ส่อล้มประมูล 'ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3' แสนล้าน ยื่นซองรายเดียว-ขาดคุณสมบัติ
การท่าเรือฯเตรียมล้มประมูลโครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 เงินลงทุน 1.14 แสนล้านบาท หลังมีเอกชนยื่นซองข้อเสนอรายเดียว แถมขาดคุณสมบัติ ขณะที่ “กลุ่มซีพี-ทุนจีน” ไม่ยื่น เตรียมเปิดรับฟังความสนใจเอกชนอีกรอบ 21 ม.ค.นี้
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 14 ม.ค.62 เวลา 9.00-15.00 น. การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดให้เอกชนเข้ายื่นซองข้อเสนอประมูลโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 วงเงินลงทุน 114,047 ล้านบาท (รัฐบาลไทยอุดหนุนเงินลงทุน 53,490 ล้านบาท และเอกชนลงทุน 60,557 ล้านบาท)
ทั้งนี้ ตั้งแต่ช่วงเช้าจนถึงเที่ยงไม่มีเอกชนรายใดเข้ายื่นข้อเสนอแม้แต่รายเดียว จนกระทั่งเวลาประมาณ 14.30 น. บริษัท แอสโซซิเอท อินฟินิตี้ จำกัด จากประเทศไทย ได้เข้ามายื่นข้อเสนอ และเมื่อถึงเวลาปิดการรับซองข้อเสนอในเวลา 15.00 น. ผลปรากฎว่า บริษัท แอสโซซิเอท อินฟินิตี้ จำกัด เป็นเอกชนเพียงรายเดียวที่ซองยื่นข้อเสนอประมูลในครั้งนี้ จากเอกชนที่ซื้อซองทั้งสิ้น 32 ราย
หลังจากนั้น คณะกรรมการคัดเลือกฯ ทำการเปิดซองข้อเสนอซองที่ 1 หรือซองคุณสมบัติของบริษัท แอสโซซิเอท อินฟินิตี้ จำกัด แต่ปรากฏว่า บริษัทไม่ได้ยื่นหลักประกันซองมาด้วย ทำให้บริษัทไม่ผ่านการพิจารณา เพราะขาดคุณสมบัติ จึงมีแนวโน้มว่าจะต้องล้มการประมูลรอบนี้ ซึ่งกทท.จะรายงานผลการยื่นซองข้อเสนอดังกล่าวตามขั้นตอนต่อไป
ร.ต.ต.มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการ กทท. กล่าวว่า กทท.จะจัดประชุมทดสอบความสนใจและรับฟังความคิดเห็นจากนักลงทุน (Market Sounding) เกี่ยวกับโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 อีกครั้ง ในวันที่ 21 ม.ค.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เอกชนที่ซื้อซองประมูลโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ทั้ง 32 รายก่อนหน้านี้ มีเอกชนรายใหญ่ เช่น เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ประเทศไทย) บริษัทรับเหมาก่อสร้างอันดับต้นๆของไทย อาทิ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) รวมทั้งบริษัทรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ของจีน อาทิ China Communication Construction Company LTD. และ China Harbor Engineering Co.,ltd เป็นต้น
สำหรับ รายชื่อเอกชนที่เข้าซื้อซองเอกสารโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 (32 ราย) ประกอบไปด้วย
1.บริษัท ที ไอ พี เอส จำกัด (ประเทศไทย)
2.Itochu Corporation (ญี่ปุ่น)
3.บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนคอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UNIQ (ประเทศไทย)
4.บริษัท แหลมฉบัง อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด (ประเทศไทย)
5.บริษัท เจดับเบิลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JWD (ประเทศไทย)
6.บริษัท ซีเอชอีซี (ไทย) จำกัด (ประเทศไทย)
7.บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) (ประเทศไทย)
8.เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ประเทศไทย) หรือ C.P. Holding Company (ประเทศไทย)
9.China Harbor Engineering Co.,ltd (จีน) (บริษัทแม่ของข้อ 6)
10.Fujita corporation (ญี่ปุ่น)
11.Mitsui (ญี่ปุ่น)
12.China Merchants Port (ฮ่องกง)
13.International Container Terminal (ฟิลิปปินส์)
14.Sumitomo Coporation Thailand (ประเทศไทย)
15.บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (ประเทศไทย)
16.บริษัท ฮัทชิสัน แหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด (ประเทศไทย)
17.PSA Internatina PTE Ltd. (สิงค์โปร์)
18.บริษัท บางกอก โมเดริน เทอร์มินอล จำกัด (ประเทศไทย)
19.บริษัท พีเอชเอส ออแกนิค ฮีลลิ่งจำกัด (ประเทศไทย)
20.บริษัท แอสโซซิเอท อินฟินิตี้ จำกัด (ประเทศไทย)
21.China Railway Construction (Southeast Asia) Co.,Ltd (จีน)
22.Shekou Container Terminals Ltd. (จีน)
23.APM Terminal B.V. (เนเธอร์แลนด์)
24.Adani Port & Special Economic Zone Ltd. (อินเดีย)
25.บริษัท บีเอ็มที แปซิฟิค จำกัด (ประเทศไทย)
26.บริษัท เมดิเตอร์เรเนียน ชิปปิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด (ประเทศไทย)
27.Terminal Investment Limited Sarl (สวิสเซอร์แลนด์)
28.Dredging International nv. (เบลเยี่ยม)
29.Boskails International B.V. (เนเธอร์แลนด์)
30.บริษัท ซี.อาร์.ซี. การท่าเรือ จำกัด (ประเทศไทย)
31.China Communication Construction Company LTD. (จีน)
32.บริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด มหาชน (ประเทศไทย)
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/