นิด้าโพลเผยความคาดหวังคนไทยหลังเลือกตั้ง อยากให้แก้ปัญหาปากท้อง-หนี้สินมากสุด
นิด้าโพลเผย ผลสำรวจความคิดเห็น ความคาดหวังของประชาชนหลังการเลือกตั้ง ส่วนใหญ่อยากได้นักการเมืองที่เสียสละ-มีคุณภาพ ให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียม -98% ระบุจะไปเลือกตั้งแน่นอน
วันที่ 19 มกราคม หลักสูตร บสส.8 สถาบันอิศรา จัดงานสัมมนาสาธารณะ “มองเมืองไทย ให้ไกลกว่าได้เลือกตั้ง” ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 6 อาคารปฏิบัติการวิทยุโทรทัศน์ บมจ. อสมท.
ภายในงานมีการนำเสนอผลสำรวจความคาดหวังของคนไทยหลังเลือกตั้ง โดยศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ซึ่งได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “ความคาดหวังของประชาชนหลังการเลือกตั้ง 2562” ระหว่างวันที่ 10 – 14 มกราคม 2562 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปกระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,253 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความคาดหวังของประชาชนหลังการ เลือกตั้ง 2562 ในด้านต่าง ๆ การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาคสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0
จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคาดหวังของประชาชนหลังการเลือกตั้ง 2562 ในด้านต่าง ๆ ดังนี้
“ด้านเศรษฐกิจ” พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 30.09 ระบุว่า แก้ปัญหาปากท้องและหนี้สินของประชาชน รองลงมา ร้อยละ 16.92 ระบุว่า ส่งเสริมราคาสินค้า/พืชผลทางการเกษตร ร้อยละ 15.01 ระบุว่า มีอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ให้ประชาชนและลดอัตราการว่างงาน ร้อยละ 13.25 ระบุว่า การลดค่าครองชีพ (ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำปะปา แก๊ส น้ำมัน ฯลฯ) ร้อยละ 11.09 ระบุว่า การจับจ่ายใช้สอย/ค้าขาย มีความคล่องตัวมากขึ้น ร้อยละ 3.99 ระบุว่า สร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศ ร้อยละ 3.43 ระบุว่า แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ร้อยละ 2.79 ระบุว่า การส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว ร้อยละ 2.47 ระบุว่า กระจายการจ้างงานและสร้างรายได้ไม่ให้กระจุกตามหัวเมืองใหญ่ ร้อยละ 0.80 ระบุว่า ไม่คาดหวังอะไร และร้อยละ 0.16 ไม่ระบุ
“ด้านการเมือง” พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 25.30 ระบุว่า นักการเมืองที่เสียสละเพื่อประชาชน มีคุณธรรม รองลงมา ร้อยละ 24.42 ระบุว่า ได้นายกที่มีความเป็นผู้นำ มีความสามารถในการบริหารประเทศ ร้อยละ 14.45 ระบุว่า มีการปฏิรูปการเมืองปราศจากความขัดแย้ง ร้อยละ 12.21 ระบุว่า ดำเนินการการเมืองให้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ร้อยละ 11.97 ระบุว่า นักการเมืองรุ่นใหม่ คนรุ่นใหม่ เข้ามาบริหารประเทศ ร้อยละ 8.78 ระบุว่า นโยบาย/โครงการใหม่ ๆ ที่สามารถพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า ร้อยละ 2.07 ระบุว่า ไม่คาดหวังอะไร ร้อยละ 0.48 ระบุว่า ไม่แน่ใจ และร้อยละ 0.32 ไม่ระบุ
“ด้านกฎหมาย” พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 43.73 ระบุว่า การบังคับใช้กฎหมายด้วยความเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ รองลงมา ร้อยละ 25.06 ระบุว่า มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด จริงจัง ร้อยละ 18.28 ระบุว่า ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างกฎหมายมากขึ้น ร้อยละ 11.09 ระบุว่า ปรับปรุงกฎหมายให้มีความทันยุคทันสมัย ร้อยละ 1.28 ระบุว่า ไม่คาดหวังอะไร ร้อยละ 0.32 ระบุว่า ไม่แน่ใจ และร้อยละ 0.24 ไม่ระบุ
“ด้านเกษตรกรรม” พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 43.26 ระบุว่า ราคาพืชผลทางการเกษตรสูงขึ้น รองลงมา ร้อยละ 14.60 ระบุว่า มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ร้อยละ 13.09 ระบุว่า ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง ร้อยละ 12.05 ระบุว่า มีแหล่งหรือตลาดที่แน่นอน ในการจำหน่ายพืชผลทางการเกษตร ร้อยละ 7.26 ระบุว่า สามารถผลิตพืชผลทางการเกษตรได้ทัดเทียมกับต่างประเทศ ร้อยละ 4.63 ระบุว่า ไม่มีหนี้สิน ร้อยละ 4.31 ระบุว่า มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ร้อยละ 0.56 ระบุว่า ไม่คาดหวังอะไร ร้อยละ 0.16 ระบุว่า ไม่แน่ใจ และร้อยละ 0.08 ไม่ระบุ
“ด้านการศึกษา” พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 29.69 ระบุว่า กระจายโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน รองลงมา ร้อยละ 23.78 ระบุว่า ส่งเสริมพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ร้อยละ 21.55 ระบุว่า โครงการเรียนฟรีถึงระดับปริญญาตรี ร้อยละ 10.62 ระบุว่า พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้เทียบเท่ากับต่างประเทศ ร้อยละ 3.83 ระบุว่า ยกเลิกค่าแป๊ะเจี๊ยะ ร้อยละ 3.51 ระบุว่า ส่งเสริมการศึกษาระดับอาชีวศึกษา ร้อยละ 3.35 ระบุว่า การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้กับการศึกษา ร้อยละ 2.47 ระบุว่า แก้ปัญหาการสอบเข้าในระดับอุดมศึกษา ร้อยละ 0.96 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ปลูกฝังเยาวชนไทยให้มีจิตสำนึก มีคุณธรรม และจริยธรรม ขณะที่บางส่วนระบุว่า ไม่คาดหวังอะไร และร้อยละ 0.24 ระบุว่า ไม่แน่ใจ
สำหรับสิ่งที่ประชาชนอยากเห็นมากที่สุด หลังการเลือกตั้ง 2562 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 36.79 ระบุว่า ประเทศสงบสุขและประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รองลงมา ร้อยละ 22.11 ระบุว่า ประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ร้อยละ 13.88 ระบุว่า ประเทศที่ปราศจากการคอร์รัปชัน โปร่งใส ตรวจสอบได้ ร้อยละ 8.14 ระบุว่า ประเทศกลับมาเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของอาเซียน ร้อยละ 5.03 ระบุว่า ประเทศที่ปราศจากการรัฐประหาร และประชาชนทุกคนมีสิทธิออกเสียง ไม่ว่าจะรวยหรือจน ในสัดส่วนที่เท่ากัน ร้อยละ 4.79 ระบุว่า การศึกษาที่มีคุณภาพ ร้อยละ 4.07 ระบุว่า การบริการด้านสาธารณสุขที่เท่าเทียมกัน (ค่ารักษาพยาบาล การบริการด้านสาธารณสุข ฯลฯ) และร้อยละ 0.08 ระบุว่า ไม่คาดหวังอะไร และไม่แน่ใจ ในสัดส่วนที่เท่ากัน
สำหรับความคิดเห็นเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของประชาชน หลังการเลือกตั้ง 2562 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 55.47 ระบุว่า น่าจะดีขึ้น รองลงมา ร้อยละ 24.42 ระบุว่า เหมือนเดิม ร้อยละ 11.73 ระบุว่า ดีขึ้นแน่นอน ร้อยละ 5.91 ระบุว่า ไม่แน่ใจ ร้อยละ 1.75 ระบุว่า ไม่น่าจะดีขึ้น และร้อยละ 0.72 ระบุว่า ไม่ดีขึ้นแน่นอน
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงการไปลงคะแนนเสียงของประชาชน ในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 98.08 ระบุว่า ไปแน่นอน รองลงมา ร้อยละ 1.36 ระบุว่า ไม่แน่ใจ และร้อยละ 0.56 ระบุว่า ไม่ไปแน่นอน