เบื้องลึก! 'กิตติพันธ์' ขอพักงาน ซีไอเอ็มบี 2 ด. สู้ข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธฯ-ตอนนี้มีอะไรในมือบ้าง?
"... สิ่งที่ผมพยายามจะชี้ให้เห็นคือด้านหนึ่งธนาคารน่าจะถูกร้องทุกข์จากผู้เสียหายว่าข้อเท็จจริงในการคัดสรรหุ้นกู้มาขายเป็นอย่างไร แต่ในอีกด้านหนึ่งนั้นมีการกล่าวหาที่สินเชื่อด้วยข้อกล่าวหาร้ายแรง คำถามที่ผมต้องตั้งคือคำตอบของธนาคารสอดคล้องกับข้อกล่าวหาหรือไม่ หากมีการกล่าวหาผมในเรื่องข้างต้นนั้น ได้มีการตรวจสอบทีมหุ้นกู้หรือไม่ว่าทำความเสียหายให้นักลงทุนหรือไม่ แต่ต้องลองไปดูครับว่าใครรับผิดชอบการขายหุ้นกู้ในวันนั้น และในวันนี้ผู้บริหารท่านนั้นดำรงตำแหน่งอะไร และมีบทบาทอย่างไรในการตรวจสอบเรื่องเกี่ยวกับเอิร์ธ ท่านจะพอเห็นได้ว่าทำไมผมถึงคิดว่าการตรวจสอบอาจไม่มีความโปร่งใสพอและไม่เป็นธรรมกับผม..."
"คณะกรรมการธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) ได้มีมติในการประชุมเมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2562 อนุมัติการขอลาพักเป็นการชั่วคราวจากการทำหน้าที่ในบทบาทของกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ สืบเนื่องจากการที่นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหารของธนาคาร ได้ถูกกล่าวหาตามที่ปรากฏในข่าวแล้วนั้น นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ ได้ยื่นขอลาพักเป็นการชั่วคราวจากการทำหน้าที่ในบทบาทของกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหารรวมถึงตำแหน่งในคณะกรรมการธนาคารและคณะกรรมการชุดย่อยต่างๆของธนาคารจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2562 เพื่อจะได้ดำเนินการตามกระบวนการต่างๆในการปกป้องชื่อเสียงและมาตรฐานทางวิชาชีพของการเป็นนายธนาคารตลอดจนเป็นการรักษาผลประโยชน์และชื่อเสียงของธนาคาร "
คือ ความเคลื่อนไหวล่าสุด ของ นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ อดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ปัจจุบันเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ที่ถูกคณะกรรมการสอบสวนของธนาคารกรุงไทย แจ้งข้อกล่าวหาว่ากระทำความผิดร้ายแรง เกี่ยวกับการปล่อยสินเชื่อให้บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) ในการให้ข้อมูลที่ไม่ตรงตามข้อเท็จจริงในการเสนอปล่อยสินเชื่อ ทำให้ธนาคารได้รับความเสียหาย ขณะที่เจ้าตัวยืนยันว่า การทำงานของตนที่ผ่านมาเป็นไปตามระเบียบขั้นตอนการปล่อยสินเชื่อของธนาคารทุกประการ และมีขบวนการจ้องเล่นงาน ให้ตนเป็นแพะรับผิดจากกรณีนี้ (อ่านประกอบ :ซีไอเอ็มบี แจ้งตลาดฯ 'กิตติพันธ์' ขอพักงาน 2 ด. ไปต่อสู้ข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธฯ)
ไม่ว่าข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร? ในช่วงระยะเวลา 2 เดือนนับจากนี้ นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ จะทำอะไรได้เกี่ยวกับเรื่องนี้?
แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฎชัดเจนในขณะนี้ คือ นายกิตติพันธ์ ถูกคณะกรรมการสอบสวนฯ ชี้มูลความผิดในเรื่องนี้ 4 ลักษณะด้วยกัน คือ
1. ไม่ทำหน้าที่ในการให้ข้อมูลการเสนอขออนุมัติสินเชื่อของกลุ่มเอ็นเนอร์ยี่เอิร์ธฯ แก่คณะกรรมการกลั่นกรองสินเชื่อให้ครบทุกด้าน
2. ไม่ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลจนเป็นสาเหตุให้กลุ่มเอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธฯ สามารถเบิกใช้เงินกู้วงเงินสินเชื่อได้สำเร็จ อีกทั้งเป็นผู้วางแผนโครงสร้างวงเงินสินเชื่อล่วงหน้าให้กับกลุ่มเอ็นเนอร์ยี่เอิร์ธฯ ในการนำเสนอวงเงินสินเชื่อระยะเวลา
3. จงใจไม่ทักท้วงถึงข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความผิดปกติของธุรกรรมทางการค้า และเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขการเป็น Reimburse เหมือง ทั้งที่กลุ่มเอ็นเนอร์ยี่เอิร์ธฯ ได้แสดงความประสงค์ของวงเงินสินเชื่อ เพื่อก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเหมือง รวมถึงเป็นผู้กำหนดวงเงิน Tranche 2 เป็น permanent Working Capital ที่เป็นวิธีการทางการเงินที่ซับซ้อน โดยไม่มีหลักประกันเพิ่มซึ่งเป็นสาเหตุให้ธนาคารควบคุมการใช้วงเงินของกลุ่มเอ็นเนอร์ยี่เอิร์ธฯ ได้ยาก และไม่เป็นไปตามมาตรฐานการอำนวยการสินเชื่อตามปกติ จนทำให้ธนาคารมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น
และ 4. ยังได้วางแผนโครงสร้างวงเงินสินเชื่อในลักษณะ Equity Finance ที่เพิ่มความเสี่ยงต่อธนาคาร โดยมีเจตนานำเสนอให้ระงับการใช้วงเงินที่มีระดับความเสี่ยงต่ำเปลี่ยนไปเป็นวงเงินที่มีความเสี่ยงสูงซึ่งไม่คำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ อีกทั้งยังปรากฎว่า ตัวนายกิตติพันธ์ ได้รับทราบข้อมูลกรณีกลุ่มเอ็นเนอร์ยี่เอิร์ธฯ มีกำไรลดลง แต่กลับไม่ได้ชะลอการลงนามในสัญญาวงเงินสินเชื่อออกไป และยังมีพฤติกรรมส่อว่าจงใจไม่รายงานเรื่องการเปลี่ยนเหมืองและเปลี่ยนไปซื้อเหมืองด้วย
ทั้งหมดนี่ คือข้อกล่าวหาหลักๆ ในคดีนี้ ที่เกี่ยวกับตัวนายกิตติพันธ์ โดยตรง
อย่างไรก็ดี สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันจากคนใกล้ชิด นายกิตติพันธ์ ว่า เกี่ยวกับข้อกล่าวหาเหล่านี้ ที่ผ่านมาแม้ว่า นายกิตติพันธ์ จะไม่ได้รับความเป็นธรรมในการรับทราบข้อมูลข้อกล่าวหาเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการต่อสู้คดี
แต่ก็มีการรวบรวมข้อมูลไว้หลายส่วนแล้ว เพราะมีผู้หวังดีบางกลุ่มในธนาคารกรุงไทย ทำเอกสารสำคัญตกไว้หลายชิ้น โดยเฉพาะข้อเท็จจริงเรื่องการใช้ข้อมูลทางการเงิน ปล่อยหุ้นกู้ก้อนที่ 2 และ3 ให้กับกลุ่มเอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธฯ ซึ่งพบว่าฐานข้อมูลที่ใช้ในการพิจารณา เป็นชุดเดียวกับที่มีการปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มเอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธฯ 2 ก้อน วงเงิน 4.5 พันล้านบาท ช่วงที่นาย นายกิตติพันธ์ นั่งบริหารงานอยู่ที่ธนาคารกรุงไทย
