ผอ.เนคเทค เล็งพัฒนาต่อยอด ‘เอไอสัญชาติไทย’ ให้ใช้ประโยชน์ระดับชาติได้จริง
คณะผู้บริหารหลักเนคเทค ให้สัมภาษณ์พิเศษ เผยทิศทางการบริหารงาน วาระ 4 ปี ผลักดัน 8 กลุ่มเป้าหมายหลัก คาด 3 แพลตฟอร์ม เห็นผลปี 2562
ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิสก์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือเนคเทค พร้อมคณะผู้บริหาร ประกอบด้วย ดร.อลิสา คงทน ดำรงตำแหน่ง รองผู้อำนวยการฯ กำกับดูแลและรับผิดชอบด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และเซนเซอร์อิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ รองผู้อำนวยการฯ กำกับดูแลและรับผิดชอบด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบและเครือข่ายอัจฉริยะ และดร.กัลยา อุดมวิทิต รองผู้อำนวยการฯ กำกับดูแลและรับผิดชอบด้านบริหาร ให้สัมภาษณ์พิเศษสื่อมวลชน ณ ห้องประชุม ชั้น 7 อาคาร สวทช. ถนนโยธี กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเปิดเผยทิศทางการบริหารงานเนคเทคต่อจากนี้
และในโอกาสเข้าดำรงตำแหน่งผอ.เนคเทค มาครบ 3 เดือน ดร.ชัย ระบุถึงสิ่งที่จะเร่งผลักดัน 8 กลุ่มเป้าหมายหลักที่เป็นรากฐานสำคัญของเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศของประเทศ
“แพลตฟอร์มที่จะเห็นผลในปี 2562 ได้แก่ แพลตฟอร์มบูรณาการข้อมูลประชากร เอไอสัญชาติไทย และการศึกษาอัจฉริยะ”
สำหรับการบูรณาการข้อมูลประชากร จะปรับใช้ข้อมูลประชากร เพื่อวางแผนยุทธศาสตร์ชาติ เป็น Big Data ระบบวิเคราะห์ข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศ ที่เชื่อมโยงฐานข้อมูลสำคัญของประชากรและโครงการยุทธศาสตร์ชาติเพื่อวิเคราะห์ผลลัพธ์ แสดงผล และขยายผลเพื่อสร้างนวัตกรรมขยายตัวต่อไป
โดย Thai Poverty Map and Analytics Platform: TPMAP คือระบบ Big Data ของภาครัฐที่สามารถระบุได้ว่า คนจนอยู่ที่ไหน มีปัญหาในมิติอะไรบ้าง ซึ่งข้อมูลที่ได้จะเป็นประโยชน์ สำหรับผู้กำหนดนโยบายและหน่วยงานแก้ไขปัญหาในพื้นที่ให้สามารถออกนโยบายแก้ปัญหาได้ตรงจุด
เกษตรแม่นยำ ผ่านเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตสรรพสิ่ง (Internet of Things: IoT) คือ การวางแผนใช้ที่ดิน โดยภาครัฐใช้ในการส่งเสริมแนะนำการปลูกพืชในที่ต่างๆ และเนคเทคมีนักวิจัยอีกชุดที่ลงไปทำงาน ซึ่งแพลตฟอร์มเพื่อเกษตรแม่นยำ ประกอบด้วยอุปกรณ์ ระบบและเอไอ พร้อมสำหรับการติดตั้งใช้งานพื้นที่การเกษตรในงบการลงทุนที่เป็นไปได้สำหรับเกษตรกรรายย่อย
ซึ่งมีตัวอย่าง การทำโรงเรือนแบบปิด Plant factory โครงการที่ร่วมกับ มิตรผล ประเมินสุขภาพของอ้อย เป็นต้น
ขณะที่อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ของไทยยังอยู่ในระดับ 2.0 อยู่หลายแห่ง และอุตสาหกรรมหลายแห่งต้องการจะขยายตัวเองให้อยู่ในระดับ 3.0 และนี่คือภาระสำคัญของเนคเทค อุตสาหกรรมอัจฉริยะ (Industry 4.0) ที่ดร.ชัย บอกว่า จะต้องให้ความรู้ และเตรียมระบบนิเวศ (Ecosystem) ให้เหมาะสม โดยแพลตฟอร์มอุตสาหกรรมอัจฉริยะประกอบด้วยอุปกรณ์สมองกลฝังตัวแยกเป็นส่วนๆ ใช้ในการตรวจจับหรือวัดค่าพารามิเตอร์ต่างๆ ในโรงงานอุตสาหกรรม เชื่อมโยงข้อมูลเข้าสู่ศูนย์กลางเพื่อใช้ในการบริหารโรงงาน
ในส่วนของ ‘เอไอสัญชาติไทย’ เนคเทคเป็นหนึ่งในองค์กรที่จะทำให้เอไอเป็นระดับที่ใช้ประโยชน์ในระดับชาติให้ได้
"จากแพลตฟอร์มให้บริการ AI ที่รองรับการประมวลผลภาษาไทย เสียง และรูปภาพ วิเคราะห์ Sentiment /chat bot /Text/Speech, versual Assitance, การวิเคราะห์ภาพ Face object recognition, พัฒนาเทคโนโลยีในอนาคต, ควอนตัมเทคโนโลยี, เทราเฮริต์ซึ่งเป็นคลื่นความถี่ใหม่ถูกค้นพบและมีคุณสมบัติพิเศษทะลุทะลวงได้หมดโดยไม่ทำลายเนื้อเยื่อ โดยเนคเทคจะนำมาต่อยอดด้านอาหารและการแพทย์ด้วย รวมไผถึงเทคโนโลยีควอนตัม"
เซนเซอร์คุณภาพสูง เนคเทคยังคงเดินหน้าพัฒนาให้เป็นเซ็นเซอร์ ที่สร้างเป็นเทคโนโลยีขึ้นมา โดยมีเป้าหมายว่า จะทำอย่างไรให้เกิดการขยายผลผลิตให้ได้เป็นแสนชิ้น เป็นเซนเซอร์เฉพาะด้านที่มีคุณภาพสูง และสามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติได้
ไอทีเพื่อสุขภาพ เป็นแนว Big Data ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของสุขภาพและสุขภาวะ อย่างเช่นงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้ข้อมูลรับส่งผู้ป่วย เรื่องโภชนาการ และสร้าง Big Data ข้อมูลเด็ก ThaiSchoolunch+KidDiary
การศึกษาอัจฉริยะ เนคเทคทำในเรื่องอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และระบบสารสนเทศที่สนับสนุนการเรียนของคนตลอดช่วงชีวิต ระบบการศึกษาออนไลน์แบบเปิดเพื่อมหาชน (Massive Open Online Courses : MOOC) แพลตฟอร์มวัฒนธรรมแบบเปิด ระบบตรวจการคัดลอกเอกสาร พจนานุกรมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือการเรียน STEM เช่น บอร์ดสมองกลฝังตัว KidBright, เลนส์มิวอาย (MuEye)
เมืองอัจฉริยะ (Smart City) ถือเป็นงานต่อเนื่องมาตั้งแต่ Smart ภูเก็ต และ Smart เชียงใหม่ เชื่อว่า Smart City จะเกิดขึ้นในอีกหลายจังหวัด โดยเป็นแพลตฟอร์มรวบรวม ประมวล วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเมือง เพื่อให้เกิดความน่าอยู่และเพิ่มคุณภาพชีวิต เน้นแพลตฟอร์มสำหรับการแก้ปัญหาจราจรและเพิ่มความปลอดภัยของเมือง และแพลตฟอร์มสำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการด้านขยะและสิ่งแวดล้อม
"แพลตฟอร์ม Smart City พยายามที่จะสร้างแพลตฟอร์มแก้ปัญหาจราจร เพิ่มความปลอดภัยเมือง อย่างเช่นโครงการที่ทำใน Smart ภูเก็ต ได้มีการไปติดตั้ง CCTV การประมวลผลภาพเพื่อป้องกันอาชญากรรมเชิงรุก และพัฒนาระบบบริหารจัดการขยะ และสิ่งที่ขาดไม่ได้ในเรื่องของข้อมูล หากได้ข้อมูลของพื้นที่ในหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลของประชากร ข้อมูลเชิงพื้นที่ต่างๆ จะทำให้ข้อมูลเหล่านี้เป็นลักษณะของแพลตฟอร์มที่จะบูรณาการข้อมูลจากหลายที่เข้ามา และสุดท้ายจะดึงข้อมูลออกมาในลักษณะเป็นกราฟิก เห็นข้อมูลแบบ Real-Time ได้ด้วย"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
“เว็บไซต์ TPMAP” แพลต์ฟอร์มบิ๊กดาต้า แก้ยากจน ระบบพัฒนาคนแบบชี้เป้า