รองปลัดคมนาคม ระบุพร้อมประชุมพิจารณาผลเจรจา 'กทพ.-บีอีเอ็ม' ขยายสัมปทานทางด่วน 2
กทพ.พร้อมก็มาเลย รองปลัดคมนาคม ระบุพร้อมประชุมพิจารณาผลเจรจา 'กทพ.-บีอีเอ็ม' ขยายสัมปทานทางด่วน 2 แลกชดใช้แสนล้าน
จากกรณีเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2561 ศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำพิพากษาให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)ชดเชยรายได้ที่ลดลงจากผลกระทบการแข่งขัน ในปี 2542-2543 ให้แก่ บริษัทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) เป็นเงิน 4,318 ล้านบาท ซึ่งคดีนี้มีผลต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 75,000 ล้านบาท และยังมีคดีพิพาทอื่นๆอีก รวมทุกคดีมูลค่า 1.3 แสนล้านบาท
ต่อมากระทรวงคมนาคมได้รายงานคำพิพากษาและแนวทางการเจรจาให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2561 ครม.ได้พิจารณาแนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับข้อพิพาทหน่วยงานรัฐ โดยเห็นว่า เพื่อบรรเทาความสูญเสียและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่รัฐและเพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์สูงสุดของทางราชการ กรณีหน่วยงานของรัฐมีข้อพิพาทตามสัญญาอนุญาโตตุลาการหรือถูกฟ้องคดีต่อศาลปกครองเป็นคดีเดียวหรือหลายคดีในประเด็นเดียวกันหรือเกี่ยวเนื่องกัน เช่น กรณีคดีที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคม (การทางพิเศษแห่งประเทศไทย) แล้วมีคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งนำไปสู่การฟ้องคดีในศาลปกครองสูงสุด โดยผลของคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้น ให้หน่วยงานของรัฐต้องชดใช้ค่าเสียหายหรืออื่นใด จึงมีมติให้หน่วยงานของรัฐนั้น 'อาจดำเนินการเจรจาต่อรองกับคู่พิพาทเพื่อบรรเทาความเสียหายของรัฐและให้เกิดความเป็นธรรมแก่ราษฎรได้' ทั้งนี้ ให้ดำเนินการอย่างโปร่งใส ชอบด้วยกฎหมาย และคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันมีข้อมูลกรอบการเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อยุติข้อพิพาท ระหว่าง กทพ.และบีอีเอ็ม คือ ต้องไม่นำข้อพิพาทเดิมมาฟ้องร้องกันอีก โดยรับสิทธิรายได้ในอนาคตจากการขยายสัมปทานเป็นระยะเวลา37 ปี , กทพ.จะไม่มีการชดใช้ค่าเสียหายเงินเงินสดแก่ บีอีเอ็ม และมีเงื่อนไขว่า บีอีเอ็ม จะปรับปรุงทางด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รถไม่ติด (สร้างทางยกระดับชั้น 2 และก่อสร้างช่องจราจร Bypass) รวมถึงการปรับค่าผ่านทางจะเป็นแบบคงที่ทุก 10 ปี โดยที่กทพ.ต้องได้รับส่วนแบ่งรายได้ค่าผ่านทางไม่น้อยกว่าเดิม
ขณะที่แหล่งข่าวระบุว่า การแก้ไขปัญหายุติข้อพิพาทระหว่างกทพ.กับบีอีเอ็มนั้น เป็นสิ่งที่รัฐบาลคสช.พยายามเร่งแก้ไขปัญหาที่ยืดยื้อและยุติความเสียหายโดยด่วน เพราะหากกทพ.สู้คดีต่อไปก็จะทำให้เกิดความเสียหายมากขึ้น หรือหากรัฐบาลคสช.ไม่แก้ไข สุดท้ายก็จะเป็นความรับผิดของรัฐบาลคสช.ด้วยเช่นกัน พร้อมกันนี้ให้ยอมรับความจริงว่า ปัญหาเกิดจากฝ่ายการเมืองและผู้บริหารกทพ.ในอดีต
"คณะกรรมการกำกับดูแลตามมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ก็มีความเป็นห่วงประเด็นนี้อยากให้มีการเจรจาให้จบ ปล่อยทิ้งไว้จะเสียหาย เดิมสัมปทานโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ทางพิเศษศรีรัช) จะจบปี 2563 ซึ่งหากไม่มีคดีความต้องไปศึกษาโครงการเพื่อขยายเวลา ตามมาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนฯ โดยให้ทำก่อน 5 ปีที่สัญญาสัมปทานสิ้นสุดลง แต่ปรากฎว่า กรณีพิพาทระหว่างกทพ.กับบีอีเอ็มนั้น ไม่เข้ามาตรา 48 รัฐบาลจึงต้องให้เจรจา ตามมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนฯ"
สำหรับมาตรา 47 ระบุว่า ในกรณีต้องมีการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการเสนอเหตุผลและความจําเป็นในการขอแก้ไขต่อคณะกรรมการกํากับดูแลเพื่อพิจารณาในกรณีที่คณะกรรมการกํากับดูแลพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนในส่วนที่มิใช่สาระสําคัญ ให้คณะกรรมการกํากับดูแลพิจารณาแล้วแจ้งต่อรัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดเพื่อทราบต่อไป
ในกรณีที่คณะกรรมการกํากับดูแลพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนในส่วนที่เป็นสาระสําคัญ ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการเสนอประเด็นที่ขอแก้ไข ผลกระทบจากการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนและรายละเอียดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อคณะกรรมการกํากับดูแลพิจารณาด้วย และถ้าคณะกรรมการกํากับดูแลเห็นด้วยกับการแก้ไข ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการส่งร่างสัญญาร่วมลงทุนให้สํานักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา ก่อนส่งความเห็นของคณะกรรมการกํากับดูแลพร้อมทั้งร่างสัญญาร่วมลงทุนฉบับใหม่ที่สํานักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาแล้วไปยังรัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดเพื่อเสนอขอความเห็นชอบ ต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป
แหล่งข่าว ให้ข้อมูลอีกว่า วันนี้ผลการเจรจาไกล่เกลี่ยมีการส่งให้คณะกรรนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐแล้ว คาดว่าจะมีการประชุมเร็วๆ นี้ ซึ่งคณะกรรมการฯ มีอำนาจหน้าดูว่าหน่วยงานรัฐแก้ไขปัญหามาอย่างไร ถูกต้องหรือไม่ จากนั้นจะส่งเรื่องให้อัยการตรวจสัญญา ก่อนเข้าครม. และแก้ไขสัญญาสัมปทานได้
ความคืบหน้าเรื่องนี้ สำนักข่าวอิศรา ( www.isranews.org) สัมภาษณ์ นายกฤชเทพ สิมลี รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ระบุว่า กำลังดูความพร้อมกันของกทพ.อยู่ หากพร้อมก็ประชุมได้ รวมถึงผลการเจรจาไกล่เกลี่ยผ่านบอร์ดกทพ.แล้วหรือไม่ ซึ่งครั้งที่แล้วกทพ.มาประชุมเพื่อรายงานความคืบหน้าเท่านั้น ซึ่งก็ยังไม่เห็นมีอะไรคืบหน้า
"หากกทพ.พร้อมก็มาเลย ผมพร้อมเสมอ ช่วงนี้ผมมีเวลาให้อยู่ รวมทั้งต้องดูความพร้อมในส่วนของคณะกรรมการฯ มีจำนวนครบองค์ประชุมหรือไม่ด้วย"
นายกฤชเทพ ยังกล่าวถึงขั้นตอนหลังหากผลการเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่าง กทพ.และบีอีเอ็มได้ข้อยุติแล้ว กทพ.ก็จะนำเรื่องเข้าคณะกรรมการกำกับดูแลตามมาตรา 43 แห่งพ.ร.บ. การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐฯ และหากมีการแก้ไขสัญญาสัมปทานต้องนำเสนอที่สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา และเข้าครม. พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง