โชคดีที่ลืมก่อน : เมื่อการลืมยากกว่าการจำ
“สิทธิในการถูกลืม” ได้กลายเป็นประเด็นที่ศาลแห่งสหภาพยุโรปตัดสินเมื่อปี 2014 กรณีผู้ฟ้องร้องต่อศาลในประเทศ สเปนให้บริษัท กูเกิล นำเนื้อหาส่วนบุคคลของผู้ฟ้องออกจากลิงค์เชื่อมโยงการค้นหา
นอกจากนิสัยอยากรู้อยากเห็นและชอบเสาะแสวงหาแล้ว มนุษย์ยังมีนิสัยชอบจดจำสิ่งที่เกิดขึ้นรอบๆตัว อันเป็นหนึ่งในคุณสมบัติที่ทำให้มนุษย์ดำรงอยู่คู่โลกมาจนถึงทุกวันนี้
แต่ความสามารถในการจำของมนุษย์นั้นมีขีดจำกัด คนทั่วไปไม่สามารถจดจำสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นได้ทั้งหมดตั้งแต่เกิดจนตาย มนุษย์จึงพยายามคิดค้นเทคนิคช่วยจำ รวมถึงการใช้ ยา อาหารและพืชสมุนไพรทางธรรมชาติ ที่เชื่อว่าจะทำให้ความจำดีขึ้น รวมทั้งประดิษฐ์เครื่องช่วยจำภายนอกเพื่อช่วยจำ เช่น การขีดเขียนบนผนังถ้ำ การสลักบนแผ่นดินที่เรียกกันว่าแท็บเล็ตดินเหนียว การขีดเขียนบนกระดานชนวน หนังสือ ภาพวาด ภาพถ่าย ภาพยนตร์ แผ่นเสียง เทป ฯลฯ
จนกระทั่งเข้าสู่ยุคของหน่วยความจำดิจิทัล อุปกรณ์ช่วยจำภายนอกเหล่านี้เรียกกันโดยทั่วไปว่า "ความจำประดิษฐ์" (Artificial Memory) ทำให้มนุษย์สามารถระลึกถึงสิ่งที่เคยลืมไปแล้วหรือค้นหาสิ่งที่เคยบันทึกไว้ได้ไม่ยากนัก
การลืมอดีตจึงถือเป็นความปกติของมนุษย์และหากคนใดสามารถจำความได้ทุกสิ่งทุกอย่างจากวัยเด็กจนถึงบั้นปลายของชีวิตก็จะดูเหมือนว่าคนคนนั้นมีพรสวรรค์ที่คนส่วนใหญ่ไม่มี
แต่พรสวรรค์ของการมีความจำอันเป็นเลิศกลับทำให้ผู้มีคุณสมบัติด้านความจำกลายเป็น ผู้มีความจำผิดธรรมชาติและเข้าข่ายป่วยเป็นโรคที่เรียกกันว่า ไฮเปอร์ธีมีเซีย (Hyperthymestia) ซึ่งหมายถึง หน่วยความจำในสมองมีการพัฒนามากเกินไป ทำให้สามารถจำทุกสิ่งทุกอย่างในอดีตได้อย่างขึ้นใจ ผลกระทบจากความจำที่มากเกินไปอาจทำให้คนเหล่านี้กลายเป็นคนที่จมอยู่กับอดีตหรือกลายเป็นความทุกข์ทรมานในความแตกต่างของตัวเองเมื่อเทียบกับคนอื่นๆ
โรคไฮเปอร์ธีมีเซีย เป็นโรคที่พบน้อยมากในโลก ข้อมูลบางชิ้นอ้างว่ามีคนบนโลกนี้เพียง 60 คน ในขณะที่ข้อเขียนบางแหล่งระบุว่าในโลกนี้พบผู้มีอาการ ไฮเปอร์ธีมีเซีย เพียง 4 คน เท่านั้น
