เพิ่มความน่าเชื่อถือ!งานวิจัยศูนย์ต้านทุจริตฯชงที่ปรึกษา-ผู้บริหาร ป.ป.ช.โชว์ทรัพย์สิน
เปิดงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ปมยื่นบัญชีทรัพย์สิน ศูนย์ต่อต้านการทุจริตป๋วย อึ้งภากรณ์ พบข้อเสนอให้ที่ปรึกษา-เลขาฯ ปธ.-กก.ป.ป.ช.-ผู้บริหารสำนักงานฯ ต้องยื่น-เปิดเผยทรัพย์สินต่อสาธารณะด้วย เพื่อสร้างความโปร่งใส-น่าเชื่อถือ สื่อไปถึงองค์กรอื่นว่าพร้อมให้ประชาชนตรวจสอบ ชงใช้ระบบสารสนเทศ-AI วิเคราะห์ข้อมูล เน้นทำงานเชิงรุก ไม่ใช่สอบทุกบัญชี
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ศูนย์วิจัยเพื่อต่อต้านการทุจริต ป๋วย อึ้งภากรณ์ ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เผยแพร่รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ เรื่องตำแหน่งเจ้าหน้าที่รัฐกับการเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อสาธารณะ จัดทำโดย ผศ.ดร.วรรณภา ติระสังขะ น.ส.พัชรี มีนสุข นายเถกิงศักดิ์ ไชยา นายศักดินันท์ คุณอเนก และนายกิรพัฒน์ เขียนทองกุล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาตำแหน่งเจ้าหน้าที่รัฐกับการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินต่อสาธารณะ ศึกษาเปรียบเทียบ แนวคิด หลักการ การเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน และการกำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่รัฐในการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินระหว่างไทยและต่างประเทศ รวมถึงวิเคราะห์แนวโน้มการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน ภายใต้ พ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ. 2561
ผลการวิจัยสรุปได้ว่า หลักเกณฑ์ในการกำหนดตำแหน่งที่ต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินต่อสาธารณะ ได้แก่ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เช่น นายกรัฐมนนตรี รัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. หรือผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจากผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง เจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้ดุลพินิจอันจะเกิดการให้คุณหรือให้โทษกับประชาชน เช่น ผู้ตรวจสอบภาษี ผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบบัญชี เป็นต้น เจ้าหน้าที่รัฐที่มีหน้าที่ดำรงความยุติธรรมในประเทศ เช่น พนักงานอัยการ พนักงานสอบสวน (ตำรวจ) และเสมียนประจำศาล
นอกจากนี้ยังรวมถึงหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในประเทศ จำเป็นต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินต่อสาธารณะด้วย โดยงานวิจัยชิ้นนี้ ยกตัวอย่างในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่กำหนดให้ผู้อำนวยการสำนักจริยธรรมของรัฐ และเจ้าหน้าที่ของสำนักจริยธรรมของรัฐที่ประจำหน่วยงานต่าง ๆ ต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินด้วย (อำนาจหน้าที่ของสำนักจริยธรรมของรัฐ คือการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินนักการเมือง และเจ้าหน้าที่รัฐ)
ทั้งนี้คณะผู้วิจัย เสนอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ใช้อำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 28 (3) กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาประธาน/กรรมการ ป.ป.ช. เลขานุการประธาน/กรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. และเปิดเผยต่อสาธารณะด้วย เนื่องจากเป็นผู้ใกล้ชิดคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งจะเป็นการสร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ประการหนึ่ง
นอกจากนี้ควรกำหนดให้ตำแหน่งผู้บริหารสำนักงาน ป.ป.ช. จำนวน 120 ตำแหน่ง ได้แก่ รองเลขาธิการ 6 ตำแหน่ง ผู้ช่วยเลขาธิการ 6 ตำแหน่ง ผู้ช่วยเลขาธิการ ภาค รวม 9 ตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนัก 99 ตำแหน่ง เพื่อเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือขององค์กรให้เป็นที่ประจักษ์ต่อประชาชน และเป็นการสื่อสารไปยังหน่วยงานรัฐอื่นว่า หน่วยงานรัฐต้องมีความโปร่งใส และพร้อมให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้
คณะผู้วิจัย ยังมีข้อเสนออีกว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ควรปรับกระบวนการตรวจสอบทรัพย์สินให้มีความสอดรับกับการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน ให้เป็นการตรวจสอบเชิงรุก เจ้าพนักงานตรวจสอบทรัพย์สินเป็นผู้เฝ้าระวังประเด็นการทุจริต และการร่ำรวยผิดปกติของเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมืองที่เกิดขึ้นในสังคม โดยผ่านการแจ้งเบาะแสจากภาคประชาชน รวมถึงควรพัฒนาแพลตฟอร์มในการยื่นบัญชีทรัพย์สิน และพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อรวบรวมและวิเคราะห์ทรัพย์สิน (ACAS) ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อรองรับต่อการยื่นบัญชีทรัพย์สินด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ และการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินออนไลน์ ทั้งนี้หากระบบสารสนเทศดังกล่าวสามารถพัฒนาไปถึงขั้นการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการช่วยวิเคราะห์ และตรวจสอบความผิดปกติในบัญชีทรัพย์สินที่ยื่นต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ โดยเจ้าพนักงานตรวจสอบทรัพย์สินเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์มาตรฐาน (Criteria) ภารกิจด้านตรวจสอบทรัพย์สินของคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะช่วยยกระดับการป้องกันการทุจริตในไทยได้อย่างมาก
ขณะเดียวกันบทบาทของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในยุคสมัยที่จะมีการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินแผ่ขยายขอบเขตครอบคลุมไปถึง 178,991 บัญชี และการตื่นตัวของภาคประชาชน บทบาทในการตรวจสอบทรัพย์สิน จึงควรปรับเปลี่ยนมาเป็นผู้ที่คอยรับแจ้งเบาะแส/เรื่องร้องเรียนจากภาคประชาชน/สื่อมวลชน แล้วดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินเชิงลึกเพื่อค้นหาข้อเท็จจริง และตรวจสอบความผิดปกติทางบัญชีการเงิน มากกว่าการตรวจสอบทุกบัญชี หรือหากต้องการดำเนินการตรวจสอบทุกบัญชี คณะกรรมการ ป.ป.ช. ควรมีเทคโนโลยีเพื่อช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถทำงานได้สะดวกมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีมีความก้าวหน้าสูง และมีค่าใช้จ่ายที่ไม่แพงมาก เมื่อเทียบกับการจ้างบุคลากรเพิ่ม
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/