นอกจากนี้ นายกิตติพันธ์ ยังได้มีการรวบรวมหลักฐานเอกสารต่างๆ ที่แสดงให้เห็นว่า นอกจากจะไม่ได้รับความเป็นธรรมในการถูกสอบสวนเรื่องนี้แล้ว กระบวนการสอบสวนตน ก็ยังลักษณะส่อว่า เป็นขบวนการจ้องเล่นงานให้ตกเป็นแพะรับบาปเรื่องนี้ไปคนเดียว ถึงขนาดมีการนัดประชุมเพื่อลงมติแก้ระเบียบธนาคาร เรื่องอำนาจกรรมการ ให้สามารถสอบสวนเรื่องนี้ได้
ขณะที่ ลูกน้องในทีมของ นายกิตติพันธ์ ช่วงที่บริหารงานอยู่ที่ธนาคารกรุงไทย ก็ถูกสั่งลงโทษไล่ออกจากเรื่องนี้ไปแล้ว หลายคน
"สิ่งที่นายกิตติพันธ์ จะดำเนินการในเรื่องนี้ จะมี 2 ส่วนหลัก คือ 1. เดินหน้าต่อสู้แก้ข้อกล่าวหาตามขั้นตอน ทั้งการใช้สิทธิอุทธรณ์ผลการสอบสวนต่อธนาคารกรุงไทยภายใน 60 วัน ที่ขณะนี้ยังมีเวลาอยู่ และทำหนังสือชี้แจงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงทางธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย นอกจากนี้ จะมีการให้ข้อมูลชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสาธารณชนผ่านช่องทางการสื่อสารรูปแบบต่างๆ ด้วย "
"ส่วนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องการปล่อยสินเชื่อให้กับ กลุ่มเอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธฯ นายกิตติพันธ์ ยังคงยืนยันว่าดำเนินการตามขั้นตอนและระเบียบทุกประการ และตนเองก็ไม่มีอำนาจในการอนุมัติสั่งการหรือมีลายเซ็นกำกับอะไรด้วย ขณะที่อำนาจการอนุมัติอยู่ในบุคคลกลุ่มหนึ่ง ถ้าหาก นายกิตติพันธ์ จะต้องรับผิดชอบอะไรกับเรื่องนี้ คนกลุ่มนั้นควรต้องโดนไปกับเขาด้วย"
ล่าสุด ในช่วงเย็นวันที่ 16 ม.ค.2562 ที่ผ่านมา นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ โพสต์เฟสบุ๊กส่วนตัว(Kittiphun Anutarasoti) ชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องนี้ หลังขอพักงานในตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย 2 เดือน ว่า ก่อนอื่นผมอยากที่จะขอขอบคุณคณะกรรมการธนาคารซีไอเอ็มบีไทยและผู้บริหารกลุ่มซีไอเอ็มบีที่กรุณาอนุญาตให้ผมได้พักงานชั่วคราว (Leave of Absence) ตามที่ผมได้ขอไป เหตุผลหลักๆที่ผมตัดสินใจขอพักงานคือไม่ต้องการให้เรื่องส่วนตัวนั้นกระทบใดๆกับชื่อเสียงและการดำเนินงานของธนาคารซีไอเอ็มบีไทย และผมเองมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เวลาและพลังในช่วงหลายสัปดาห์ข้างหน้าในการที่จะดำเนินการต่างๆเพื่อปกป้องชื่อเสียง จรรยาบรรณวิชาชีพ และสิทธิ์ทางกฎหมายอย่างเต็มที่ ผมจะเริ่มพักงานหลังจากที่ Acting President and CEO ได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการเพื่อให้ไม่เกิดผลกระทบใดๆกับการดำเนินงานของธนาคารซีไอเอ็มบีไทย
ตอนที่แล้วผมได้เขียนไว้ว่าจะนำข้อมูลทางการเงินมาเปรียบเทียบให้ดูว่า ในเงื่อนเวลาต่างๆที่เกิดขึ้น และหลายหน่วยงานได้ใช้ดุลพินิจนั้น เอิร์ธมีผลประกอบการเป็นอย่างไรครับ (อ่านประกอบ :กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ : ศักดิ์ศรีจรรยาบรรณวิชาชีพนายธนาคาร กับ กรณีปล่อยกู้เอิร์ธฯ)
ผมขอตั้งชื่อตอนที่สองว่า ความจริงปิดกันไม่ได้...