เอ เจ (จิล ไพรซ์) หญิงวัย 54 ปี จาก แคลิฟอร์เนีย เป็นหนึ่งในคนจำนวนน้อย ที่มีพรสวรรค์ในการจดจำสิ่งต่างๆ เธอสามารถจำทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตประจำวันได้อย่างอัศจรรย์ขณะเธอมีอายุ 11 ปี เธอจำได้แม้กระทั่งอาหารเช้าที่เธอเคยกินเมื่อสี่สิบกว่าปีที่แล้วได้อย่างแม่นยำ เธอจำได้กระทั่งวันที่มีคนเรียกชื่อเธอ รวมไปถึงรายการทางทีวีที่ออกอากาศทุกตอนตั้งแต่ปี 1980 ที่เคยดูเธอก็จำได้อย่างถูกต้องโดยไม่ต้องใช้ความพยายามในการทบทวนความจำมากนัก เพราะการจดจำสิ่งต่างๆนั้นเป็นไปโดยอัตโนมัติและเธอเองก็ไม่สามารถควบคุมการจำนั้นได้
พรสวรรค์จากการไม่ลืมของเธอกลับกลายเป็นว่า สิ่งต่างๆจำนวนมากมายที่เธอได้บันทึกเอาไว้ในสมองนั้นเป็นเหมือนโซ่ตรวนที่ฉุดรั้งการตัดสินใจต่างๆในการใช้ชีวิตในวันข้างหน้าของเธอเอง ทำให้เธอใช้ชีวิตอย่างไม่มีความสุขนัก เพราะเธอจำได้ทั้งสิ่งที่ดีในชีวิตและเรื่องเลวร้ายที่ควรถูกลืมก็มักกลับมารบกวนเธออยู่เป็นนิจเช่นกัน
การมีความจำดีเกินไปนอกจากจะทำให้จมอยู่กับอดีตแล้วยังมีผลต่อ การคิด การตัดสินใจ ความสร้างสรรค์ รวมทั้งการใช้ชีวิตประจำวันร่วมกับผู้ที่มีความจำน้อยกว่าอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้มีความจำอันเป็นเลิศเหล่านี้ได้เข้ามาอยู่ในโลกแห่งความจำของคอมพิวเตอร์ที่ดูเหมือนว่าจะมีประสิทธิภาพมากกว่าและง่ายกว่าในการค้นหาอดีตนั้นยิ่งจะส่งผลในทางลบต่อบุคคลเหล่านี้มากขึ้น คนเหล่านี้มักกลายเป็นคนที่ถูกเรียกจากผู้ที่มีความจำด้อยกว่าว่า “ผู้มีความจำที่ถูกสาป” ทั้งๆที่เป็นคนพิเศษที่เหนือกว่าคนทั่วๆไป
ดังนั้นการลืมคือคุณสมบัติที่ดีงามของมนุษย์ที่ช่วยให้มนุษย์ได้สร้างสรรค์สิ่งอื่นๆ โดยการทิ้งอดีตไว้ข้างหลังเพื่อก้าวไปข้างหน้า รวมทั้งการได้รับโอกาสจากสังคมที่ลืมเรื่องในอดีตเพื่อให้บางคนได้เริ่มต้นชีวิตใหม่
เมื่อเข้าสู่โลกของการใช้หน่วยความจำดิจิทัลเพื่อการช่วยจำ กลับกลายเป็นว่าเครื่องช่วยจำเหล่านี้ได้สร้างปัญหาให้กับโลกในอีกด้านหนึ่ง เพราะการที่หน่วยความจำดิจิทัลมีราคาถูกลงครึ่งหนึ่งในทุกสองปีตลอดเวลากว่าห้าสิบปีที่มีการผลิตหน่วยความจำแบบดิจิทัลออกสู่ตลาด รวมทั้งความจุของหน่วยความจำที่ได้เพิ่มขึ้นถึงกว่า 50 ล้านเท่า ทำให้การใช้หน่วยความจำดิจิทัลจดจำสิ่งต่างๆได้มากขึ้นในราคาที่ถูกลง
สิ่งที่เกิดขึ้นในโลกนี้ทั้งสิ่งดีงามและสิ่งไม่พึงประสงค์จึงถูกจดจำได้อย่างง่ายดายด้วยราคาที่ไม่แพง ประกอบกับศักยภาพของโครงข่ายอินเทอร์เน็ต สื่อสังคมออนไลน์ และเครื่องสืบค้น ที่คนทั้งโลกสามารถเข้าถึงได้ในชั่วพริบตาจึงทำให้ข้อมูลทั้งหลายที่เคยถูกเก็บไว้เฉพาะตัวถูกส่งผ่านไปยังโลกกว้างเพื่อแบ่งปันการจำให้คนทั้งโลกได้รับรู้ทั่วกันเพียงแค่เสี้ยวนาที
อินเทอร์เน็ตจึงเป็นเหมือน เครื่องถ่ายเอกสารที่ใหญ่ที่สุดในโลก เร็วที่สุดในโลกและถ่ายสำเนาสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลกเอาไว้เหมือนกับต้นฉบับอย่างไม่ผิดเพี้ยน
เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนผืนโลก ได้ถูกเก็บไว้บนหน่วยความจำที่เป็นเหมือนของสาธารณะและเป็นข้อมูลที่ใครจะเข้ามาขุดค้นด้วย เครื่องมือสืบค้น(Search engine) เมื่อใดก็ได้ อินเทอร์เน็ตจึงกลายเป็นเครื่องผลิตข้อมูลที่ทำลายได้ยากยิ่งและเป็นอุปสรรคสำคัญของผู้ที่ต้องการให้ความหลังที่เกิดขึ้นกับตัวเองถูกลืมไปจากโลก
การที่ข้อมูลซึ่งมีทั้ง ความจริง ความเท็จ ข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลเก่า รวมทั้งเรื่องราวจิปาถะของมนุษย์ ได้ถูกนำไปเผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์และอินเทอร์เน็ต จึงทำให้คนจำนวนหนึ่งออกมาเรียกร้องถึง “สิทธิในการถูกลืม” (Right to be forgotten) ซึ่งมีความหมายว่า สิทธิของปัจเจกบุคคลที่จะร้องขอให้อีกฝ่าย ซึ่งจะเป็นปัจเจกบุคคลก็ดีหรือองค์กรก็ดี ที่มีข้อมูลส่วนบุคคลของเขาไว้ในครอบครองทำการลบข้อมูลส่วนบุคคลของตนออกเสีย เนื่องจากไม่ยินยอมจะให้มีการใช้ข้อมูลนั้นอีกต่อไป
แม้ว่า “สิทธิในการถูกลืม” ได้กลายเป็นประเด็นที่ศาลแห่งสหภาพยุโรปตัดสินเมื่อปี 2014 กรณีผู้ฟ้องร้องต่อศาลในประเทศ สเปนให้บริษัท กูเกิล นำเนื้อหาส่วนบุคคลของผู้ฟ้องออกจากลิงค์เชื่อมโยงการค้นหา รวมทั้งให้แหล่งข่าวต้นทางให้เอาเนื้อหาส่วนบุคคลออกจากหน้าเพจทั้งหมด เพราะเนื้อหาดังกล่าวเป็นข้อมูลเก่าซึ่งไม่เป็นความจริงอีกต่อไป ซึ่งบริษัทกูเกิลต้องปฏิบัติตามหลักการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสหภาพยุโรป
กล่าวคือ บริษัทกูเกิลต้องนำเอาลิงค์ที่บรรจุหรือเชื่อมต่อไปถึงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ฟ้องออกภายใต้เงื่อนไขที่ว่า ข้อมูลเหล่านั้น ไม่ถูกต้อง ไม่เพียงพอ และไม่มีความเกี่ยวข้องอีกต่อไป หรือเกินเลยไปในแง่ของการประมวลผลข้อมูล
จากผลการตัดสินของศาลข้างต้นจะเห็นว่าแม้ว่าจะนำลิงค์และข้อมูลออกไปแล้วก็ตามก็มิได้หมายความว่าข้อมูลที่ถูกนำออกไปนั้นจะถูกลบออกไปจากฐานข้อมูลของทั้งแหล่งข่าวต้นทางและของบริษัทกูเกิลเอง ส่วนที่ถูกลบไปนั้นเป็นเฉพาะข้อมูลหน้าเพจและลิงค์ที่เชื่อมไปยังแหล่งข้อมูลเพื่อการค้นหา เท่านั้น ที่สำคัญคือยังมีข้อมูลที่เคยถูกดาวโหลดหรือเก็บไว้ด้วยคอมพิวเตอร์ต่างๆทั่วทุกมุมโลกและพร้อมที่จะกลับมากวนใจเจ้าของข้อมูลได้เสมอไม่วันใดก็วันหนึ่ง
