สมหมาย ภาษี:การสูญเปล่าของงบประมาณปี 2563
"...การที่ต้องปล่อยให้ข้าราชการประจำเป็นผู้จัดทำแทบทั้งหมด มันจึงเป็นเรื่องสูญเปล่าอย่างสิ้นเชิง คือเงินภาษีที่จัดเก็บจากประชาชน รวมกับเงินกู้ก้อนมหึมา จะไม่ได้มีการจัดสรรเพื่อสนองนโยบายที่ควรจะเป็นตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแต่อย่างใด..."
ทันทีที่คณะรัฐมนตรีชุด คสช. ได้ประกาศวงเงินงบประมาณปี 2563 (ตุลาคม 2562 – กันยายน 2563) ประชาชนคนไทยผู้เสียภาษีจำนวนไม่น้อยก็ได้แสดงความเป็นห่วงกับวงเงินงบประมาณที่รัฐบาลจะจัดสรรมาบำบัดทุกข์บำรุงสุขของประชาชนในชาติจำนวน 3.2 ล้านล้านบาท โดยมีงบขาดดุลถึง 450,000 ล้านบาท
การกำหนดงบประมาณเช่นนี้และต้องออกมาในช่วงต้นปีนี้ก็เพื่อให้มีหลัก มีวงเงินในการจัดทำงบประมาณ ซึ่งต้องใช้เวลาทั้งสิ้นถึง 8 เดือนล่วงหน้าก่อนจะพิจารณาให้เสร็จเป็นงบประมาณแผ่นดินที่สมบรูณ์ในเดือนสิงหาคม 2562 เป็นอย่างช้า แล้วประกาศในราชกิจจานุเบกษา หากมองวันที่งบประมาณปี 2563 ถูกประกาศใช้ย้อนกลับมาถึงปัจจุบัน ที่ยังไม่สามารถกำหนดวันเลือกตั้งที่ชัดเจนได้ และยังมองไม่เห็นว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีภูมิความรู้และวิสัยทัศน์ที่สูงพอที่จะนำพาประเทศให้เดินหน้าอีกปีด้วยงบประมาณ 3.2 ล้านล้านบาท และจะเป็นผู้ที่จะมีอำนาจใช้เงินงบกลางจำนวนไม่เกิน 3.5% ของงบประมาณ หรือประมาณ 112,000 ล้านบาท ในปีงบประมาณหน้านี้ คือ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 หลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่
เมื่อดูปฏิทินการเลือกตั้งเทียบกับปฏิทินการจัดทำงบประมาณแล้ว คาดว่ารัฐบาลใหม่จะเข้ามาบริหารประเทศได้อย่างเร็วที่สุดไม่เกิน 1 - 2 เดือน ก่อนงบประมาณปี 2563 ประกาศใช้ ขึ้นอยู่กับว่าการเลือกตั้งทั่วไปจะจัดขึ้นได้ในวันที่ 24 มีนาคม นี้หรือไม่
ดังนั้นผู้ที่ประชาชนเจ้าของประเทศที่แท้จริงจะเลือกขึ้นมานั้น ถ้าไม่ใช่พรรคพลังประชารัฐแล้ว พรรคอื่นใดที่อาจสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย หรือพรรคประชาธิปัตย์ จะไม่มีโอกาสเข้าไปรู้เห็นหรือนำนโยบายของตนที่ไปหาเสียงอย่างสุดกำลังขณะนี้ ให้เข้าไปอยู่ในงบประมาณปี 2563 ได้เลย
พูดแบบง่ายๆ คือ ออกแรงหาเสียงไปก็ไร้ค่า ได้แต่หาเสียงโม้ไปปาวๆ แต่ไม่มีน้ำยาที่จะนำนโยบายที่คุยฟุ้งให้ประชาชนฟัง ไปแปลงเป็นเม็ดเงินงบประมาณได้แต่อย่างใดไม่ เพราะพรรคการเมืองทั้งหลายที่ปรากฎตัวให้เห็นในขณะนี้ ไม่ใช่เป็นผู้กำกับจัดทำงบประมาณที่กำลังจะออกมาใช้
แต่อย่าเพิ่งเข้าใจว่าพรรคพลังประชารัฐ แม้จะได้รับเลือกตั้งให้เข้ามาบริหารประเทศ จะสามารถจัดทำงบประมาณตามนโยบายของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะสามารถจัดงบลงไปสู่รากหญ้าได้มากมายให้ลืมตาอ้าปากได้ จะสามารถมาจัดงานเข้าไปสร้างสิ่งจำเป็นด้านบริการสาธารณสุข เพื่อยกระดับการรักษาพยาบาลให้สูงขึ้นอย่างที่ประชาชนต้องการ หรือจะสามารถจัดงบกระจายความเจริญไปสู่ท้องถิ่นให้เป็นเรื่องเป็นราวได้มากกว่าเดิม และแม้กระทั่งการตัดทอนงบมากมายที่ไม่จำเป็น เช่น งบซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ด้านทหาร ให้ลดน้อยลงกว่าเดิมได้ ขอท่านผู้อ่านอย่าได้ไปคิดไปหวัง เพราะสมาชิกพรรคนี้ก็ต้องทำการหาเสียงตัวเป็นเกลียวเช่นกัน มิหนำซ้ำ คนเป็นหัวหน้าพรรคยังนั่งเป็นรัฐมนตรีอยู่ด้วย จะเอาเวลาที่ไหนมานั่งดูงบประมาณปีหน้า
เห็นชัดแล้วใช่ไหมครับว่า เรื่องนโยบายที่ควรทำเป็นอย่างยิ่งอย่างเรื่องงบประมาณปี 2563 ที่กล่าวข้างต้น จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย เพราะนักการเมืองทุกคนทุกพรรคในขณะนี้ ต่างก็มุ่งหาเสียงหัวปักหัวปำเต้นระบำจำอวดไปเรื่อย จึงจำต้องปล่อยให้ข้าราชการประจำในแต่ละกระทรวงซึ่งไม่รู้ไม่สนนโยบายอะไรของใคร จัดทำรายจ่ายตามปีที่ผ่านมาแล้วเสนองบของตนขึ้นไปตามมีตามเกิด ตัวใครตัวมัน ใครอยากได้อะไรด้านไหนมากก็ว่าไปเหมือนทุกๆ ปีที่เคยทำ แล้วก็นำเสนอผ่านไปตามลำดับชั้น ตั้งแต่อธิบดีผ่านปลัดกระทรวง ซึ่งส่วนใหญ่งานเต็มมือและสมองตื้อไปหมดแล้ว เซ็นชื่อผ่านต่อไปให้ท่านรัฐมนตรีลงนามเห็นชอบ แล้วก็ส่งไปที่สำนักงบประมาณผู้ซึ่งเป็นไดโนเสาร์ตัวจริง แต่มีเขี้ยวเล็บมาก ทำการจัดสรรตามที่เคยทำมาทุกปีๆ แล้วเสนอเข้า ครม. ก่อนที่จะถูกนำเสนอเข้าไปในแดนสนธยาให้สภาผู้แทนราษฎร์ที่มีสมาชิกผู้ทรงเกียรติเพิ่งผ่านการเลือกตั้งมาหมาดๆ เพิ่งแสดงวิสัยทัศน์ด้วยนโยบายลมๆ แล้งๆ เป็นผู้พิจารณายกมือฝักถั่วให้ความเห็นชอบ เผลอๆ รัฐสภาใหม่อาจได้พิจารณางบประมาณปีใหม่แค่วาระสุดท้ายเท่านั้น
ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นนี้ พอจะทำให้ท่านผู้อ่านที่สนใจกระบวนการจัดงบประมาณของชาติ ที่สนใจและเป็นห่วงบ้านเมืองอย่างแท้จริง ได้เห็นชัดเจนขึ้นว่างบประมาณปีหน้า จะไม่มีนักการเมืองคนไหนให้ความสนใจอย่างจริงจังได้ เพราะมัวแต่หาเสียงอย่างหนัก ไม่มีเวลามาดูแม้เป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการปฏิรูปและการพัฒนาชาติให้เดินหน้าอย่างเพลงที่คนของรัฐบาลนี้เขาร้องกัน
การที่ต้องปล่อยให้ข้าราชการประจำเป็นผู้จัดทำแทบทั้งหมด มันจึงเป็นเรื่องสูญเปล่าอย่างสิ้นเชิง คือเงินภาษีที่จัดเก็บจากประชาชน รวมกับเงินกู้ก้อนมหึมา จะไม่ได้มีการจัดสรรเพื่อสนองนโยบายที่ควรจะเป็นตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแต่อย่างใด หรือเป็นไปตามที่นักการเมืองแต่ละพรรคอุตส่าห์คิดแล้วนำไปพูดปราศรัยกับประชาชนทุกค่ำเช้าในขณะนี้ ดังนั้นสิ่งที่จะได้เห็นก็คืองบประมาณแบบซ้ำซากเช่นเคย
ทีนี้ขอให้มาดูว่ามีสิ่งใดบ้างที่จะต้องคงความซ้ำซากอยู่ต่อไป ปีแล้วปีเล่าจนต้องเจอวิกฤตการคลังในอีกไม่นานจากนี้ ที่พูดเช่นนี้เพราะเห็นได้ชัดว่าในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยของเรานี้ต้องจมปลักอยู่กับนโยบายประชานิยมอย่างรุนแรงมาตลอด จะปฏิเสธอย่างไรก็ไม่มีใครเชื่อ สมัยที่พรรคการเมืองยังอู้ฟู่ โครงการรับจำนำข้าวได้สร้างหนี้สิน ให้ประเทศชาติต้องชดใช้ร่วม 500,000.- ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) แบกอยู่ ทุกวันนี้รัฐบาลต้องจัดงบจ่ายเงินงบประมาณไปใช้หนี้ปีหนึ่งๆ อย่างน้อย 50,000.- ล้านบาท เพื่อลดยอดหนี้จำนำข้าวนี้ซึ่งทราบมาว่ายังมียอดคงค้างอยู่ในขณะนี้ถึง 418,000 ล้านบาท ก็ไม่รู้ว่าอีกเมื่อไหร่จะหมด
พอมาในสมัยนี้ช่วงรัฐบาล คสช. ก็ได้เห็นกันอยู่แล้วว่าได้ลอกเลียนนโยบายประชานิยมกันแค่ไหน อย่างไร ยังแถมด้วยนโยบายนายทุนนิยมตามติดมาอย่างเมามัน แล้วรากหญ้าจะลืมตาอ้าปากได้อย่างไรกันครับ
ในส่วนของงบประมาณที่ต้องซ้ำซากอยู่ต่อไปนั้น ขอแยกแยะสิ่งที่เป็นของเน่าเสีย หรือของดองที่มีมาแต่กาลนานที่ใครเข้ามาเป็นรัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบกันทั้งนั้น ดังต่อไปนี้
ประการแรก ภาระหนี้ด้านคมนาคมและขนส่งของรัฐบาลมากล้นเกินกว่าสถานภาพการคลังของประเทศจะรับได้ บรรดาหนี้ของรัฐวิสาหกิจเต่าล้านปีที่มีการปัดสวะโดยรัฐบาลทุกยุคกันเรื่อยมา เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย ตัวเลขหนี้สิ้นปีงบประมาณ 2561 ก็ตกเข้าไป 158,600 ล้านบาท เมื่อบวกกับการลงทุนปรับปรุงอีกอย่างหนักในยุค คสช. เช่น การสร้างสถานีใหญ่สำหรับรถไฟที่บางซื่อ การสร้างรถไฟทางคู่ในทุกภาคที่เริ่มอย่างจริงจังแล้วร่วม 10 สาย ซึ่งโครงการเหล่านี้เป็นเรื่องที่ดีมาก ควรทำมาตั้งนานแล้ว มาโหมทำตอนนี้ ก็ต้องใช้เงินกู้อีกมาก และอีกโครงการใหญ่ใช้เงินกู้มหาศาล คือ รถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วง กทม. - หนองคาย ตอนนี้ที่เริ่มทำสัญญากันเป็นเรื่องเป็นราว คือ ระยะที่ 1 ช่วง กทม. - นครราชสีมา โครงการนี้ก็เพื่ออนาคตที่ดูดี แต่ใครจะเป็นผู้รับผลประโยชน์มากกว่ากัน คนไทยหรือคนจีนยังถกเถียงกันอยู่
นอกจาก รฟท. แล้วยังมี ขสมก. สิ้นกันยายน 2561 มีหนี้คงค้างอยู่ถึง 103,400 ล้านบาท และที่น่ากลัวมากคือ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งสร้างรถไฟฟ้ากันอย่างไม่ลืมหูลืมตาฝุ่นตลบไปทั่ว กทม. โดยใช้เงินกู้ทั้งนั้น แล้วก็คืนทุนยาก อาจใช้เวลาถึง 40 ปี ขณะนี้สิ้นกันยายน 2561 ตัวเลขงบแสดงฐานะการเงินของ รฟท. มียอดเงินกู้ยืมระยะยาวถึง 102,783 ล้านบาท และมีงบ “รายได้รอการรับรู้” ซึ่งอยู่ในด้านหนี้สินไม่หมุนเวียน มีจำนวนถึง 182,844 ล้านบาท ยอดนี้ตั้งไว้แปลกมาก อ่านดูไม่มีใครรู้ว่าเป็นอะไร
จริงๆแล้วก็คือเงินกู้ที่ได้กู้มาสร้างรถไฟฟ้าไปแล้ว 2 สาย เป็นเงินกู้ที่รัฐบาลรับผิดชอบโดยมีมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 19 มกราคม 2559 ในรัฐบาล คสช. นี้แหละ โดยได้อนุมัติไว้เป็นเงื่อนไขในหมายเหตุงบการเงินของ รฟท. ว่า “เป็นเงินอุดหนุนที่กำหนดไว้และจะได้รับเงินอุดหนุนนั้น จึงรับรู้เงินอุดหนุนจากรัฐบาลเป็นรายได้รอการรับรู้คู่กับเงินอุดหนุนรอรับจากรัฐบาล เพื่อชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยตลอดอายุของสัญญาเงินกู้ ....................... โดยจะทยอยรับรู้เป็นรายได้เงินอุดหนุนในแต่ละงวดอย่างเป็นระบบ ตามอายุการใช้ประโยชน์ของสินทรัพย์โครงการรถไฟฟ้าที่เกี่ยวข้อง”
เจอเข้า 2 ยอดหนี้รวมกัน ณ สิ้นเดือนกันยายน 2561 มีจำนวนถึง 285,627 ล้านบาท ปาเข้าไปเกือบ 10% ของงบประมาณปี 2563 จำนวน 3.2 ล้านล้านบาท. แล้วสิ้นปีงบประมาณ 2562 คือ เดือนกันยายนข้างหน้านี้ จะบานเบอะเป็นเท่าไหร่ สิ้นปีงบประมาณ 2563 อีกปี จะไม่ถึง 400,000 ล้านบาทหรือพระคุณท่าน
ถามว่ารัฐบาลมีแผนการคลังหรือไม่ คำตอบคือ มีครับ เพิ่งจะมีคือ ตอนนี้รัฐบาลนี้ได้ออก “แผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2563 - 2565)” ซึ่งเป็นแผน 3 ปี มาแล้ว ซึ่งครม. ได้ลงมติเห็นชอบแล้วเมื่อ 25 ธันวาคม 2561 นี้เอง
แผนการคลังระยะปานกลางนี้มองเศรษฐกิจไทยใน 3 ปีข้างหน้าไว้ค่อนข้างสวยหรูมาก ตั้งเป้าเก็บรายได้ไว้ดี แต่ไม่มีมาตรการหารายได้ใหม่ๆ ที่จริงจัง ยังคิดพึ่งพาการใช้สมบัติเดิมซึ่งเกิดขึ้นนานทีปีหน เช่น รายได้จากการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่โทรคมนาคมเป็นต้น ที่สำคัญไม่ได้คิดถึงความเสี่ยงหนักๆ ที่เราและทั้งโลกกำลังเผชิญหน้าอยู่เลย
ผลสรุปในแผนนี้ก็ออกมาว่าจะกู้เงินไปอย่างไรก็ตาม ภาระหนี้ของรัฐบาลก็จะคงอยู่ที่ 42.46% ของ GDP ขอให้รัฐบาลนี้เชื่อของเขาอย่างนี้ไปเถอะ ไม่นานก็จะรู้ ไม่เห็นโลงศพ ยังไม่หลั่งน้ำตา
สมหมาย ภาษี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ประการที่สอง รัฐบาลแต่ไหนแต่ไรมา ผลักหนี้ไปซ่อนไว้ในรัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินของรัฐ เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส) และธนาคารออมสิน มากเกินไป ที่ธกส. นั้นมีท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการตามกฎหมาย เพราะฉะนั้นถ้าหากรัฐบาลคิดไม่ดี ก็สามารถสั่งให้ ธกส. หาเงินมาใช้แทนได้ง่ายๆ ส่วนธนาคารออมสินที่เอาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงการคลังไปเป็นประธานกรรมการ
แต่ละคนนั้น นอกจากมีความรู้ด้านการเงินการคลังไม่พอแล้ว ก็อาจถูกสั่งให้ปล่อยเงินกู้โน่นนี่ได้ง่าย โดยผู้อำนวยการก็ว่าไปตามลม เพราะรู้อยู่แล้วว่าธนาคารออมสินนั้น รัฐบาลปล่อยให้เจ๊งไม่ได้อยู่แล้ว นี่แหละครับ การดำเนินนโยบายด้านการคลังและด้านประชานิยมทุกวันนี้
ที่ร้ายกว่าการที่รัฐบาลสั่งให้ปล่อยเงินกู้อัตราต่ำกว่าตลาดมากมายหลายรายการ โดยรัฐบาลจัดสรรเงินงบประมาณจากภาษีอากรไปอุดหนุนค่าส่วนต่างของดอกเบี้ยทุกปี ปีละจำนวนไม่น้อย
ขณะนี้รัฐบาล คสช. ยังใช้ ธกส. เป็นที่ดองหนี้เสียที่เกิดจากนโยบายการรับจำนำข้าวที่มีการโกงกันอีกจำนวนมากจนอดีตรัฐมนตรีพาณิชย์ต้องติดคุก และนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกต้องหนีคุกมาแล้ว หนี้เสียเรื่องรับจำนำข้าวนี้มีจำนวนประมาณ 500,000 ล้านบาท ได้มีการชำระจากการขายข้าวที่รับจำนำไปพอสมควรแล้ว ขณะนี้ที่ ธกส. อาจเหลืออยู่ประมาณ 418,000 ล้านบาท เป็นหนี้จำนำข้าวที่ให้ ธกส. กู้ แต่รัฐบาลค้ำประกันอยู่ประมาณ 300,000 ล้านบาท ที่เหลือประมาณ 120,000 ล้านบาทเป็นเงินของ ธกส. เอง ที่รัฐบาลให้สำรองจ่ายให้ก่อน ผ่านมาตั้ง 4 ปีแล้วรัฐบาลยังไม่มีปัญญาหาเงินมาจ่ายคืนให้ครบ ยังคงผ่อนจ่ายให้รวมกันประมาณปีละ 50,000 ล้านบาท
ประการที่สาม มีการก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาลเพื่อนำเงินมาชำระคืนหนี้เก่ามากและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในจำนวนที่สูง ขณะนี้กระทรวงการคลังต้องรับภาระการก่อหนี้ใหม่ในแต่ละปีมาใช้คืนหนี้เก่า วิธีนี้ก็คล้ายๆ กับแชร์ลูกโซ่ ที่ผิดกฎหมายที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ในบ้านเรานั่นแหละ ไม่รู้พวกหัวแหลมคิดแชร์ลูกโซ่ กับรัฐบาลไทยรวมทั้งสำนักงบประมาณ ใครเอาอย่างใครกันแน่
ปีงบประมาณ 2563 นี้ รัฐบาลจะตั้งงบประมาณแผ่นดินไว้เป็นเงิน 3.2 ล้านล้านบาท เพิ่มจากปีนี้ที่กำลังจะสิ้นปีในเดือนกันยายนนี้ 6.7% โดยจำนวน 2.75 ล้านล้านบาท จะใช้จากภาษีอากรและรายได้อื่นๆ ซึ่งปีนี้คาดว่าจะมีรายได้จากการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคมถึง 120,000 ล้านบาท
ดังนั้นในปี 2563 นี้ รายได้ปกติที่จะสามารถเก็บได้จะมีแค่ 2.63 ล้านล้านบาทเท่านั้น น่าเป็นห่วงมาก ถ้ารายได้โชคลาภค่าประมูลใบอนุญาตใช้คลื่นไม่เข้า การคลังก็คงจะตกที่นั่งลำบาก สำหรับส่วนที่ขาดอีก 450,000 ล้านบาท จะเป็นเงินจากการกู้ชดเชยการขาดดุล ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายวินัยการเงินการคลัง ที่กำหนดว่าไม่ให้กู้เกิน 3% ของ GDP
การที่จะดูว่ารัฐบาลจะรับภาวะทางการคลังไหวหรือไม่ ไม่ใช่ดูเพียงว่าหนี้สาธารณะขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 42% ของ GDP ไม่เป็นไร ยังมีวงเงินกู้ได้อีกเยอะเพราะกรอบกฏหมายวางไว้ไม่ให้เกิน 60% ของ GDP คงจะเชื่อตามคณะกรรมการการเงินการคลังภาครัฐไม่ได้อีกแล้ว
พิจารณาดูง่ายๆ จากเงินกู้ชดเชยการขาดดุลปีงบประมาณ 2563 จำนวน 450,000.- ล้านบาท ซึ่งจะเต็มเพดานที่กฏหมายวินัยการเงินการคลังกำหนดไว้ไม่ให้เกิน 3% ของ GDP นี้ เมื่อเทียบกับยอดรายจ่ายชำระหนี้ทั้งเงินต้น ดอกเบี้ย และเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าที่ภาครัฐจะต้องรับผิดชอบจ่ายปีงบประมาณ 2563 ก็ไม่พออยู่แล้ว ขณะนี้งบใช้หนี้และเงินช่วยเหลือแต่ละด้านยังไม่มีรายละเอียดออกมา แต่สามารถประมาณกันล่วงหน้าจากข้อมูลที่เผยแพร่ของทางราชการได้ไม่ผิดนัก ดังต่อไปนี้
1. งบรายจ่ายใช้หนี้เงินกู้ของรัฐบาลทีเรียกว่า “รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้” ซึ่งเป็นเงินต้นที่ถึงกำหนดชำระส่วนหนึ่งจำนวนประมาณ 95,000.- ล้านบาท
2. งบรายจ่ายใช้หนี้เงินต้นจากความเสียหายโครงการรับจำนำข้าวจำนวนประมาณ 50,000.- ล้านบาท
3. รายจ่ายค่าดอกเบี้ยของเงินกู้หรือการค้ำประกันที่มีมติ ครม. ว่ารัฐจะอุดหนุนค่าดอกเบี้ยให้จำนวนประมาณ 180,000.- ล้านบาท
4. เงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าแก่หน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลประมาณ 460,000.- ล้านบาท
รวม 4 เรื่องนี้ก็ปาเข้าไป 785,000.- ล้านบาทแล้ว มากกว่าเงินกู้ชดเชยการขาดดุลที่จะสามารถกู้มา 450,000.- ล้านบาทมาก จะเห็นได้ว่าที่กู้ชดเชยการขาดดุลแต่ละปีที่ว่ามานั้น มันยังไม่พอกับการต้องใช้หนี้และการจัดเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าเลย แค่รายจ่าย 4 ข้อข้างต้น คิดเป็นสัดส่วนถึง 25% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 มันจะไหวหรือครับ
จะขอบอกอะไรหน่อยครับว่า ต่อไปนี้รัฐบาลหรือคนของรัฐบาลอย่าคิดพูดหรือเสนอแนะเรื่องงบประมาณสมดุลกันอีกเลย คิดเพียงว่าทั้ง 4 เรื่องที่ต้องจ่ายประเภทเหล่านี้ จะทำยังไงไม่ให้มากกว่ายอดการกู้ชดเชยงบขาดดุล ซึ่งเห็นได้ชัดว่าตอนนี้ดุลการคลังของไทยเป๋ไปมากแล้ว ถ้าไม่รีบหารายได้รัฐบาลให้เพิ่มขึ้นต่อปีถึง 12% เป็นอย่างน้อย อย่าหวังว่าใครจะอยู่รอดได้
สำหรับรายจ่ายชำระหนี้ของรัฐบาลที่ต้องตั้งไว้ในงบประมาณรายจ่ายปี 2563 จำนวนประมาณ 95,000 ล้านบาท นั้น ก็เป็นตัวเลขที่ต้องตั้งไว้ในกรอบไม่เกินที่กฏหมายกำหนด แต่ตามข้อเท็จจริงปีหนึ่งๆ รัฐบาลจะต้องใช้หนี้อื่นๆ อีกมาก แต่จะตั้งเป็นงบใช้หนี้ในงบประมาณรายจ่ายเพิ่มจากนี้ไม่ได้อีกแล้ว รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยจึงต้องทำการ “กู้เงินใหม่มาชำระหนี้ใหม่และหนี้เก่าที่ต้องจ่ายคืน” หรือไม่ก็ต้อง “ค้ำประกันเงินกู้ใหม่ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่สามารถชำระหนี้เก่าได้” ที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “Roll Over” อันนี้ที่ได้กล่าวเปรียบเทียบให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่าเหมือนๆ แชร์ลูกโซ่
ขอยกตัวอย่างการก่อหนี้ลักษณะแชร์ลูกโซ่ที่กำหนดไว้ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะในปี 2562 เช่น
1. หนี้ของกองทุนฟื้นฟู (FIDF) ที่เกิดจากภาวะเศรษฐกิจวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 ซึ่งรัฐบาลต้องรับภาระความเสียหายจ่ายเงินชดเชยให้ โดยการไปกู้เงินนอกงบประมาณมาให้ ประมาณว่าจะมีจำนวน 167,532 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2562
2. หนี้เงินกู้เพื่อให้กู้ต่อแก่รัฐวิสาหกิจจำนวน 57,347 ล้านบาท
3. การกู้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ที่ครบกำหนดในปีงบประมาณ 2563 - 2565 ซึ่งเป็นหนี้เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล เมื่อรายจ่ายสูงกว่ารายได้ และหนี้เงินกู้ตาม พ.ร.ก. ไทยเข้มแข็งจำนวน 150,000 ล้านบาท
4. การกู้เงินเพื่อการบริหารหนี้เดิมของรัฐวิสาหกิจ 5 แห่งที่รัฐบาลค้ำประกัน จำนวนรวม 179,142 ล้านบาท ซึ่งหนี้เหล่านี้เป็นหนี้ของรัฐวิสาหกิจ ไม่ใช่หนี้ของรัฐบาล แต่รัฐบาลค้ำประกัน เห็นหน้าค่าตาแล้วรัฐบาลก็ต้องรับใช้หนี้วันยังค่ำ คือ รฟท., ขสมก., การเคหะแห่งชาติ, การประปาส่วนภูมิภาค, และ ธกส.
การบริหารหนี้ที่เป็นภาระของรัฐบาลล้วนๆ 4 รายการในปี 2562 นี้ ก็ปาเข้าไป 1.33 ล้านบาทแล้ว ในปี 2563 กระทรวงการคลังก็คงหนีไม่พ้นที่จะต้องดำเนินการก่อหนี้ใหม่มาใช้คืนภาระหนี้เดิมๆ นี้ไม่น้อยกว่านี้แน่ ขืนทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ มันก็จะไปไม่รอดเช่นกัน
นี่ยังไม่รวมของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งมีหนี้อยู่ร่วม 300,000 ล้านบาทแล้ว แต่ยังไม่ถึงกำหนดชำระเงินต้นคืน ถ้าถึงกำหนดชำระคืนเงินต้นเมื่อไหร่ ก็ต้องจัดการกู้เงินใหม่มาคืนเงินกู้เก่าเหมือนรายอื่นๆ นั่นแหละ.
พูดถึงงบประมาณแผ่นดินทีไร ก็ให้ละเหี่ยใจทุกทีครับ.
หมายเหตุ : ภาพประกอบหุ้นจาก Newsdatatoday และภาพสมหมาย ภาษี จาก posttoday