เวทีแพทยสภา แนะปชช.วางแผนก่อนออกจากบ้าน เลี่ยงเข้าพื้นที่มีฝุ่น PM 2.5 สูง
นายกแพทยสภา ชี้วันนี้สังคมไทยกำลังตื่นตัว บางส่วนเริ่มตื่นตระหนกฝุ่นละออง PM 2.5 กระทั่งวิ่งหาหน้ากาก ระบุชัดกระบวนการดูแลสุขภาพสามารถทำได้อีกมากมาย ชี้ฝุ่นละอองจำเป็นต้องแก้ไขที่ต้นเหตุด้วย ไม่เช่นนั้นก็จะกลับมาอีก
วันที่ 17 มกราคม กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับแพทยสภา จัดเสวนา เรื่อง “ฝุ่นละออง PM 2.5 กับปัญหาสุขภาพและแนวทางแก้ไข” ณ ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร ชั้น 2 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข นนทบุรี
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา นายกแพทยสภา กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า วันนี้สังคมไทยกำลังตื่นตัว และบางส่วนเริ่มตื่นตระหนกกับเรื่องฝุ่นละออง PM 2.5 กระทั่งวิ่งหาหน้ากากกัน ซึ่งกระบวนการดูแลสุขภาพสามารถทำได้อีกมากมายไม่ใช่เพียงแค่ใส่หน้ากากเท่านั้น อีกทั้งเรื่องฝุ่นละอองจำเป็นต้องแก้ไขที่ต้นเหตุด้วย ไม่เช่นนั้นก็จะกลับมาอีก
นายกแพทยสภา กล่าวถึงเรื่องต้นไม้ พบว่า ต้นตะขบ ดักกรองฝุ่นได้มากกว่าต้นไม้ชนิดอื่นๆ การปลูกต้นไม้กรองฝุ่นละอองจำเป็นต้องเริ่มปลูกตั้งแต่วันนี้ เชื่ออนาคตปัญหาฝุ่นละออกจะลดลง เลื่อน ลด ละเลิก เข้าไปในพื้นที่สีแดง
ด้านนพ.สุขุม กาจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยมีกรมอนามัย กรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ ร่วมปฏิบัติงาน เพื่อรวบรวมข้อมูลปัญหาฝุ่นละอองทั้งประเทศ และติดตามสถานการณ์จากหน่วยงานต่างๆ ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมมีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ดูแลประชาชนเชิงรุกด้วย
ขณะที่นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงความเสี่ยงของฝุ่นละอองขนาดเล็ก กลายเป็นสาเหตุการตายก่อนวัยอันสมควร ทำให้เกิดการเจ็บป่วย เกิดโรคทางเดินหายใจ หัวใจหลอดเลือด เป็นสารก่อมะเร็ง
"ในประเทศไทยจะเกิดในช่วงฤดูหนาวปลายปีต่อต้นปี สภาวะอากาศนิ่ง ลมสงบ ฝุ่นละอองขังตัวอยู่ข้างล่าง ซึ่งช่วงเวลาอื่นๆ ลมจะพัดไปออกไปสู่ชั้นบรรยากาศได้" รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว และว่า ส่วนแหล่งกำเนิดฝุ่นละออง PM 2.5 พบว่า หลักๆ เกิดจากการเผาไหม้ของน้ำมันเชื้อเพลิง การจราจร และการเผาในที่โล่ง ยิ่งหากการจราจรเคลื่อนตัวช้า จะมีการปล่อยระดับค่าฝุ่นละอองมากกว่า ขณะที่สถานีวัดค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ไม่ได้มีครอบคลุมทั้งประเทศ หลักๆ อยู่ที่กรุงเทพ และปริมณฑล และโซนภาคเหนือเท่านั้น
รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ อุปนายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย และกรรมการแพทยสภา กล่าวถึงการใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นละออง ว่า ขณะนี้มีความเข้าใจและสับสนจำนวนมาก ประเด็นสำคัญของฝุ่นจิ๋วมีความแตกต่างจากฝุ่นขนาดใหญ่ เพราะสามารถเล็ดลอดการป้องกันของร่างกาย เช่น ขนจมูกลงไปถึงทางเดินหายใจส่วนล่าง สู่ถุงลม ทำให้เกิดโรคต่างๆ