แม้ว่าสหภาพยุโรปจะมีข้อบังคับ ที่ว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสหภาพยุโรปที่เรียกว่า ข้อบังคับเพื่อการป้องกันข้อมูลทั่วไป(General Data Protection Regulation) หรือ GDPR ที่พยายามสร้างมาตรฐานในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยระบุว่า องค์กรจะเก็บข้อมูลได้ก็ต่อเมื่อจำเป็น การนำไปใช้ต้องโปร่งใส และทำให้เจ้าของข้อมูลมีทางเลือกในการจัดการข้อมูลส่วนบุคคลของตัวเอง รวมทั้งยังมีคำว่าสิทธิที่จะขอลบข้อมูลอยู่ด้วย ก็ตาม ก็ไม่อาจเชื่อได้ว่าข้อมูลทั้งหลายจะถูกลบออกไปจากฐานข้อมูลต่างๆทั้งหมดที่ถูกบันทึกไว้ในหน่วยความจำที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปได้
นอกจากนี้นักวิชาการด้านการอภิบาลอินเทอร์เน็ตบางคนยังเห็นว่า “สิทธิในกาถูกลืม” นั้นมิใช่สิทธิเด็ดขาด แต่เป็นสิทธิที่ต้องมีการถ่วงดุลกับสิทธิอื่นๆ เช่นสิทธิในการเข้าถึงข้อมูล สิทธิในการแสดงออก และเสรีภาพของสื่อมวลชนเป็นต้น สิทธิในการถ่วงดุลเหล่านี้จึงอาจทำให้การทวง สิทธิในการถูกลืม ทำได้ไม่ง่ายนักเพราะมีช่องทางที่จะให้เกิดการโต้แย้งได้เช่นกัน
แม้ว่าวิธีการทางกฎหมายจะช่วยคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของเจ้าของข้อมูลและสามารถให้บุคคลขอใช้สิทธิในการถูกลืมได้ก็ตาม มาตรการเหล่านี้เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาได้ในระดับหนึ่งเท่านั้นและวิธีการกว่าจะได้มาซึ่งสิทธิในการถูกลืมไม่ใช่ของง่าย เพราะอาจต้องใช้เวลาระยะหนึ่งในการพิสูจน์ในชั้นศาลหากมีการโต้แย้ง รวมทั้งเป็นมาตรการการบังคับเฉพาะรายเท่านั้น
มาตรการดังกล่าวจึงไม่ใช่มาตรการเบ็ดเสร็จที่สามารถจะรับประกันได้ว่าข้อห้ามตามกฎหมายนั้นจะไม่มีการถูกละเมิดด้วยการนำข้อมูลนั้นกลับมาสู่ระบบอินเทอร์เน็ตอีกตราบใดที่ข้อมูลยังคงอยู่ในหน่วยความจำดิจิทัลและพร้อมเข้าสู่ระบบอินเทอร์เน็ตได้ตลอดเวลา
สิ่งที่น่าจะทำให้เกิดปัญหาในภายหน้าได้แก่.ข้อมูลประกอบ อื่นๆซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้ระบุชื่อของผู้เรียกร้อง สิทธิในการถูกลืม แต่ข้อมูลเหล่านี้สามารถที่จะเป็นเบาะแสสำคัญที่ระบบสืบค้นหรือใครบางคน สามารถนำสิ่งที่อยากให้ลืมกลับมาหลอกหลอนเราอีกก็เป็นได้
ดังนั้นความพยายามหนีอดีตในโลกของอินเทอร์เน็ตนั้น จึงเป็นความพยายามที่อาจไม่มีความสำเร็จเลยก็เป็นได้
เมื่อกว่ายี่สิบปีที่แล้ว เจ ดี ลาสิกา นักเขียนบทความบนสื่อสังคมออนไลน์ได้เขียนบทความชื่อ “ อินเทอร์เน็ต ไม่มีวันลืม ” ซึ่งให้ข้อคิดเกี่ยวกับการจดจำของอินเทอร์เน็ตไว้อย่างน่าสนใจตอนหนึ่งว่า
“ อดีตกำลังกลับมาทำให้เราเกิดอาการคันเหมือนกับรอยสักที่อยู่บนผืนหนังดิจิทัลของเรา”
และหากคำกล่าวนี้ยังคงเป็นความจริงก็หมายความว่า แม้ว่าเราจะพยายามใช้มาตรการทางกฎหมายหรือมาตรการทางเทคโนโลยีใดๆก็ตามมาลบล้างความจำในอินเทอร์เน็ตก็ไม่อาจจะทำได้ เว้นเสียแต่ว่าโลกนี้จะไม่มีอินเทอร์เน็ตอีกต่อไป ซึ่งก็เป็นไปไม่ได้เช่นกัน
สิ่งสำคัญที่จะป้องกันตัวเราจากการถูกจำในสิ่งไม่พึงประสงค์มีอยู่วิธีเดียวเท่านั้น นั่นคือเราต้องไม่ยอมให้รอยสักที่ไม่สวยงามเหล่านั้นจารึกอยู่บนผิวหนังดิจิทัลของเราเสียตั้งแต่แรก ดีกว่ากลับมาหาวิธีลบรอยสักนั้นในภายหลังซึ่งกระทำได้ยากยิ่งและไม่อาจทำให้เนื้อหนังนั้นกลับคืนมาสู่สภาพปกติได้ดังเดิม
แม้ว่าประโยค “ อินเทอร์เน็ตไม่มีวันลืม” จะกล่าวไว้ตั้งแต่ปี 1998 ก็ตาม ทุกวันนี้ยังมีผู้หยิบยกมากล่าวถึงเสมอเมื่อพูดถึงการไม่ลืมของอินเตอร์เน็ต และความพยายามแก้ปัญหาเพื่อขอคืน สิทธิในการถูกลืม นั้น อาจจะได้ผลเฉพาะส่วนยอดที่มองเห็นของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น ส่วนที่มองไม่เห็นซึ่งจมอยู่ใต้มหาสมุทรอีกจำนวนมหาศาลนั้นยังคงเป็นส่วนที่ไม่มีวันถูกลืม ตราบใดที่ยังมีอินเทอร์เน็ตอยู่บนโลก
อินเทอร์เน็ต เป็นเหมือนของวิเศษที่มนุษย์มอบให้กับมนุษย์ด้วยกันเอง ในขณะเดียวกัน อินเทอร์เน็ต ได้สร้างปัญหาใหญ่ให้กับมวลมนุษย์ทั้งโลกเช่นกัน อินเทอร์เน็ตจึงเป็นเหมือน “เครื่องช่วยจำที่ถูกสาป” ไม่ต่างจากโรค “ไฮเปอร์ธีมีเซีย ” ในโลกดิจิทัล ที่ยังคงไม่มียาใดสามารถรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้
อ้างอิง
Delete โดย Viktor Mayer- Schonberger
https://www.chula.ac.th/cuinside/2509/
https://www.sanook.com/news/7487002/
https://www.salon.com/1998/11/25/feature_253/
ภาพประกอบ
https://www.google.com/search?q=brain+and+internet&client=firefox-b&source=lnms&tbm=isch&sa=X&ved=0ahUKEwi864johobgAhUSUI8KHalkC6IQ_AUIDigB&biw=1025&bih=491#imgrc=zb5ZXMJE89mkfM: