เมื่อตำรวจจับมือนักข่าวเป็นมิตรกับเด็ก
"...กฎหมายต่างระดับชั้น กำหนดหลักปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนไว้อย่างครบถ้วน หากแต่ที่เห็นและเป็นอยู่ กฎ-หลักทั้งหลายถูกฉีกและละเมิดอย่างเป็นปกติ ครั้งแล้ว ครั้งเล่า..."
พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 - พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550
- พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553
- คำสั่งตร. ที่ 0011.25/4976 ลง 19 พ.ย. 2546 กำกับการปฏิบัติเกี่ยวกับการนำเด็กมาให้ข่าว แถลงข่าว และนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ
"....ทั้งหมดนี้เป็นกฎหมายต่างระดับชั้น ที่กำหนดหลักปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนไว้อย่างครบถ้วน หากแต่ที่เห็นและเป็นอยู่ กฎ-หลักทั้งหลายถูกฉีกและละเมิดอย่างเป็นปกติ ครั้งแล้ว ครั้งเล่า..."
ด้วยเหตุนี้ การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “การทำข่าวที่เป็นมิตรกับเด็ก” จึงเกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ โดยสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ซึ่งมีองค์การยูนิเซฟแห่งประเทศไทย เป็นผู้สนับสนุน
อันเป็นวาระแรกที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ พนักงานสอบสวน 3 พ.ต.อ. 5 พ.ต.ท. 6 พ.ต.ต. 2 ร.ต.อ. ได้มาพบปะกับ 15 สื่อมวลชน เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ข้อจำกัด ความรู้ ความเข้าใจ แล้วหล่อหลอมออกมาเป็นทางออกของปัญหา ข้อเสนอแนะที่จะนำไปปฏิบัติได้จริง
เมื่อสองวิชาชีพมาพบกัน จึงเริ่มต้นด้วยการทำความรู้จักทักทาย ด้วยบรรยากาศที่สนุกสนาน ก่อนเข้าสู่การสำรวจทัศนคติ ต่อการนำเด็กมาเป็นข่าว
เพิ่มเติมด้วยการให้ความรู้ในข้อกฎหมาย เทคนิคในการปฏิบัติหน้าที่จาก วุฒิชัย พุ่มสงวน อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 6 สำนักงานอัยการสูงสุด และ พ.ต.อ.หญิง ปวีณา เอกฉัตร ผู้กำกับการกลุ่มงานสอบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 8
รวมไปถึงความรู้ในการเขียนข่าว เทคนิคการสัมภาษณ์ จาก ปรางค์ทิพย์ ดาวเรือง สื่อมวลชนอิสระ ข้อควรรู้ กรอบการทำงานที่ควรตระหนัก ปฏิบัติตามในทำข่าวและถ่ายภาพของสื่อมวลชนจาก สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา บรรณาธิการข่าว สถานีโทรทัศน์ PPTV HD 36 และมงคล บางประภา เลขาธิการ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ซึ่งทุกคนย้ำว่า เมื่อผู้เป็นข่าวคือเด็กจำต้องต้องใช้ความระมัดระวัง และความละเอียดอ่อนเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ยังมีข้อควรรู้ทางจิตวิทยาจาก 2 นักจิตวิทยา คือ วิมลรัตน์ ชัยปราการ จากรพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ และ วรภัทร แสงแก้ว จากรพ.ปทุมธานี
การแบ่งปันประสบการณ์ แลกเปลี่ยนทัศนคติระหว่างวิทยากรกับผู้เข้าร่วมสัมมนา และระหว่างผู้ร่วมอบรมด้วยกันเอง ไม่ว่าจะเป็นฟากตำรวจหรือฝั่งสื่อมวลชน บรรยากาศเป็นไปด้วยความคึกคัก
“ในเมื่อมีกฎหมายบัญญัติไว้ มีคำสั่งชัดเจน แต่ทำไมเรายังเห็นเหตุการณ์ที่ตำรวจในระดับผู้บังคับบัญชากองบังคับการ ข้าราชการฝ่ายปกครองระดับผู้ว่าราชการจังหวัด นักการเมืองระดับรัฐมนตรีนำเด็กมาแถลงข่าว ไม่ว่าจะในฐานะผู้เสียหาย หรือพยานก็ตาม”
นี่คือคำถามที่ทุกคนอยากรู้
“มันคือความล้มเหลวของระบบ”
เสียงสะท้อนจากมุมหนึ่งของห้องเป็นคำตอบ
ความล้มเหลวของการบังคับใช้กฎหมาย เป็นเรื่องสะสมมานานที่ใครๆ ก็รู้
“ผมแนะนำว่าถ้ามีเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก ควรมีการแจ้งความร้องทุกข์” อัยการวุฒิชัย ชี้ช่อง
ปฏิเสธไม่ได้ว่าวงจรความต้องการ คือหนึ่งในเหตุปัจจัยที่ทำให้การร่วมกันละเมิดกฎหมายเกิดขึ้น ความต้องการของแต่ละฝ่ายที่รวมกันแล้วก่อให้เกิดความหม่นมัวในสังคม
นักการเมือง-ตำรวจ-สื่อ ต่างมีความต้องการที่อยู่เบื้องหลังการแสดงออกแตกต่างกันไป แต่ผลของความต้องการนั้นไปตกกระทบอยู่ที่เด็ก จะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม
เป้าหมายของการสัมมนาเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้จึงมุ่งหาแนวทางปฏิบัติที่จะจัดการวงจรความต้องการนี้ให้เป็นไปด้วยความเหมาะสม และเป็นมิตรกับเด็กผู้เป็นศูนย์กลางของความเป็นไปทั้งหมด
ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและสื่อต่างเฟ้นหาข้อปฏิบัติที่พึงกระทำของทั้งสองฝ่ายออกมาได้หลายข้อเสนอ ซึ่งทุกคนอยากเห็นในความเป็นจริง แต่ฝั่งฝันนั้นยากจะไปถึงด้วยอุปสรรคสำคัญสามประการ นั่นคือ 1. ผู้บังคับบัญชา 2. การเอื้อประโยชน์ของกันและกัน 3. มีคนละเมิดกฎแล้วได้ประโยชน์ โดยไม่มีบทลงโทษ
นี่อาจเป็นเพียงบทสรุป ณ เวลานี้เท่านั้น เพราะเมื่อมีการสัมมนาลักษณะนี้ในครั้งต่อไป อาจมีความเปลี่ยนแปลงทำให้คำตอบสุดท้ายเปลี่ยนไปได้
พ.ต.อ.หญิง กัญญา แดนมะตาม ผู้กำกับการ (สอบสวน) กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ บอกถึงผลจากการเข้าร่วมครั้งนี้ว่า
“รู้สึกยินดีและสนับสนุนให้มีการสัมมนาแบบนี้อีก ในส่วนของกระบวนกร (บริษัท แบล็คบ็อกซ์ทีม จำกัด) ทำได้ดีมาก ในแต่ละกิจกรรมมีไม่มากหรือน้อยจนเกินไป
ในงานสัมมนานี้ทุกคนมีส่วนร่วมในกิจกรรมจึงทำให้อยากรู้ว่าต่อไปจะเป็นกิจกรรมอะไร จะต้องทำอะไรบ้าง เป็นการนำความรู้ที่เรามีและได้รับมาแชร์กัน โดยไม่ยึดติดว่าตัวเองทำหน้าที่อะไร
ยินดีที่จะส่งคนมาเข้าร่วมสัมมนาในครั้งต่อไป เนื่องจากเป็นงานสัมมนาที่ดี และสามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้หรือแบ่งปันให้คนอื่นๆ ต่อไปได้ ไม่ว่าจะเป็น เพื่อน คนในครอบครัว หรือคนในหน่วยงาน”
เช่นเดียวกับ จีระวัฒน์ สุขานนท์ ผู้สื่อข่าว หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
“งานสัมมนาในครั้งนี้จัดได้ค่อนข้างดี หัวข้อต่างๆ ก็ดี ทำให้ได้รับความรู้ที่หลากหลาย แต่อยากให้วิทยากรหลากหลายกว่านี้ และควรมีหลายๆ ฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ผู้ที่ดูแลเด็กโดยตรง นักสังคมสงเคราะห์ ตำรวจที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเด็กโดยตรง เป็นต้น และระยะเวลาในการจัดสัมมนาควรเพิ่มเป็น 3 วัน 2 คืน เพื่อที่จะได้รับความรู้มากขึ้น”
ครั้งแรกจบลงเพื่อส่งไม้ต่อให้ครั้งที่สอง และครั้งต่อๆ ไป จนกว่าภารกิจการคืนความศักดิ์สิทธิ์ของกฎและคำสั่งจะลุล่วง