ตรวจงาน1ปี! ผู้ว่าฯ 'ประจักษ์ บุญยัง' กับภารกิจจัดระบบวางฐานราก ยกเครื่อง สตง.ใหม่
"...ขณะนี้ สตง. ได้มีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลของทางกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) เพื่อตรวจสอบงานจัดซื้อจัดจ้างท้องถิ่น ซึ่งตรงนี้ได้รับความร่วมมือจาก สถ.เป็นอย่างดี ตอนนี้ได้รับรหัสเพื่อเข้าถึงข้อมูลต่างๆของ สถ.มาแล้ว ซึ่งจะทำให้ สตง.ตรวจเรื่องการเงินของท้องถิ่นได้ทั้งหมดว่าเป็นอย่างไรบ้าง ครอบคลุมไปมากกว่าเรื่องทุจริตด้วย และการตรวจสอบก็จะมีความรวดเร็วมากขึ้นกว่าการตรวจด้วยเอกสารเพียงอย่างเดียว.."
นับเป็นระยะเวลาเกือบปีเศษแล้ว ที่ 'ประจักษ์ บุญยัง' ข้าราชการลูกหม้อของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน พร้อมแบกรับภารกิจการเป็นแม่ทัพใหญ่ กำกับดูแลงาน สตง. ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในดูแลป้องกันการใช้จ่ายเงินแผ่นดินของประเทศชาติ
น่าสนใจว่า ในช่วงเวลาระยะเวลาปีเศษที่ผ่านมา มีอะไรเกิดขึ้นกับ สตง. ภายใต้การบริหารงานของ ผู้ว่าฯ สตง. ที่ชื่อ ประจักษ์ บุญยัง คนนี้บ้าง
"หลักการในการทำงานของสตง. ยังคงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง คือ การปกป้องรักษาเงินแผ่นดิน ซึ่งเป็นเงินภาษีประชาชนให้มีการใช้จ่ายอย่างคุ้มค่ามากที่สุด"
ผู้ว่าฯ สตง. กล่าวยืนยันกับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงแนวทางการบริหารงาน สตง.ในยุคปัจจุบัน
ก่อนจะขยายความเพิ่มเติมว่า "ณ เวลานี้ว่าต้องยอมรับว่ามีเรื่องร้องเรียนที่เข้ามาสู่ระบบนั้นเยอะมาก ก็เลยต้องมีการจัดระบบ ปรับโครงสร้าง การบริหารงานใหม่ จัดลำดับความสำคัญของเรื่องที่เราจะต้องรีบดำเนินการ อย่างไรก็ดี ปัจจุบันสตง.มีภารกิจเร่งด่วนที่ต้องรีบดำเนินการ คือ การตรวจสอบงบการงานของหน่วยงานราชการให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ว่าด้วยวินัยการเงินการคลัง ซึ่งก็คือภายใน 180 วัน หรือภายในช่วงปลายเดือน มี.ค.ต้องให้แล้วเสร็จ ขณะที่จึงต้องมีการปรับอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ทุกส่วนไปช่วยกันระดมทำงานให้เสร็จสิ้นตามกำหนด รวมถึงหน่วยสืบสวนด้วย และเมื่อตรวจเรื่องการเงินครบถ้วนแล้ว ก็จะมาทำงานด้านตรวจการจัดซื้อจัดจ้างอย่างเต็มที่ต่อไป คาดว่าภายในช่วงครึ่งปีหลังจากที่ตรวจสอบงบการเงินหน่วยงานรัฐต่างๆเสร็จสิ้นแล้ว สตง. จะเริ่มดำเนินการตรวจสอบเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างได้มากขึ้น
"ในการตรวจสอบงบการเงินของหน่วยงานรัฐต่างๆนั้น การทำหน้าที่ของ สตง.นั้นเมื่อก่อนจะตรวจได้แค่ 5 ปี ได้ 1 รอบ ก็คือประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ใน 1 ปีเท่านั้น แต่ตอนนี้คือ 1 ปีต้องตรวจให้ได้เสร็จหมดครบ 100 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 180 วันนับตั้งแต่ปีงบประมาณ ก็เลยต้องทำงานกันหนักมาก ในส่วนของการตรวจสอบงบการเงินในท้องถิ่นบางจังหวัดที่มีเจ้าหน้าที่น้อย สตง.ก็ต้องมีการดึงคนจากจังหวัดอื่นมาช่วยเพื่อการตรวจสอบก่อน ซึ่งตอนนี้ภารกิจหลักของ สตง.คือ ต้องตรวจรายงานการเงินให้เสร็จภายในช่วง 6 เดือนแรกของปีนับจากปีงบประมาณ ก็ต้องดูว่าจะทำได้มากน้อยแค่ไหน แต่ขอยืนยันว่าตอนนี้ทำเต็มที่แล้ว ส่วนกรณีที่มีข้อครหาร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆนั้น เวลาที่ สตง.ตรวจสอบงบการเงินในหน่วยงานนั้นๆก็จะมีการเอาข้อครหามาเป็นข้อสังเกตด้วย" ผู้ว่าฯ สตง.ระบุ
"ส่วนเรื่องในอนาคตจนถึงในปี 2563 สตง.ได้วางแผนเอาไว้ว่ารัฐวิสาหกิจที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ไม่ว่าจะเป็นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) จะให้เขาหาผู้สอบบัญชีภายนอกได้ไหม เพราะสตง.ได้เคยเติมเอาไว้ใน พ.ร.บ.วินัยฯว่าให้ใช้ผู้สอบบัญชีที่ สตง.เห็นชอบ ดังนั้น ถ้าสามารถเปิดให้เอาผู้สอบบัญชีภายนอกเข้ามาทำหน้าที่ แม้ว่าจะเสียค่าจ้างแพงกว่า แต่หน่วยงานเหล่านี้ เขาก็มีศักยภาพจ่ายได้ จะเป็นการแบ่งเบาภาระของรัฐตามไปด้วย"
ผู้ว่าฯ สตง. ยืนยันว่า อย่างไรก็ดี ในขั้นตอนการตรวจงบการเงินของหน่วยงานรับตรวจนั้น จะมีการตรวจสอบเรื่องความผิดปกติในการใช้จ่ายเงินไปในตัวด้วย ถ้าหากพบว่ามีเรื่องส่อว่าจะมีการทุจริตก็จะดำเนินการตรวจสอบกันต่อ แต่ถ้าเรื่องไหนไม่ถึงขั้นการทุจริต แค่ไม่ถูกระเบียบ ทางเจ้าหน้าที่ สตง.ก็จะแจ้งให้หน่วยงานรับตรวจดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องไปเลย ส่วนเรื่องร้องเรียนต่างๆ ก็ให้มีการติดตามเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
"ต้องยอมรับว่ากลุ่มเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่สืบสวนเรื่องพัสดุตอนนี้นั้นยุบมาเหลือ 3 สำนักแล้ว จะส่งผลทำให้การติดตามคำร้องที่มายัง สตง.ก็อาจจะเกินกำลังไปแล้ว แต่บางเรื่องที่ปรากฏเป็นข่าวที่สำคัญ ผมก็จะมีการไลน์แจ้งไปยังผู้อำนวยการส่วนต่างๆเพื่อให้ติดตามผลต่อไป เช่นเรื่องตั๋วรถเมล์ รถไฟเป็นต้น"
ทั้งนี้ แม้ว่าในภาพรวมสตง.จะประสบปัญหาเรื่องอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ในการทำงานสืบสวน แต่ สตง. ก็พยายามหาช่องทางการเชื่อมต่อฐานข้อมูลหน่วยงานรัฐอื่นๆ เพื่อมาเสริมศักยภาพในการทำงานตรวจสอบของเจ้าหน้าที่มากขึ้น
ผู้ว่าฯ สตง. เล่าให้ฟังว่า โดยขณะนี้ สตง. ได้มีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลของทางกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) เพื่อตรวจสอบงานจัดซื้อจัดจ้างท้องถิ่น ซึ่งตรงนี้ได้รับความร่วมมือจาก สถ.เป็นอย่างดี ตอนนี้ได้รับรหัสเพื่อเข้าถึงข้อมูลต่างๆของ สถ.มาแล้ว ซึ่งจะทำให้ สตง.ตรวจเรื่องการเงินของท้องถิ่นได้ทั้งหมดว่าเป็นอย่างไรบ้าง ครอบคลุมไปมากกว่าเรื่องทุจริตด้วย และการตรวจสอบก็จะมีความรวดเร็วมากขึ้นกว่าการตรวจด้วยเอกสารเพียงอย่างเดียว
