คสช.ล้มเหลวดับไฟใต้
มีคนสอบถามกันมากว่าเหตุใดไฟใต้ถึงปะทุรุนแรงขึ้นมาอีกครั้ง และที่ผมจั่วหัวไว้แบบนี้ก็ไม่ใช่การฉวยโอกาสด่า คสช.
แต่รัฐบาล คสช.คือผลผลิตสุดท้ายของการแก้ไขปัญหาภาคใต้แบบผิดทิศผิดทาง!
สิ่งที่ผมอยากชวนให้ช่วยกันพิจารณาก็คือ ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา การจัดการปัญหาถูกให้น้ำหนักไปที่ 3 เรื่องหลักๆ คือ 1.ปฏิบัติการทางทหาร 2.การรวมศูนย์การบังคับบัญชา และ 3.การทุ่มเทงบประมาณ ซึ่งถ้ามองแบบแยกส่วน ทั้ง 3 เรื่องไม่ใช่เรื่องผิด แต่ที่ผิดคือการให้น้ำหนักของผู้กำหนดนโยบาย ผลถึงออกมาอย่างที่เห็น
เพราะปฏิบัติการทางทหารเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เน้นการ รปภ.บุคคลและสถานที่เป็นหลัก ถือเป็นยุทธวิธีเชิงรับที่ไม่สามารถป้องกันเหตุร้ายได้จริง เนื่องจากฝ่ายผู้ก่อการเป็น "องค์กรลับ" ไม่มีสัญลักษณ์บอกฝ่าย อยู่ปะปนกับชาวบ้าน มีความได้เปรียบด้านภูมิประเทศ และเลือกก่อเหตุได้ในช่วงเวลาที่ตนเองได้เปรียบ ฉะนั้นการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดเหตุแบบ 100% จึงเป็นไปไม่ได้เลย
ส่วนการรวมศูนย์การบังคับบัญชา ก็เป็นการรวมศูนย์แบบที่มีกองทัพเป็น "หน่วยนำ" ส่วนฝ่ายการเมืองเป็นประธานเชิงสัญลักษณ์ ทั้งยุทธศาสตร์และยุทธวิธีจึงมาจากทหาร ซึ่งก็คือเน้น "ปฏิบัติการทางทหารแบบเชิงรับ" นั่นเอง
ขณะที่การทุ่มเทงบประมาณก็ไม่ตรงตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ โครงการต่างๆ ถูกพิจารณาจากบนลงล่าง แถมมีช่องโหว่ให้ทุจริตคอร์รัปชั่นด้วยข้ออ้างเรื่องการเป็น "พื้นที่พิเศษ" งบประมาณกว่า 3 แสนล้านที่ทยอยส่งลงไปจึงกลายเป็นขุมทรัพย์ของบรรดาข้าราชการกังฉิน ขณะที่ชาวบ้านไม่รู้สึกว่าชีวิตดีขึ้นตรงไหน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าตลอด 15 ปี กองทัพพยายามรุกคืบเข้ามาเป็น "เจ้าภาพ" ในการจัดการปัญหาภาคใต้ในรัฐบาลพลเรือนทุกรัฐบาล (ทักษิณ 1 / ทักษิณ 2 / สมัคร / สมชาย / อภิสิทธิ์ / ยิ่งลักษณ์) จนทำให้ยุทธศาสตร์ "การเมืองนำการทหาร" ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง มีเพียงรัฐบาลประชาธิปัตย์เท่านั้นที่แข็งขืนมากที่สุด ด้วยการพยายามลดบทบาท กอ.รมน. (ให้จำกัดเฉพาะปฏิบัติการทางทหาร) เพิ่มบทบาท ศอ.บต.ซึ่งหมายถึงหน่วยงานพลเรือนและฝ่ายปกครอง (ให้คุมยุทธศาสตร์การพัฒนา) และเดินหน้าพูดคุยเจรจาโดยมี "พลเรือน" เป็นหัวหน้าทีม แต่เสียดายที่อายุรัฐบาลไม่ยาวพอที่จะพิสูจน์ความสำเร็จ
ขณะที่การรุกคืบของกองทัพประสบผลแบบเต็มร้อยในยุค คสช. เพราะทหารเข้ามาเป็นรัฐบาลเอง และคุมภารกิจดับไฟใต้แบบเบ็ดเสร็จ ผู้นำทางทหารนั่งหัวโต๊ะทุกการประชุม งบทุกโครงการต้องผ่านความเห็นชอบจาก กอ.รมน. ส่วน ศอ.บต.และหน่วยงานพลเรือนกลายเป็นองค์กรกระดาษ ฯลฯ แล้วสุดท้ายผลเป็นอย่างไร...
สิ่งที่หลงลืมไปตลอด 15 ปีไฟใต้ คืองานสร้างความเข้าใจ การลบล้างประวัติศาสตร์บาดแผล การฟื้นสัมพันธภาพระหว่างผู้คน และการสร้างอนาคตใหม่ร่วมกัน เหล่านี้แทบไม่เคยถูกพูดถึงเลยจากปากของผู้นำทางทหารที่มีอำนาจคุมภารกิจดับไฟใต้ทั้งในด้านยุทธศาสตร์และยุทธวิธี
------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
ผ่างบปี 62 ดับไฟใต้ 1.2 หมื่นล้าน ยอดรวมตั้งแต่ปี 47 ทะลุ 3 แสนล้าน!