ไทย...อาจยังไม่ได้ทำในสิ่งที่ต้องทำเรื่อง"ฝุ่นละออง PM2.5"
"...มาตรการข้างต้นนั้นประยุกต์ใช้กับเรื่องปัญหาฝุ่นได้เช่นกัน แต่รัฐควรปรับเปลี่ยนตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เช่น การร่วมมือกันระหว่างรัฐและเอกชนในการจัดหาให้ประชาชนในแต่ละพื้นที่ ทั้งในเรื่องการลงทุน การบริจาค การแสดงออกซึ่งความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการร้านค้าที่เกี่ยวข้องกับปัญหา ระบบการผลิต รวมถึงช่องทางการเข้าถึงที่ต้องมากกว่าสถานบริการสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นวัด โรงเรียน ตลาด ธนาคาร ฯลฯ..."
สิ่งที่ต้องทำคือ
หนึ่ง "รัฐควรประกาศให้ประชาชนทราบว่ามีความเป็นไปได้สูงที่เราจะเจอภาวะฝุ่นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ในอนาคตยามที่อากาศปิด เช่น ทุกช่วงหน้าหนาว"
เนื่องจากต้นตอปัญหาฝุ่นนั้นไม่ว่าจะเป็นน้ำมันดีเซลและการเผาไหม้น้ำมันไม่สมบูรณ์จากเครื่องยนต์ โรงงาน การเผาป่า การเผาของต่างๆ และอื่นๆ นั้น ล้วนยากต่อการแก้ไข และใช้เวลาระยะยาวในการจัดการ โอกาสที่จะเห็นปัญหาทุเลาในเวลาอันใกล้นั้นแทบเป็นไปไม่ได้
สอง "รัฐควรพัฒนาระบบให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึง"หน้ากากอนามัยที่ได้มาตรฐาน"ได้โดยถ้วนหน้า"
แม้รัฐประกาศมาตรการดูแลตนเองของประชาชนไปแล้ว เช่น ให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องต่างๆ ควบคู่ไปกับสภาวิชาชีพและอื่นๆ แต่ไม่ใช่จุดที่จะช่วยเยียวยาได้ดีนัก เนื่องจากเรื่องสำคัญคือทำอย่างไรให้คนมีอุปกรณ์ป้องกันตัว
ถามว่าเหตุใดจึงต้องมองเช่นนั้น คำตอบตรงไปตรงมาคือ ฝุ่นละอองขนาดเล็กนี้เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบวงกว้าง เฉกเช่นเดียวกับสมัยที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสเอชไอวีอย่างมากในสมัยพ.ศ.2530 เป็นต้นมา มาตรการที่จำเป็นและทำแล้วช่วยลดการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพคือ การที่รัฐประกาศนโยบายถุงยางอนามัย 100% โดยรณรงค์ให้ประชาชนใช้ถุงยางอนามัยยามที่มีเพศสัมพันธ์ และจัดหาถุงยางอนามัยคุณภาพมาตรฐานให้ประชาชนสามารถขอรับได้ในพื้นที่ใกล้บ้าน
มาตรการข้างต้นนั้นประยุกต์ใช้กับเรื่องปัญหาฝุ่นได้เช่นกัน แต่รัฐควรปรับเปลี่ยนตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เช่น การร่วมมือกันระหว่างรัฐและเอกชนในการจัดหาให้ประชาชนในแต่ละพื้นที่ ทั้งในเรื่องการลงทุน การบริจาค การแสดงออกซึ่งความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการร้านค้าที่เกี่ยวข้องกับปัญหา ระบบการผลิต รวมถึงช่องทางการเข้าถึงที่ต้องมากกว่าสถานบริการสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นวัด โรงเรียน ตลาด ธนาคาร ฯลฯ
สาม "รัฐต้องใช้คลังสมอง ตัดสินใจอย่างเป็นเอกภาพบนพื้นฐานทางวิชาการที่เชื่อถือได้จริงว่า หน้ากากชนิดใดกันแน่ที่เหมาะสมในการที่จะให้ประชาชนใช้ป้องกันตนเอง"
ข่าวสารจากหลากหลายแหล่งมั่วซั่วไปหมด จนยากที่จะปักใจเชื่อได้ว่าคำแนะนำใดถูกต้องและเหมาะสม
N95 ที่ใช้ทางการแพทย์นั้นคงมีประสิทธิภาพแน่ๆ แต่ยากในการนำไปใช้ในการปฏิบัติจริง เพราะราคาค่างวด และความอึดอัดในการใส่
หน้ากากชนิดอื่นๆ อาจมีประสิทธิภาพลดหลั่นกันลงมา รัฐอาจต้องพิจารณาภาพรวมให้ดีโดยชั่งน้ำหนักระหว่างประสิทธิภาพการกรอง ความเข้ากันได้กับวิถีชีวิต และราคาค่างวดที่ต้องลงทุน เพื่อเลือกคำแนะนำที่ดูจะคุ้มค่าและใช้ได้ในทางปฏิบัติจริงสำหรับประชาชนในระยะยาว
ไม่งั้นข่าวสารประเภทหน้ากากซ้อนด้วยทิชชู่ หรือแม้แต่ผลิตภัณฑ์พิลึกกึกกือหลายต่อหลายอย่างก็จะปรากฏอยู่ในสังคม สร้างความงุนงงในทางปฏิบัติแบบยาผีบอกดังที่เราเห็นตลอดมาและตลอดไป
สี่ "รัฐต้องจัดการห้ามปราม และดำเนินการระงับการให้ข่าวมั่ว" ไม่ว่าจะโดยสถาบันวิชาการ นักวิชาการ หรืออื่นๆ ที่นำเสนอหรืออ้างผลงานวิจัยที่ยังดูไม่ชัดเจน หรือกิจการร้านค้าเชิงพาณิชย์ที่พยายามใช้โอกาสเสนอขายสินค้าหวังเอากำไร
เอาแค่สี่เรื่องที่รัฐต้องทำ แต่ยังไม่ได้ทำ หากตัดสินใจทำตอนนี้ ประชาชนจะได้เตรียมตัวเตรียมใจ ปรับวิถีชีวิตให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปได้
ภาษาอังกฤษหรูๆ เรียกว่า "Resilience" หรือผมแปลแบบง่ายๆ ว่า การทำให้ประชาชนมีความสมรรถนะในการปรับตัวยามที่เกิดวิกฤติ
ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ที่มา : Thira Woratanarat
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://www.sanook.com