เปิดปมใหม่! โครงการปลี่ยนแอร์ประหยัดไฟพันล. สตง.พบข้อสังเกตเอื้อปย.จ้างที่ปรึกษา
"...จากการตรวจสอบคุณสมบัติบุคลากรของที่ปรึกษา พบว่า ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นบุคลากรของคู่สัญญา และไม่พบเอกสารแสดงความยินยอมของผู้ว่าจ้าง ซึ่งอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษทอื่นเข้ามาทำงานที่ปรึกษา โดยอาศัยสิทธิพิเศษจากการเป็นที่ปรึกษาหน่วยงานของรัฐ ของที่ปรึกษาที่เป็นคู่สัญญา และจากการตรวจสอบหนังสือรับรองการทำงานแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ยังพบว่า บุคคลากรดังกล่าวเป็นบุคลากรภายนอกของบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นที่ปรึกษาไว้กับศูนย์ข้อมูลที่ปรึกษาไทย กระทรวงการคลัง ซึ่งไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในทีโออาร์ด้วย..."
การดำเนินงานโครงการปรับเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศชนิด Variable speed/Inverter ทดแทนของเดิมอาคารควบคุมภาครัฐ ของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กำลังถูกจับตามองมากขึ้น!
เมื่อสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า นอกจากการดำเนินงานในส่วนการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ จำนวน 4 สัญญา คือ สัญญาเลขที่ 184/2559, 185/2559 , 186/2559 และ 187/2559 รวมวงเงินกว่า 1,222,756,740 บาท ที่บริษัท ซัยโจ เด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นคู่สัญญา ถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบว่ามีการปฏิบัติงานไม่เป็นไปตามข้อกำหนดในสัญญาและมีความล่าช้า โดย ณ วันสิ้นสุดสัญญา ผู้ขายยังไม่สามารถส่งมอบงานได้ เบื้องต้น สตง. ได้ทำหนังสือแจ้ง พพ. ให้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและเร่งรัดการดำเนินงานให้เป็นไปตามสัญญาเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์การจัดทำโครงการ พร้อมสอบสวนหาตัวผู้รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นตามที่นำเสนอข้อมูลไปแล้ว (อ่านประกอบ : เช็คสถานะโครงการเปลี่ยนแอร์ประหยัดไฟ 1.2 พันล. หลัง สตง.สั่งสอบ พพ.ทำอะไรบ้าง?, ฉบับเต็ม! สตง.สั่งพพ.สอบเปลี่ยนแอร์ประหยัดไฟ1.2 พันล.-ซัยโจเด็นกิฯ ได้งาน 4สัญญารวด)
การดำเนินงานในส่วนงานจ้างที่ปรึกษาโครงการฯ ก็ถูกสตง.ตรวจสอบพบว่ามีปฏิบัติในขั้นตอนการปฏิบัติงานเช่นกัน
โดย สตง. ตรวจสอบพบว่า งานว่าจ้างที่ปรึกษาโครงการฯ จำนวน 5 สัญญา คือ 1. สัญญาเลขที่ 308/58 ลงวันที่ 29 ก.ย.2558 คู่สัญญา คือ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย วงเงิน 12,932,000 บาท 2. สัญญาเลขที่ 309/58 ลงวันที่ 29 ก.ย.2558 คู่สัญญา คือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วงเงิน 12,932,720 บาท 3. สัญญาเลขที่ 310/58 ลงวันที่ 29 ก.ย.2558 คู่สัญญา มหาวิทยาลัยนเรศวร วงเงิน 12,930,500 บาท 4. สัญญาเลขที่ 311/58 ลงวันที่ 29 ก.ย.2558 คู่สัญญา มหาวิทยาลัย เทคโนโลยีสุรนารี วงเงิน 12,932,720 บาท และ 5. สัญญาเลขที่ 312/58 ลงวันที่ 29 ก.ย.2558 คู่สัญญามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วงเงิน 12,932,720 บาท
ซึ่งที่ปรึกษาจะต้องเริ่มปฏิบัติงานในวันที่ 29 ก.ย.2558 และจะต้องปฏิบัติงานให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 28 ก.ย.2559 พบข้อสังเกตดังนี้
1. งานจ้างที่ปรึกษาทั้ง 5 สัญญา มีการกำหนดราคากลางค่าใช้จ่ายดำเนินการ ค่าจ้างตรวจวัดประสิทธิภาพระบบปรับอากาศ โดยไม่มีเอกสารชี้แจงรายละเอียดการกำหนดราคากลาง ซึ่งเป็นการไม่ปฏิบัติตามหนังสือกระทรวงการคลัง เรื่องแนวทางการเปิดเผยราคากลาง และหลักเกณฑ์ราคากลางการจ้างที่ปรึกษา ที่กำหนดให้มีการประกาศเปิดเผยราคากลาง รวมทั้งรายละเอียดของการคำนวณราคากลางให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรวมทั้งผู้สนใจทั่วไปได้รับทราบ
2. จากการตรวจสอบคุณสมบัติบุคลากรของที่ปรึกษา พบว่า ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นบุคลากรของคู่สัญญา และไม่พบเอกสารแสดงความยินยอมของผู้ว่าจ้าง ซึ่งอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษทอื่นเข้ามาทำงานที่ปรึกษา โดยอาศัยสิทธิพิเศษจากการเป็นที่ปรึกษาหน่วยงานของรัฐของที่ปรึกษาที่เป็นคู่สัญญา และจากการตรวจสอบหนังสือรับรองการทำงานแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ยังพบว่า บุคคลากรดังกล่าวเป็นบุคลากรภายนอกของบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นที่ปรึกษาไว้กับศูนย์ข้อมูลที่ปรึกษาไทย กระทรวงการคลัง ซึ่งไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในทีโออาร์ด้วย
นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดคุณสมบัติบุคลากรของที่ปรึกษาสูงมาก ทั้งในด้านวุฒิการศึกษา ประสบการณ์ การทำงานเฉพาะด้าน เมื่อเทียบกับลักษณะการทำงานของที่ปรึกษา ที่งานส่วนใหญ่เป็นการควบคุมการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ เพื่อทดแทนของเดิม และการตรวจวัดประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องปรับอากาศ ข้อกำหนดดังกล่าวอาจเป็นการกีดกันการเข้าเสนอราคาของหน่วยงานอื่น
3. การติดตั้งแอร์ทั้ง 5 สัญญา มีปริมาณงานมากเฉลี่ยอยู่ที่แห่งละ 8 พันเครื่องถึง 1หมื่นเครื่อง แต่มีระยะเวลาในการดำเนินงานเพื่อตรวจวัดประสิทธิภาพของเครื่องปรับอากาศ ภายหลังจากที่สัญญาซื้อขายเสร็จสิ้นเป็นเวลาประมาณ 1 เดือน ซึ่งไม่สอดคล้องกับเนื้องาน ขณะที่การปฏิบัติงานก็มีความล่าช้ากว่ากำหนด ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของสัญญา
เบื้องต้น สตง. ได้ส่งผลการตรวจสอบให้อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งหากพบว่าทำให้ราชการได้รับความเสียหาย ให้หาผู้รับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหาย และดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบตามควรแก่กรณี และถ้าพบว่ามีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าเป็นการทุจริต หรือมีการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เงินหรือทรัพย์สินของ พพ. ให้ดำเนินการตามกฎหมาย พร้อมทั้งควบคุม กำกับดูแล และสั่งกำชับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบให้ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือมติคณะรัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัดในโอกาสต่อไป เพื่อเป็นการรักษาประโยชน์ของหน่วยงาน และเป็นการป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า หนังสือ สตง. ที่แจ้งผลตรวจสอบงานจ้างที่ปรึกษาโครงการปรับเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศดังกล่าว ลงวันที่ 14 ก.ค.2560 แต่ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่า อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้ดำเนินการตรวจสอบเรื่องนี้เป็นทางการไปแล้วหรือไม่
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
ติดตั้งครบ30ตัวไม่เย็นเครื่องเดียว! ศูนย์วิจัยข้าวโพดฯ สรุปผลเปลี่ยนแอร์ประหยัดไฟส่งพพ.
เช็คสถานะโครงการเปลี่ยนแอร์ประหยัดไฟ 1.2 พันล. หลัง สตง.สั่งสอบ พพ.ทำอะไรบ้าง?
ฉบับเต็ม! สตง.สั่งพพ.สอบเปลี่ยนแอร์ประหยัดไฟ1.2 พันล.-ซัยโจเด็นกิฯ ได้งาน 4สัญญารวด
เผยชื่อ บ.ซัยโจเด็นกิฯ คู่สัญญา พพ. เปลี่ยนแอร์1.2พันล.-ผู้บริหารขอตรวจสอบข้อมูลก่อน
สตง.สั่งสอบโครงการเปลี่ยนแอร์ประหยัดไฟ 1.2 พันล.-เจอเครื่องติดตั้งมีปัญหา ส่งมอบงานล่าช้า