"นอกจากนี้ สตง.ยังพยายามจะเชื่อมต่อไปยังฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของกระทรงมหาดไทย ซึ่งจะโยงไปถึงข้อมูลของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อาทิ เรื่องคนพิการต่างๆ ข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ กรมศุลกากร แต่ตรงนี้ยังเป็นปัญหาอยู่เพราะกระทรวงมหาดไทยยังไม่ยอมให้โดยตรง เพราะเป็นข้อตกลงของกระทรวงมหาดไทยกับหน่วยงานต่างๆ แต่กระทรวงมหาดไทยก็แจ้งตอบกลับมายัง สตง.ว่าการเปิดข้อมูลตรงนี้นั้นจะต้องได้รับการอนุญาตจากหน่วยงานต่างๆก่อน ถึงจะใช้ได้ ดังนั้น สตง.ก็จะทยอยไปคุยกับหน่วยงานต่างๆเพื่อให้ได้คำอนุญาตในการเปิดข้อมูลตรงนี้ตอนนี้เพิ่งเริ่มคุยเพื่อขอคำอนุญาตจากทางกระทรวงแรงงาน อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าแม้แต่กระทรวงมหาดไทยเองก็อาจจะไม่มีข้อมูลทั้งหมดไว้ในทะเบียนราษฎร์ เช่นเรื่องการเสียภาษีก็ไม่มีรายละเอียดตรงนี้ สตง.ก็ต้องไปขอข้อคำอนุญาตจากทางสรรพากร รวมไปถึงฐานข้อมูลกรมบัญชีกลาง ถ้าทำได้ข้อมูลต่างๆมันก็จะขึ้นหมดเลย"
ผู้ว่าฯ สตง. ยังระบุด้วยว่า "ต้องยอมรับว่าเจตนารมย์กฎหมายใหม่นั้นดี อย่างเช่นเรื่องการที่หน่วยรับตรวจต้องมาสอบถาม สตง.ก่อนก็เพื่อป้องกันไม่ให้ไปทำผิดแล้วเป็นปัญหา ดังนั้น สตง.ก็ต้องทำหน้าที่ตอบคำถามหน่วยงานต่างๆเพื่อให้เขาทำงานให้ถูกต้อง แต่ความเป็นจริงก็คือ สตง.นั้นต้องทำตามกฎหมายด้วย ซึ่งเจตนาของกฎหมายใหม่นั้นก็เป็นเจตนาที่ดีที่ต้องการจะให้หน่วยงานต่างๆมาถาม สตง.หากมีข้อสงสัยหรือประเด็นที่เขาไม่มั่นใจว่าจะถูกกฎหมาย เพื่อให้ สตง.ตอบจะได้ไม่ต้องไปทำอะไรที่มันสุ่มเสี่ยงต่อความผิด"
"ตอนนี้ สตง.กำลังจัดทำรายละเอียดแยกหมวดหมู่เรื่องที่ถามมาไว้จะได้นำไปขึ้นเว็บว่ามีการตอบในเรื่องอะไรไปแล้วบ้าง เขาจะได้ไม่ต้องมาถามเรื่องซ้ำเดิม เพราะว่าบางกรณีนั้นหน่วยงานที่นำเงินไปใช้เขาก็ไม่ได้ทุจริตเพราะใช้จ่ายเงินจริงตามวัตถุประสงค์ มันไปผิดหลักบางอย่าง"
"ยกตัวอย่างเมื่อก่อนนั้นโรงเรียนจะจัดงานวันเด็ก แต่กลับไปจัดกันวันศุกร์แทนที่จะเป็นเสาร์ที่ 2ของเดือน เมื่อก่อน สตง.เรียกงบตรงนี้กลับหมดเลย เพราะไปมองว่ามันจัดไม่ตรงวันทั้งๆที่ความเป็นจริงแล้วจัดงานวันเด็กกันตอนวันศุกร์นั้นได้ประโยชน์กว่าเพราะเด็กยังอยู่ที่โรงเรียน ขณะที่วันเสาร์เด็กก็ไปที่อื่น ดังนั้น สตง.ก็จะต้องให้คำตอบตรงนี้ว่ามันจัดได้ แต่ก็มีเงื่อนไขว่าห้ามจัดศุกร์แล้วมาจัดเสาร์อีกทีหนึ่ง จัดได้ครั้งเดียว หรืออย่างวันสงกรานต์ บางที่เขาก็จัดงานกันวันไหลซึ่งเป็นวันหลัง 13 14 15 เขาจัดงานจริง แต่สตง.จะไปเอางบคืนมาจะทำอย่างไรก็เขาใช้จ่ายจริง ดังนั้น สตง.ก็ต้องให้คำตอบต่อข้อสงสัยงานประเพณีต้องจัดได้ แต่อย่าไปจัดงาน 13 14 15 แล้วก็รวมวันไหลอีกเป็น 6 วันอันนี้ทำไม่ได้ หรือเมื่อก่อนก็มีกรณีว่าจะขอจัดงานบุญบั้งไฟ ซึ่งเป็นประเพณีบุญบั้งไฟกันที่ จ.สตูล ที่อยู่ภาคใต้ ตรงนี้ สตง.ก็ไปท้วงอีก แต่ปรากฏว่ามันเป็นงานของคนในหมู่บ้านเขาที่ส่วนมากเป็นคนมาจากภาคอีสาน"