วันนี้ผมขอนำข้อมูลทางการเงินมาประกอบนะครับ ซึ่งข้อมูลทางการเงินของเอิร์ธนั้นเป็นข้อมูลที่อยู่ตามสื่อสาธารณะที่ทุกท่านสามารถตรวจสอบได้ครับ ที่เอามาให้ดูเพราะต้องการจะชี้ให้เห็นถึงความไม่เป็นธรรมและความไม่สอดคล้องของข้อกล่าวหาต่อผม และสิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับนักลงทุนรายย่อย ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าธนาคารมีการยืนยันต่อนักลงทุนหรือไม่ว่าในตอนที่ขายหุ้นกู้ได้ทำทุกอย่างตามมาตรฐานที่ควรจะทำ และในขณะนั้นเอิร์ธเป็นลูกค้าที่ดี
ผมเริ่มจากสินเชื่อที่ผมมีส่วนเกี่ยวข้อง 2 วงครับ วงแรกเกิดในเดือนเมษายน 2558 และวงที่สองเดือนมิถุนายน 2558 ซึ่งการอนุมัตินั้นใช้ข้อมูลผลประกอบการตามที่เสนอในรูปที่ 1 ครับ ส่วนการออกหุ้นกู้นั้นเกิดในเดือนธันวาคม 2558 และตุลาคม 2559 ซึ่งผมนำเสนอข้อมูลทางการเงินในรูปที่ 1 และรูปที่ 2 ครับ โดยนำเสนอในลักษณะ time line เรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่อง Technical สักนิดสำหรับผู้ที่ไม่ได้มีประสบการณ์เรื่องการวิเคราะห์ หากดูง่ายๆให้เข้าใจผมว่าดูแค่กำไรสุทธิกับเงินกู้รวมได้เลยครับ ว่าในแต่ละจุดกำไรลดหรือเพิ่ม และเงินกู้ลดหรือเพิ่มอย่างไรครับ
วงเงินที่หนึ่งมีการกล่าวหาว่าไม่ตรวจสอบข้อมูลทำให้ลูกค้าได้เงินมากกว่าที่ขอมา แต่ธนาคารเดียวกันกลับทำการออกหุ้นกู้เพิ่มให้กับลูกค้าในเวลาแค่ไม่กี่เดือนต่อมา แล้วมีการตรวจสอบหรือไม่ว่าวัตถุประสงค์ที่มาขอกับวัตถุประสงค์ที่ออกหุ้นกู้ให้ตรงหรือไม่ตรงกันอย่างไร ผมบอกได้แค่ว่าน่าจะมีการตรวจสอบเรื่องนี้ด้วยครับ หากมีการกล่าวหาผมในประเด็นดังกล่าว ท่านผู้ถือหุ้นกู้น่าจะใช้ประเด็นเดียวกันเรียกร้องจากธนาคารได้เช่นกัน เอกสารมีอยู่ในธนาคารครับ ทุกอย่างมีหลักฐานตรวจสอบได้หมด
นอกจากนั้นยังมีการกล่าวหาว่าผมเป็นคนกำหนดวงเงินส่วนหนึ่งให้เป็น Permanent Working Capital เป็นวิธีทางการเงินที่สลับซับซ้อน โดยไม่มีหลักประกันเพิ่มเติม เป็นสาเหตุที่ทำให้ธนาคารควบคุมการใช้วงเงินของกลุ่มเอเนอร์ยี่ เอิร์ธได้ยาก และไม่เป็นไปตามมาตรฐานอำนวยสินเชื่อตามปรกติ ผมเลยขอตั้งข้อสังเกตว่าเงินกู้วงเงินนี้มีลักษณะเหมือนกับหุ้นกู้ทุกประการ และรูปแบบวงเงินนี้ธนาคารเองก็มีการอนุมัติสำหรับลูกค้ารายอื่น หากวงเงินดังกล่าวเป็นปัญหากับธนาคารตามข้อกล่าวหา เราควรตั้งคำถามหรือไม่ว่าทำไมธนาคารเองนำหุ้นกู้มาขายให้นักลงทุนเป็นจำนวนมากกว่าวงเงินกู้ที่หนึ่งถึงเกือบ 1.5 เท่าจากหุ้นกู้ทั้งสองรุ่น หากท่านไปค้นหาคำว่า Permanent Working Capital ทาง Search Engine ท่านจะพบเรื่องดังกล่าวในบทเรียนทางการเงินมากมายทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษครับ ที่สำคัญอย่างที่ผมได้เรียนย้ำไปครับ ผมคนเดียวจะทำทุกอย่างนี้ได้หมดหรือ ผมไม่ได้มีอำนาจการอนุมัติสินเชื่อใดๆ การอนุมัติผ่านการกลั่นกรองของคณะกรรมการกลั่นกรองสินเชื่อ และอนุมัติโดยคณะกรรมการบริหาร หากสิ่งที่นำเสนอผิดธรรมเนียมปฏิบัติในธนาคารและมาตรฐานทางวิชาชีพที่ดี จะได้รับการอนุมัติหรือ ในกรณีนี้มีการใช้ดุลพินิจของอีกสายงานหนึ่งทำเรื่องเหมือนกันทุกประการอีกต่างหาก...
วงเงินที่สองที่ทำในเดือนมิถุนายน 2558 นั้นไม่ได้เป็นวงเงินที่ให้กับเอิร์ธโดยตรง แต่เป็นบริษัทอื่นที่พึ่งพากระแสเงินสดจากเอิร์ธ การวิเคราะห์ใช้งบการเงินในไตรมาส 1 2558 เป็นส่วนหนึ่งของการวิเคราะห์ แต่ ณ วันทำการเซ็นสัญญาและเบิกจ่ายในเดือนสิงหาคม ซึ่งงบไตรมาส 2 2558 เพิ่งได้ถูกประกาศ และมีการกล่าวหาผมว่าผมไม่ได้พยายามหยุดยั้งหรือชะลอการเบิกเงินกู้ในเดือนสิงหาคมเมื่อทราบผลประกอบการไตรมาส 2 อ่อนตัวลงจากไตรมาส 1 2558 (ผมขอไม่กล่าวในที่นี้ว่าผมทำอะไรในเรื่องดังกล่าวซึ่งผมคิดว่าเป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาชีพที่ได้เรียนรู้มา) แต่ไม่มีการบอกแต่อย่างใดว่าเรื่องดังกล่าวทำให้ธนาคารเสียหายอย่างไร เพราะเท่าที่รู้มานั้นสินเชื่อวงนี้จ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นตรงเวลา นอกจากนั้นธนาคารยังทำการขายหุ้นกู้ชุดที่ 1 ให้ในเดือนธันวาคม 2558 ซึ่งใช้งบการเงินไตรมาส 3 2558 เป็นข้อมูลประกอบ หากท่านดูเปรียบเทียบผลประกอบการไตรมาส 2 และไตรมาส 3 2558 นั้นท่านจะเห็นได้ว่าแทบไม่มีความแตกต่างใดๆ
หนักไปกว่านั้น ถ้าท่านเปรียบเทียบผลประกอบการไตรมาส 2 2558 กับไตรมาส 2 2559 ที่ธนาคารใช้ประกอบการขายหุ้นกู้ชุดที่สองในเดือนตุลาคม 2559 ท่านจะเห็นได้ว่าผลประกอบการในไตรมาส 2 2559นั้นอ่อนตัวลงกว่าในไตรมาส 2 2558 พอสมควรเนื่องจากภาวะอุตสาหกรรม หากพิจารณาลึกลงไปถึงวัตถุประสงค์ที่ระบุในการจำหน่ายหุ้นกู้เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มเติมนั้น แปลว่าทางทีมงานที่ทำก็ยังได้ใช้ดุลพินิจอีกว่าณขณะนั้นลูกหนี้มีความสามารถในการเพิ่มหนี้อีก 4,000 ล้านบาท ผมไม่ได้บอกนะครับว่าผลประกอบการดีหรือไม่ดี ควรหรือไม่ควรขายหุ้นกู้ เพียงแต่เปรียบเทียบให้เห็นความแปลกของข้อกล่าวหาเพราะไม่สอดคล้องกับสิ่งที่ธนาคารเองปฏิบัติกับนักลงทุน
ผมไม่แน่ใจว่าทางธนาคารได้มีการตอบข้อมูลที่ทางผู้ถือหุ้นกู้น่าจะร้องทุกข์ไม่ผ่านธนาคารแห่งประเทศไทยก็ผ่านสำนักงานกลต.หรือไม่ หากตอบตอบว่าอะไร แต่ถ้าใครมีคำตอบเอามาเปรียบเทียบกันดูได้ครับว่าสอดคล้องกันมั้ย
สิ่งที่ผมพยายามจะชี้ให้เห็นคือด้านหนึ่งธนาคารน่าจะถูกร้องทุกข์จากผู้เสียหายว่าข้อเท็จจริงในการคัดสรรหุ้นกู้มาขายเป็นอย่างไร แต่ในอีกด้านหนึ่งนั้นมีการกล่าวหาที่สินเชื่อด้วยข้อกล่าวหาร้ายแรง คำถามที่ผมต้องตั้งคือคำตอบของธนาคารสอดคล้องกับข้อกล่าวหาหรือไม่ หากมีการกล่าวหาผมในเรื่องข้างต้นนั้น ได้มีการตรวจสอบทีมหุ้นกู้หรือไม่ว่าทำความเสียหายให้นักลงทุนหรือไม่ แต่ต้องลองไปดูครับว่าใครรับผิดชอบการขายหุ้นกู้ในวันนั้น และในวันนี้ผู้บริหารท่านนั้นดำรงตำแหน่งอะไร และมีบทบาทอย่างไรในการตรวจสอบเรื่องเกี่ยวกับเอิร์ธ ท่านจะพอเห็นได้ว่าทำไมผมถึงคิดว่าการตรวจสอบอาจไม่มีความโปร่งใสพอและไม่เป็นธรรมกับผม
