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ดังกล่าว โดยอาจตั้งประเด็นการตรวจสอบเทียบเคียงจากข้อกล่าวหาของธนาคารกรุงไทย ที่มีต่อตน และกระบวนการอำนวยสินเชื่อ เนื่องจากหุ้นกู้ดังกล่าวมีลักษณะใกล้เคียงกับเงินกู้ทุกประการ ส่วนข้อมูลต่างๆ นั้น ตนได้รับมาจากผู้ไม่ประสงค์ออกนาม ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อ ก.ล.ต.ในการตรวจสอบกระบวนการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ของธนาคารกรุงไทยดังกล่าว (อ่านประกอบ : 'กิตติพันธ์' ยื่นก.ล.ต.สอบบิ๊กกรุงไทยปมหุ้นกู้เอิร์ธฯ ชี้เทียบเคียงตนโดนปล่อยสินเชื่อ)
-----------------
เรื่อง ขอนำส่งข้อมูลที่อาจเป็นประโยชน์ในการตรวจสอบกระบวนการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ของบมจ. เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ โดยธนาคารกรุงไทย
เรียน คุณรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
สำเนาเรียน คุณอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลัง ดร. วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย
สืบเนื่องมาจากการแถลงข่าวของข้าพเจ้าเรื่องการตรจสอบกระบวนการการนำเสนอและอนุมัติสินเชื่อให้แก่กลุ่มลูกหนี้ บมจ. เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ในวันที่ 9 มกราคม 2562ที่ผ่านมานั้น ข้าพเจ้าได้รับข้อมูลต่างๆจากผู้ไม่ประสงค์ออกนามที่อาจเป็นประโยชน์ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในการตรวจสอบกระบวนการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ของธนาคารกรุงไทยซึ่งมีผู้ได้รับความเสียหายในวงกว้าง ข้าพเจ้าจึงขอนำส่งเอกสารที่อาจจะเป็นประโยชน์กับการตรวจสอบเพิ่มเติมของสำนักงานก.ล.ต. เพื่อที่จะได้เป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนที่ได้รับความเสียหาย รวมถึงข้อสังเกตของข้าพเจ้าในแต่ละประเด็นดังต่อไปนี้
1. ขอให้ทางสำนักงานก.ล.ต.ได้โปรดพิจารณาการตรวจสอบเรื่องการระบุวัตถุประสงค์การใช้เงินจากการระดมทุนผ่านหุ้นกู้รุ่นที่ 1/2558 ในเดือนธันวาคม 2558 และหุ้นกู้รุ่นที่ 1/2559 ในเดือนตุลาคม 2559 จากเอกสารที่ข้าพเจ้าได้รับเข้ามานั้น มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าการระบุวัตถุประสงค์ในการจัดหน่ายหุ้นกู้ทั้งสองชุดนั้นไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์แรกเริ่มที่ทางกลุ่มบมจ. เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ได้เข้ามาคุยกับธนาคารกรุงไทยดังรายละเอียดและหลักฐานดังต่อไปนี้
− การออกหุ้นกู้รุ่นที่ 1/2558 ในเดือนธันวาคม 2558
เอกสารแนบ 1 อีเมล์ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 เป็นการตอบจากข้าพเจ้าไปยังทีมงานตามสายบังคับบัญชาในขณะนั้น ซึ่งรวมถึงผู้บริหารสายงานธุรกิจขนาดใหญ่ 1 และ นาย ก. (ตัวย่อสมมุติ) ผู้บริหารสายงานตลาดเงินตลาดทุน หลังจากทางทีมงานได้รายงานสรุปการเข้าพบกับกลุ่มบมจ. เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ เพื่อติดตามความคืบหน้าต่างๆ จากเอกสารดังกล่าวบริษัทฯมีความประสงค์ที่จะออกหุ้นกู้ชุดดังกล่าวเพื่อสนับสนุนส่วนทุนในการลงทุนในบริษัทไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ในประเทศอิตาลี
ข้าพเจ้าได้ให้ความเห็นตามมาตรฐานวิชาชีพในอีเมล์ฉบับดังกล่าวว่าทางทีมงานควรพิจารณาถึงความสามารถของกลุ่มบมจ. เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ในการแบกรับภาระหนี้และดอกเบี้ยเพิ่มสำหรับมูลหนี้อีก 1,500 ล้านบาท พร้อมกันนี้ข้าพเจ้ายังได้ตั้งข้อสังเกตว่าการลงทุนดังกล่าวอยู่นอกเหนือจากแผนงานบริษัทและน่าจะเป็นประเด็นที่อาจจะส่อให้เห็นถึงความไม่เป็นไปตามแผนงานเดิมซึ่งข้าพเจ้าได้ใช้ถ้อยคำว่าการลงทุนดังกล่าวดูแปลกและเป็น Red Flag แต่จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในเอกสารหนังสือชี้ชวน Filing Version ฉบับวันที่ 17 พฤศจิกายน 2558 ซึ่งเป็นเวลาเพียงไม่ถึง3 สัปดาห์หลังจากมาปรึกษากับทางธนาคารเรื่องการระดมทุนเพื่อลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ซึ่งนายผยงในฐานะผู้รับผิดชอบโดยตรงนั้นย่อมรับทราบข้อเท็จจริงข้างต้นเป็นอย่างดี แต่กลับมีการระบุวัตถุประสงค์ในการออกหุ้นกู้ในครั้งนี้ว่าเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน และรองรับการขยายกิจการของบริษัท ซึ่งไม่ตรงกับเรื่องที่บริษัทฯได้เข้ามาเพื่อขอให้ทางธนาคารช่วยดำเนินการในการออกหุ้นกู้
ข้าพเจ้าขอให้ทางสำนักงานก.ล.ต.ได้โปรดพิจารณาความเหมาะสมในการดำเนินการตรวจสอบว่าทางทีมงานที่ดูแลเรื่องการจัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ได้มีการพิจารณาถึงเอกสารหลักฐานว่าการระดมทุนผ่านหุ้นกู้เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนและรองรับการขยายกิจการของกลุ่มบมจ. เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ นั้นมีการพิจารณาและคำนวณความต้องการเงินทุนหมุนเวียนตามาตรฐานวิชาชีพนายธนาคารอย่างเหมาะสมหรือไม่
− การออกหุ้นกู้รุ่นที่ 1/2559 ในเดือนตุลาคม 2559
เอกสารแนบ 2 อีเมล์จากข้าพเจ้าถึงทีมงานสินเชื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2559 ในการบันทึกบทสนทนาระหว่างข้าพเจ้าและกลุ่มบมจ. เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ เกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของการจ่ายเงินล่วงหน้าให้คู่ค้าซึ่งมีการบันทึกบัญชีโดย PWC เป็นเงินประกันค่าสินค้า และแผนการออกหุ้นกู้ ซึ่งมีการบันทึกไว้ว่ากลุ่มบมจ. เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ นั้นมีแผนที่จะดำเนินการระดมทุนผ่านหุ้นกู้เพื่อมารีไฟแนนซ์ตั๋วแลกเงินเนื่องจากกังวลถึงภาวะตลาดเพื่อลดความเสี่ยงเรื่องสภาพคล่อง ข้อมูลดังกล่าวทางทีมงานสินเชื่อได้ใช้ในการตอบทีมงานกลั่นกรองสินเชื่อ
เอกสารแนบ 3 บทสรุปการตอบทีมงานกลั่นกรองสินเชื่อเรื่องถึงประเด็นความเสี่ยงต่างๆ ซึ่งมีการบันทึกอย่างชัดเจนว่าแผนงานของทางกลุ่มบมจ. เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ นั้นต้องการระดมทุนจากหุ้นกู้เพื่อรีไฟแนนซ์ตั๋วแลกเงินเพื่อลดความเสี่ยงเรื่องสภาพคล่อง เอกสารดังกล่าวอยู่ในหน้า 33 ของ Presentation โดยทีมงานอำนวยสินเชื่อในการนำเสนอเพื่อทบทวนวงเงินสินเชื่อในเดือนกรกฎาคม 2559 ต่อคณะกรรมการบริหาร ทางนาย ก. (นามสมมุติ) และสายงานตลาดเงินตลาดทุนซึ่งได้รับข้อมูลต่างๆจากทีมงานสินเชื่อรวมถึงเอกสารการนำเสนอสินเชื่อรวมถึงประเด็นการตอบคำถามทีมงานกลั่นกรองสินเชื่อและมติคณะกรรมการบริหารอย่างครบถ้วนและมีการติต่อกับลูกค้าโดยตรง แต่กลับไม่ได้ใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบวัตถุประสงค์การใช้เงินในการออกหุ้นกู้ชุดดังกล่าวให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์การรีไฟแนนซ์ตั๋วแลกเงินซึ่งเป็นการจำกัดมูลหนี้ไม่ให้เพิ่ม และปล่อยให้มีการระบุวัตถุประสงค์ที่ไม่ตรงกับที่ทางกลุ่มบมจ. เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ได้มาคุยกับธนาคารแต่แรกซึ่งอาจนำไปสู่ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นต่อนักลงทุนและธนาคารเองเนื่องจากกลุ่มบมจ. เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ นั้นมีอิสระในการใช้เงินจากการออกหุ้นกู้ดังกล่าวเพื่อเพิ่มปริมาณการจ่ายค่าประกันสินค้าล่วงหน้าซึ่งเป็นประเด็นที่ทางทีมงานสินเชื่อและคณะกรรมการบริหารของธนาคารมีข้อกังวล นาย ก. (นามสมมุติ) และสายงานบริหารตลาดเงินตลาดทุนได้มีการตอบนักลงทุนว่าทางธนาคารได้มีการทำ Due Diligence เพื่อทำความเข้าใจเชิงลึกก่อนเข้าทำธุรกรรมการจัดจำหน่ายตราสารหนี้ในครั้งนี้ – เอกสารแนบ 4
ข้าพเจ้าจึงขอให้ทางสำนักงานก.ล.ต.ได้โปรดพิจารณาความเหมาะสมในการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องเกี่ยวกับการไม่ตรวจสอบการระบุวัตถุประสงค์การใช้เงินให้เป็นไปตามข้อเท็จจริง มีความรัดกุมเพียงพอในการปกป้องผลประโยชน์ของนักลงทุนและธนาคาร และเป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาชีพที่ดีหรือไม่ เรื่องการทำ Due Diligence ได้มีการวิเคราะห์ถึงประเด็นดังกล่าวอย่างไร และสอดคล้องกับประเด็นข้อกังวลของสายงานบริหารความเสี่ยงและคณะกรรมการบริหารของธนาคารมีในขณะนั้นหรือไม่ และมีการนำเสนอข้อเท็จจริงที่มีนัยสำคัญโดยเฉพาะประเด็นความเสี่ยงที่ผู้จะลงทุนควรรับทราบหรือไม่
2. กรณีของเอิร์ธ เป็นความเสียหายในวงกว้างทั้งต่อธนาคารกรุงไทย นักลงทุน ประชาชนทั่วไป และส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อภาพลักษณ์ของวงการธนาคาร และตลาดทุน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการตรวจสอบถึงสาเหตุที่แท้จริงของความเสียดังกล่าว หากแต่กระบวนการตรวจสอบต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส เป็นธรรม เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงแห่งความเสียหาย ด้วยเหตุดังกล่าวข้าพเจ้าขอสนับสนุนให้ทางสำนักงานก.ล.ต. ได้โปรดพิจารณาดำเนินการตรวจสอบการทำงานของสายงานตลาดเงินตลาดทุนซึ่งรับผิดชอบการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายรวมถึงนักลงทุนรายย่อยซึ่งได้รับความเสียหายจากการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ดังกล่าว โดยอาจตั้งประเด็นการตรวจสอบเทียบเคียงจากข้อกล่าวหาของธนาคารกรุงไทยที่มีต่อข้าพเจ้าและกระบวนการอำนวยสินเชื่อ เนื่องหุ้นกู้ดังกล่าวมีลักษณะเทียบเคียงได้กับเงินกู้ทุกประการ
หมายเหตุ ในส่วนขอข้อกล่าวหาที่ธนาคารกรุงไทยมีต่อข้าพเจ้าอยู่ระหว่างการปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาและอยู่ระหว่างการขอเอกสารอ้างอิงจากทางธนาคารกรุงไทยที่ใช้ในการกล่าวหาข้าพเจ้าเพื่อประโยชน์ของข้าพเจ้าในการชี้แจงในกระบวนการอุทธรณ์)
