"ภูมิรัฐศาสตร์" VS "กระบวนการทางความคิด" ที่นักการเมืองไทยมองไม่เห็น
ยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 มองเพียงแต่ว่า ไทยจะไปทางไหน แต่ไม่มีมาตรการป้องกันเรื่องเหล่านี้เลย ขณะที่ระบบคิดของคนไทย และสื่อมวลชนก็ยังไม่ลึกซึ้งพอ นวัตกรรมจึงเป็นแค่ภาพที่เราอยากไปถึงเท่านั้น สิ่งที่ต้องระวัง และอยากฝากไว้ จะมีการตกงานอีกเยอะ จาก AI IoT
เมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ.2562 หลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูงด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสส.) รุ่นที่ 8 สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดงานสัมมนาสาธารณะ “มองเมืองไทย ให้ไกลกว่าได้เลือกตั้ง” ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 6 อาคารปฏิบัติการวิทยุโทรทัศน์ บมจ. อสมท.
ตอนหนึ่ง รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐกิจและการเมือง ได้ให้มุมมองที่ไปไกลกว่าการได้เลือกตั้ง โดยเฉพาะเรื่องการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียมนั้น โดยเชื่อว่า หลังเลือกตั้งแล้วก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้
รศ.ดร.สมชาย เน้นย้ำวถึงโลกของการเปลี่ยนแปลง ในยุคดิจิทัลว่า จะมีคนกลุ่มหนึ่งที่ฉลาดจะรวยมาก หากประเทศไทยไม่ปรับตรงนี้ จะยิ่งแย่ไปใหญ่ เพราะเรากำลังเข้าสู่การปฏิบัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 จะมีเรื่องไบโอเทค Codification of Money มีเรื่อง AI ซึ่งช่องว่างตรงนี้สำหรับคนบางคนจะกว้างมาก
"โลกวันนี้กำลังเข้าสู่การเปลี่ยนแปลง ถามว่า การเมืองไทยวันนี้สามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้หรือไม่ เพราะไม่ได้อยู่แค่ระบบการศึกษาแล้ว หากเราปรับตัวไม่ทันประเทศไทยจะเกิดวิกฤตในอนาคต
Machine Learning, AI, Big Data เป็นเรื่องเดียวกันหมด เรามียุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 พูดเรื่อง AI แต่เป็น AI ระดับล่าง AI ที่ดีที่สุด อยู่ที่ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และเยอรมนี มีเพียง 3 ประเทศเป็น AI ระดับบน คือ ญี่ปุ่น เยอรมนี และสหรัฐ ส่วนจีนกับเกาหลีใต้ AI ยังอยู่ระดับกลาง ของไทย คือ low-end AI แปลว่า low-end digital"
นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐกิจและการเมือง ยังตั้งคำถามถึงมหาวิทยาลัยได้ปรับตัวมากน้อยแค่ไหน มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก คณะที่มีผู้เรียนมากที่สุด คือ Data Science และ data mining ซึ่งไม่แปลกใจเลยหากมหาวิทยาลัยจะมีคนเรียนน้อยลงๆ
พร้อมกันนี้ เขาชี้ว่า หุ่นยนต์จะเข้ามาแย่งงานอาจารย์ คนที่อยู่ในวงการต่างๆ จะมีปัญหา
"ยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 มองเพียงแต่ว่า ไทยจะไปทางไหน แต่ไม่มีมาตรการป้องกันเรื่องเหล่านี้เลย ขณะที่ระบบคิดของคนไทย และสื่อมวลชนก็ยังไม่ลึกซึ้งพอ นวัตกรรมจึงเป็นแค่ภาพที่เราอยากไปถึงเท่านั้น สิ่งที่ต้องระวัง และอยากฝากไว้ จะมีการตกงานอีกเยอะ จาก AI IoT ถามว่า สตาร์ทอัพไทยจะทำได้หรือไม่ การศึกษาผลิตบัณฑิตป้อนสิ่งเหล่านี้หรือไม่ มิเช่นนั้นความสามารถทางการแข่งขันของไทยจะยิ่งแย่"
นี่คือความได้เปรียบเสียเปรียบทางการแข่งขันที่เกิดจากเทคโนโลยี
รศ.ดร.สมชาย ยังตั้งสังเกตจากการเลือกตั้ง ก็จะมีการตั้งคำถามอยู่แค่ปัจจุบันตลอด แต่สิ่งที่คนมักไม่ได้มองคือ มองไปข้างหน้าจะแก้ปัญหาตรงนี้อย่างไร ระบบการศึกษาเป็นอย่างไรบ้าง ข้อมูลเกี่ยวกับภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitics)มีมากน้อยขนาดไหน นี่คือสิ่งที่ประชาชนต้องการ ถามว่า เราจะอยู่ได้อย่างมีความสุขได้อย่างไรหากกระบวนการทางความคิด (Mindset) ของนักการเมืองยังมองไม่เห็นเรื่องต่างๆ เหล่านี้
"ประเทศไทยในอดีตก่อนโลกจะเปลี่ยนอย่างทุกวันนี้ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ 9-10% พอถึงยุคดิจิทัลเฉลี่ยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจแย่สุด ชนะประเทศเดียว คือ บรูไน และอีก 3-4 ปีข้างหน้าต้องเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ดิจิทัล บวกไบโอเทค สิ่งต่างๆ เหล่านี้คือคำถามที่ประชาชนต้องการจากการเลือกตั้งครั้งนี้"