เครือข่ายภาคปชช.ค้านร่างพ.ร.บ.โรงงานฯ สนช.ตอบทำไม่ได้ เหตุครม.เป็นผู้เสนอ
องค์กรสิ่งแวดล้อม-ปชช.ยื่นคัดค้านร่าง พ.ร.บ.โรงงาน ฉบับบั่นทอนสิ่งแวดล้อม เรียกร้อง สนช.ถอนพิจารณาทันที -รอดำเนินการหลังรัฐบาลเลือกตั้ง
หลังจากเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2562 มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม - EnLAW และประชาชนจากจังหวัดเพชรบุรีและระยอง เข้ายื่นหนังสือต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คัดค้านร่างพระราชบัญญัติโรงงาน "ฉบับลดทอนมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและประชาชน" ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ (วาระ 2) พร้อมเรียกร้องให้ สนช. ถอนร่าง พ.ร.บ.โรงงาน ออกจากการพิจารณาโดยทันทีนั้น
ความคืบหน้าล่าสุด ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานประธานวุฒิสภา ระบุว่า ตามที่มีการเรียกร้องให้ถอนร่าง พ.ร.บ.โรงงานฯ ที่สนช.กำลังพิจารณานั้น ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจาก ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้ยื่น ดังนั้นผู้ขอถอนร่างต้องเป็น ครม.ซึ่งทางสำนักฯ ได้ทำรายงานที่ทางเครือข่ายฯ ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการพิจารณาร่างแล้ว
ทั้งนี้ คณะกรรมการพิจารณาร่างฯ จะทำรายงานสรุปให้เสร็จภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อเสนอต่อสนช.ชุดใหญ่พิจารณาต่อไป
อย่างไรก็ตาม ทางเครือข่ายภาคประชาสังคม 67 กลุ่ม/องค์กรกับ 34 บุคคลที่ร่วมลงชื่อคัดค้าน ด้วยเห็นว่าร่างแก้ไขพระราชบัญญัติโรงงานฉบับนี้จะมีผลกระทบต่อการลดทอนมาตรการสำคัญในการกำกับดูแลการประกอบกิจการโรงงาน การป้องกัน และการแก้ไขผลกระทบจากการประกอบกิจการของโรงงานต่างๆ ทั่วประเทศ และมุ่งเน้นแต่เพียงการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรม ซึ่งจะก่อความเสียหายรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และความปลอดภัยของประชาชนอย่างกว้างขวาง
สำหรับเหตุผลข้อห่วงกังวลสำคัญของเครือข่ายฯ ได้แก่
1) การแก้ไขนิยามทำให้ผู้ประกอบการสามารถก่อสร้างโรงงานได้ก่อนได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน
2) การแก้ไขนิยามทำให้โรงงานขนาดเล็กจำนวนมากหลุดจากการถูกกำกับควบคุมภายใต้ พ.ร.บ.โรงงาน
3) การแก้ไขให้ใบอนุญาตโรงงานไม่มีวันหมดอายุ ทำให้กระบวนการต่ออายุใบอนุญาตซึ่งต้องมีการตรวจสอบสภาพโรงงานถูกยกเลิกไป
4) การตัดทิ้งข้อเสนอเรื่องการบังคับให้ผู้ประกอบการต้องทำประกันภัยเพื่อเยียวยาความเสียหายที่อาจเกิดจากการประกอบกิจการโรงงาน
5) การเปลี่ยนแปลงระบบการตรวจสอบโรงงานให้ภาคเอกชนเข้ามาดำเนินการแทน จะเปิดโอกาสให้เกิดการร่วมกระทำผิดและความไม่โปร่งใสในระบบการตรวจรับรองสภาพโรงงาน
6) บทลงโทษโรงงานที่กระทำผิดยังไม่รุนแรงเพียงพอที่จะสามารถป้องปรามการกระทำผิดหรือทำให้เกิดความเคารพยำเกรงกฎหมายได้
ทั้งนี้ ทางเครือข่ายฯ เห็นว่า ประเทศไทยกำลังเดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้งในอีกไม่นาน การเสนอและพิจารณากฎหมายที่สำคัญและจะส่งผลกระทบมากเช่นนี้ จึงควรดำเนินการภายใต้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย ขณะเดียวกันฝ่ายนิติบัญญัติก็ควรมีเวลาเพียงพอที่จะพิจารณา ไตร่ตรอง และทบทวนอย่างรอบด้าน ก่อนเสนอความเห็นในการกลั่นกรองเพื่อให้ได้กฎหมายที่มีความถูกต้องและเป็นธรรมอย่างแท้จริง .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/