ข้าพเจ้าเห็นว่าข้อมูลที่ข้าพเจ้าได้รับมานั้นอาจจะเป็นประโยชน์กับการตรวจสอบของสำนักงานก.ล.ต. เพื่อให้ความเป็นธรรมกับผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกๆส่วนโดยเฉพาะนักลงทุนรายย่อยซึ่งลงทุนในหุ้นกู้ของกลุ่มบมจ. เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ รวมถึงการตรวจสอบคำตอบที่ทางธนาคารกรุงไทยได้ให้ต่อนักลงทุนและทางสำนักงานก.ล.ต. ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่าควรได้รับการตรวจสอบโดยสำนักงานก.ล.ต.ว่าตรงกับข้อเท็จจริงตามหลักฐานเอกสารที่ปรากฏหรือไม่ และเป็นมาตรฐานเดียวกับที่ธนาคารกรุงไทยได้ใช้ตรวจสอบผู้เกี่ยวข้องกับการอำนวยสินเชื่อหรือไม่ เนื่องจากธนาคารกรุงไทยมีหลายบทบาท และการตรวจสอบที่ผ่านมานั้นทำโดยธนาคารกรุงไทยที่เป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการปล่อยสินเชื่อแต่ขณะเดียวกันเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ซึ่งนำความเสียหายมาสู่กับนักลงทุนรายย่อยกว่า 1,000 ราย
แต่จากเอกสารที่ปรากฏในการตอบผู้ถือหุ้นและสำนักงานก.ล.ต.นั้นอาจมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าไม่ได้มีการตรวจสอบในเชิงลึกถึงความรับผิดชอบของผู้ที่นำหุ้นกู้ดังกล่าวออกขายให้กับประชาชนและดูเหมือนมีการใช้มาตรฐานที่แตกต่างกับการตรวจสอบการอำนวยสินเชื่อ
ทั้งนี้ข้าพเจ้าทำสำเนาเรียนธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังในฐานะผู้กำกับดูแลธนาคารกรุงไทยและเป็นที่พึ่งของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการกระทำของธนาคารกรุงไทยเพื่อทราบและดำเนินการตามกระบวนการที่เหมาะสมเพื่อความเป็นธรรมต่อผู้มีส่วนได้เสียกับเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นธรรมที่สุด
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
ขอแสดงความเคารพอย่างสูง
นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ:
เบื้องลึก! 'กิตติพันธ์' ขอพักงาน ซีไอเอ็มบี 2 ด. สู้ข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธฯ-ตอนนี้มีอะไรในมือบ้าง?
ซีไอเอ็มบี แจ้งตลาดฯ 'กิตติพันธ์' ขอพักงาน 2 ด. ไปต่อสู้ข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธฯ
กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ : ศักดิ์ศรีจรรยาบรรณวิชาชีพนายธนาคาร กับ กรณีปล่อยกู้เอิร์ธฯ
กรุงไทย ยันไม่เคยหารือเอิร์ธฯออกมติเชิญเป็นกก.ย้ำสถานะผู้เสียหายฟ้องแพ่ง-อาญา
ก.ล.ต. กล่าวโทษ ก.ก. EARTH 11 ราย ยินยอมให้ลงข้อความเท็จหนี้เพิ่ม2.6หมื่นล้าน
ตั้ง บ.อีวายฯ ทำแผน! ศาลสั่งฟื้นฟูกิจการ‘เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ’-หลังปมหนี้ 2.6 หมื่นล.
ถ้าผิดจริงคุก240ปี! กรุงไทยเตรียมแจ้งดีเอสไอเพิ่ม-พบปลอมใบขนถ่านหิน80ฉบับเกือบหมื่นล.
ใช้1.5หมื่นล.แลกเหมืองถ่านหิน! เปิดรายงานตรวจสอบบ.เอิร์ธฯ สัญญาซื้อ3หมื่นล.ล่องหน
แนะกสิกรไทย-กรุงศรี-ธสน.ตรวจสอบใบขนถ่านหิน 'เอิร์ธ' หวั่นเจอเหมือนกรุงไทย!
ฉ้อโกงกรุงไทยหลายพันล.ปลอมใบขนถ่านหิน บ.เอิร์ธกู้เงิน-แจ้งดีเอสไอลุยสอบ