"ดังนั้นเรื่องเหล่านี้ก็ต้องมาพูดคุยกันว่าจะดูอะไรบ้าง ต้องมาคุยในหลักการว่าอะไรที่เห็นควรว่าเป็นเรื่องของท้องถิ่นแล้วมันเบิกจ่ายได้ สถ.ก็ไปออกหลักการมา ซึ่งตรงนี้เขาก็ออกหลักการที่เกี่ยวข้องมาเยอะแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม การทำงานของ สตง. โดยผู้ตรวจสอบของ สตง.ที่จะลงไปทำหน้าที่นั้น จะต้องเอาหลักประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ประกอบกับการยึดหลักกฎหมายไปด้วย ถ้าอะไรที่สนับสนุนงบประมาณไปแล้วเขาไม่เกิดประโยชน์ สตง.ก็ไม่ต้องให้ตรงนี้ แต่ถ้ามันเป็นสิ่งที่เกิดประโยชน์ก็ต้องมาคุยกันเพื่อออกหลักการให้ถูกต้อง"
ผู้ว่าฯ สตง. ยังกล่าวต่อว่า อีกเรื่องที่ สตง.กำลังเล็งว่าจะทำ ก็คือ การเผยแพร่ผลการตรวจสอบต่างๆให้ประชาชนได้รับทราบ จะมีการยกระดับในเรื่องศูนย์ข้อมูลข่าวสาร ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ
"ตอนนี้มีการหารือกับทางสำนักประชาสัมพันธ์อยู่ แต่ก็มีข้อมูลบางอย่างบางเรื่องที่อาจจะไม่สมบูรณ์ จนนำเข้าสู่ระบบได้ บางทีก็เป็นเพราะว่าบางเรื่องต้องโยงไปถึงข้อมูลที่มันเก่ามาก แต่ก็ได้มีการหารือกันว่าอะไรที่เป็นงานเด่นๆก็ให้ทำสรุปมาเลย ประชาชนจะได้รับทราบข้อมูลว่าเป็นอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมา สตง.ถูกจำกัดด้วยข้อกฎหมายว่าห้ามเผยแพร่ข้อมูลที่ยังไม่เสร็จ และการเผยแพร่ข้อมูลก็ต้องเป็นไปตามระเบียบ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ตอนนี้ก็เริ่มมีหลักการออกมาเบื้องต้นแล้วว่ายังคงให้เผยแพร่ข้อมูลเรื่องการตรวจสอบที่เสร็จแล้วเหมือนเดิม ยกเว้นว่าเรื่องนั้นมองแล้วมันทำให้เกิดความเสียหาย"
ส่วนเรื่องการร้องเรียนต่างๆ นั้น ผู้ว่าฯ สตง. ระบุว่า ได้ปรับปรุงระบบการร้องเรียนเรื่องต่างๆด้วย โดยล่าสุดมีข้อสั่งการไปแล้วว่า หากมีกรณีที่จะมีกลุ่มคนมาร้องเรียนต่อ สตง.ในเรื่องใหญ่ๆ ก็จะมีการสั่งการให้เจ้าหน้าที่ สตง.ที่มีส่วนรับเรื่องร้องเรียนเข้าไปดูในหน่วยงานที่เป็นหน่วยรับตรวจที่เป็นหน่วยรับผิดชอบ เพื่อจะดูว่าในแผนงานประจำปีนั้น สตง.เคยได้มีแผนจะไปตรวจสอบเรื่องนี้หรือไม่ แต่ก็ต้องยอมรับว่ากลุ่มคนที่มาร้องเรียนนั้นอาจจะร้องเรียนแล้วเรื่องนั้นมันไม่ได้อยู่ในแผนตรวจสอบของ สตง. ก็ให้รับเรื่องเอาไว้เข้าไปในสำนักตรวจสอบพิเศษ เพื่อให้มีการสั่งการพิเศษ ไม่ใช่ว่าปล่อยแค่เรื่องให้ดังแค่วันที่คนมาร้องเรียนอย่างเดียวเท่านั้น
"ที่ผ่านมาสิ่งที่ผมทำ คือการจัดระบบการทำงาน วางรากฐานใหม่ เพื่อให้สตง. สามารถทำงานได้อย่างมีระบบมากขึ้น เมื่อทุกอย่างลงตัวเรียบร้อย จะเป็นประโยชน์ต่อระบบงานของ สตง.ในอนาคต แต่ไม่ว่าระบบใหม่จะเป็นอย่างไร สิ่งสำคัญที่ สตง. เรายังยึดมั่นไม่เปลี่ยนไปจากเดิม ก็คือ ปกป้องการใช้จ่ายเงินแผ่นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติมากที่สุด"
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/