ผอ.กรีนพีซฯ ย้ำสาเหตุเกิด PM2.5 ในกทม. “รถยนต์-โรงงาน-เตาเผาขยะ” ไม่ใช่ก่อสร้าง
ผอ.กรีนพีซฯ ชี้สาเหตุหลักเกิด PM2.5 ในกทม. รถยนต์-โรงงาน-เตาเผาขยะ ยันก่อสร้างไม่ใช่ปัญหา เหตุเป็นฝุ่นขนาดใหญ่ สันนิษฐาน มลพิษข้ามพรมแดน อาจมีส่วน
นายธารา บัวคำศรี ผอ.ประจำประเทศไทย กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยกับสำนักข่าวอิรา www.isranews.org ถึงจุดเริ่มต้นของการเกิดปัญหาฝุ่นควันในประเทศไทย มีสาเหตุมาจากอาณาเขตตั้งอยู่ในส่วนหนึ่งของพื้นที่ภูมิภาคแม่น้ำโขงตอนล่าง จึงมักจะประสบปัญหาเรื่องมลพิษข้ามพรมแดน ที่ขึ้นมาจากทางประเทศสิงคโปร์ ประเทศอินโดนีเซีย และทางภาคใต้ของประเทศไทย
“ในช่วงปรากฏการณ์ภัยแล้งที่ยาวนาน หรือที่เรียกว่า “เอลนีโญ” เราจะเห็นขอบเขตการเคลื่อนตัวของหมอกควันพิษข้างพรมแดนมาจากจุดกำเนิดที่อยู่ห่างไกล ซึ่งส่วนมากเรามักจะรู้จักกับเรื่องควันไฟป่าที่มองเห็นในประเทศอินโดนีเซีย และส่งผลกระทบในพื้นที่ที่เรียกว่าไม่เคยมีวิกฤตมลพิษมาก่อน คือทางภาคใต้ในตอนนั้น”
ส่วนในกรณีของฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพนั้น ผอ.กรีนพีซ ระบุหากสังเกตจะพบว่าเริ่มประสบปัญหานี้ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2561 ซึ่งเว้นวรรคปัญหาหรือมีฝุ่นน้อยลงเฉพาะในช่วงปีใหม่ 3-4 วันเท่านั้น กรุงเทพก็กลับมาประสบปัญหาเดิม แต่ที่เป็นข้อสังเกตคือระดับความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 ในครั้งนี้เพิ่มสูงขึ้น มีปรากฏการณ์ฝุ่นอยู่หลายวัน และฝุ่นที่เป็นวิกฤตขณะนี้ มีลักษณะเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา บางช่วงเราจะเจอกับความเข้มข้นที่เกิดขึ้นในระหว่างวัน และบางช่วงอาจบางเบา อย่างเช่นเวลาตอนกลางวันช่วงกระจายของฝุ่นมีไม่มาก ฝุ่นควันในช่วงนี้ก็จะบางเบา
สาเหตุปัญหาที่ปรากฏอยู่หลายวันจากข้อสังเกตของทิศทางลมและลักษณะสภาพอากาศว่า ปัญหาระดับความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 อาจมาจากสาเหตุมลพิษข้ามพรมแดนด้วย เมื่อดูจากทิศทางลมแล้ว ลักษณะสภาพภูมิอากาศที่เป็นอยู่ตอนนี้คือ กระแสลมพัดจากตะวันออก คือทางฝั่งกัมพูชา วิ่งเข้ามาแถวภาคตะวันออก ภาคกลาง กรุงเทพ ประเทศไทย
อีกทั้งยังพบรายงานศูนย์มิติวิทยาของอาเซียน ที่ติดตามเรื่องการเกิดไฟในภูมิภาคว่า มีหมอกควันที่เกิดจากการเผาไหม้ทางภาคเหนือกับภาคตะวันออกของประเทศกัมพูชา คล้ายกับปรากฏการณ์ไฟป่าที่เกิดขึ้นในประเทศอินโดนีเซียที่ได้กล่าวไปในตอนต้น ซึ่งอาจทำให้กระแสลมพาหมอกควันเหล่านี้มาถึงกรุงเทพได้
นายธารา กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม แหล่งกำเนิดหลักของการเกิดปัญหาฝุ่นควันในกรุงเทพฯ คือ 1. คมนาคม การขนส่งด้วยรถยนต์ 2. การปล่อยมลพิษทางอากาศ เช่น การปล่อยฝุ่นจากโรงงานอุตสาหกรรมที่มีกระบวนการเผาไหม้เชื้อเพลิง และ 3. โรงเผาขยะ
“ส่วนการก่อสร้างไม่ได้เป็นแหล่งกำเนิดที่สำคัญมากของฝุ่น PM 2.5 เพราะเป็นฝุ่นขนาดใหญ่ และการก่อสร้างไม่ได้มีกระบวนการเผาไหม้ ซึ่งฝุ่น PM2.5 มาจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง หรือกระบวนการเผาไหม้ของวัสดุต่างๆ ที่อยู่ในอุณหภูมิสูงจนสร้างฝุ่นละเอียดเล็กๆ ขึ้นมา โดยสายตาไม่สามารถมองเห็นได้ ในการก่อสร้างอาคาร หรือการก่อสร้างรถไฟฟ้า ไม่สามารถทำให้เกิดปัญหาได้ขนาดนั้น เพราะฉะนั้นตัดฝุ่นจากการก่อสร้างออกไป เพราะไม่ได้เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่นจิ๋ว แต่เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่นที่มีขนาดใหญ่กว่า” ผอ.กรีนพีซฯ กล่าว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/