เรื่องต่างๆเหล่านี้ตามที่ผมได้กล่าวไว้ในบทความตอนที่ 1 ครับว่าหากไม่มีองค์กรที่มีความเป็นกลางมาตรวจสอบอย่างโปร่งใสนั้น ความจริงจะปรากฎได้อย่างไร ธนาคารมีหลายบทบาท และจากสิ่งที่ผมได้แบ่งปันให้ดูก็เห็นความเป็นไปได้ของความขัดแย้งของข้อเท็จจริงกับผู้มีส่วนได้เสียต่างกลุ่มกัน ตัวอย่างที่ผมยกมานั้นแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของการปฏิบัติที่แปลกๆ หากความจริงไม่ปรากฏ ผมว่าความเป็นธรรมคงออกมายากครับ เรื่องนี้ผมคิดว่าเป็นบทพิสูจน์ผู้กำกับดูแลอย่างแท้จริงว่ามีการพิจารณาทุกเรื่องอย่างละเอียดถี่ถ้วนและเป็นกลางหรือไม่ ข้อมูลต่างๆเหล่านี้ผมได้ส่งให้ทางธนาคารแห่งประเทศไทยไปหมดแล้วครับ
ผมจึงมีความจำเป็นต้องออกมาพูดให้สังคมได้เห็นถึงข้อเท็จจริงครับ เรื่องนี้ผมคิดว่าเป็นคงได้แต่หวังว่าผู้กำกับดูแลอย่างธนาคารแห่งประเทศไทยและสำนักงานก.ล.ต.สามารถให้ความเป็นธรรมกับผู้มีส่วนได้เสียทุกๆฝ่ายได้
พบกันตอนต่อไปครับ
#ขอความเป็นธรรม
#จริยธรรมและธรรมาภิบาลที่ดีเริ่มจากผู้กำกับดูแลให้ความสำคัญอย่างจริงจังกับความถูกต้องและเป็นกลาง
-----------------
ทั้งหมดนี่ คือ ข้อความในเฟซบุ๊กล่าสุด ของ นายกิตติพันธ์ ที่ส่งสัญญาณชัดเจนแล้วว่า เขาพร้อมสู้ ทุกทางทุกประตู ต่อกรณีนี้ อย่างเต็มที่
ช่วงระยะเวลา 2 เดือนนับจากนี้ สถานการณ์ในธนาคารกรุงไทย คงจะกลับมาร้อนแรงและน่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง
ภายใต้ศึกแห่งศักดิ์ศรี ที่มีเรื่องจรรยาบรรณวิชาชีพนายธนาคารเป็นเดิมพัน!
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ:
กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ : ศักดิ์ศรีจรรยาบรรณวิชาชีพนายธนาคาร กับ กรณีปล่อยกู้เอิร์ธฯ
กรุงไทย ยันไม่เคยหารือเอิร์ธฯออกมติเชิญเป็นกก.ย้ำสถานะผู้เสียหายฟ้องแพ่ง-อาญา
ก.ล.ต. กล่าวโทษ ก.ก. EARTH 11 ราย ยินยอมให้ลงข้อความเท็จหนี้เพิ่ม2.6หมื่นล้าน
ตั้ง บ.อีวายฯ ทำแผน! ศาลสั่งฟื้นฟูกิจการ‘เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ’-หลังปมหนี้ 2.6 หมื่นล.
ถ้าผิดจริงคุก240ปี! กรุงไทยเตรียมแจ้งดีเอสไอเพิ่ม-พบปลอมใบขนถ่านหิน80ฉบับเกือบหมื่นล.
ใช้1.5หมื่นล.แลกเหมืองถ่านหิน! เปิดรายงานตรวจสอบบ.เอิร์ธฯ สัญญาซื้อ3หมื่นล.ล่องหน
แนะกสิกรไทย-กรุงศรี-ธสน.ตรวจสอบใบขนถ่านหิน 'เอิร์ธ' หวั่นเจอเหมือนกรุงไทย!
ฉ้อโกงกรุงไทยหลายพันล.ปลอมใบขนถ่านหิน บ.เอิร์ธกู้เงิน-แจ้งดีเอสไอลุยสอบ