"การป้องกันได้มากเท่าไหร่ยิ่งลดผลกระทบได้มาก กรณีเข้าพื้นที่มีปริมาณฝุ่นระดับสูง เน้นการหลีกเลี่ยงก่อนเป็นลำดับแรก หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราควรป้องกันโดยใช้หน้ากาก N 95 แต่การใช้หน้ากากธรรมดา และใส่ให้เหมาะสม ก็ช่วยลดปริมาณฝุ่นได้เช่น หรือการใช้ทิชชู่ซ้อน ใส่หน้ากากสองชั้น ก็ต้องทำให้ดีและถูกต้องด้วย ทั้งหมดไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าดีขนาดไหน ผมว่า ดีกว่าไม่ใส่หน้ากาก"
รศ.นพ.ฉันชาย กล่าวถึงการใส่หน้ากาก N 95 ใส่ได้ แต่ไม่ควรใส่นาน หลักการสำคัญรู้สึกอึดอัดให้เอาออก และใส่หน้ากากธรรมดาแทน วิธีที่ดีที่สุดอย่าเข้าไปอยู่ในที่นี่มีความเสี่ยง ถ้าจำเป็นใช้หน้ากากป้องกันตัวเองทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งผลกระทบฝุ่นขนาดจิ๋วนอกจากเกิดในแง่เฉียบพลันแล้ว ที่กังวลไม่แพ้กัน คือ ผลกระทบระยะยาว เช่น ทำให้เกิดมะเร็ง สมองเสื่อม เด็กไม่พัฒนาตามวัย เป็นต้น
ทั้งนี้ รศ.นพ.ฉันชาย กล่าวด้วยว่า ในอนาคตต้องหาข้อมูลเชิงประจักษ์ ปัญหาฝุ่นละออง อะไรคือปัจจัยสำคัญ รวมถึงเป็นฝุ่นละอองที่มาจากที่อื่นหรือไม่ เพื่อช่วยกันหาทางแก้ไขต่อไป
ขณะที่นางสาวช่อผกา วิริยานนท์ ผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายต้นไม้ในเมือง กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขฝุ่นละอองอย่างยั่งยืน เชื่อว่า ต้นไม้ใหญ่ในเมืองจะช่วยได้ ถือเป็นการลงทุน และการมีวิสัยทัศน์ของผู้บริหารเมือง
"ปัจจุบันกทม.ดูแลไม้พุ่มได้ดีมาก แต่ไม้ใหญ่ตัดเกลี้ยง ซึ่งต้องปลูกเพิ่มและดูแลให้ดีกว่านี้ ข้อเสนอหยุดต้นต้นไม้หัวกุด ตัดแต่งให้ถูกวิธี อบรมให้ความรู้รุกขกร ทุกหน่วยงาน ทุกบริษัทรับตัดต้นไม้ ดูแลระบบรากต้นไม้ วางแผนปลูกเพิ่ม เพิ่มมาตรการทางกฎหมายให้ต้นไม้เป็นสมบัติสาธารณะ บูรณาการจัดทำแผนบริหารจัดการต้นไม้ในเมือง และเสนอครม.เป็นหนึ่งในแผนระยะยาวของชาติ" ผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายต้นไม้ในเมือง กล่าว และว่า ต้นไม้ใหญ่ไม่ใช่สวยงามเท่านั้น แต่กำลังช่วยชีวิตเรา หลายประเทศมีแผนต้นไม้ในเมือง ยกเว้นประเทศไทย
ด้านศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา กรรมการปฏิรูประบบสาธารณสุข กล่าวว่า ผลกระทบจากฝุ่นละอองเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นเล็กมาก หายใจเข้าไปแล้วเข้ากระแสเลือด ซึ่งก่อให้เกิดการอักเสบ ปฏิกิริยาสำคัญที่พบ 4 ปีที่ผ่านมาทำให้เกิดโรคมะเร็ง อัลไซเมอร์ วันนี้เราออมชอมไม่ได้
"การแก้ปัญหาเบื้องต้น ป้องกันตนเองเวลาออกจากบ้าน จำเป็นต้องวางแผนก่อน หากออกจากบ้านไปยังพื้นที่เสี่ยง หรือเลี่ยงไม่ได้ ก็ต้องอยู่ในจุดนั้นให้สั้นที่สุด และใส่หน้ากากให้เหมาะสม เลื่อนทำกิจกรรมต่างๆ และปิดประตูหน้าต่าง"
พร้อมกันนี้ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ตั้งคำถาม เราเจอปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 มานานพอสมควร ถามว่า จริงๆ แล้วปัญหาเกิดก่อนหน้านี้หรือไม่
ื