เครื่องแบบนักเรียน กับอำนาจนิยมและความเหลื่อมล้ำ ของระบบโรงเรียนไทย
"...กลับมาที่เครื่องแบบนักเรียนในโรงเรียน ที่เป็นสัญญลักษณ์ของบรรยากาศแบบ “อำนาจนิยม” ที่มีเต็มโรงเรียนไทย ตั้งแต่ท่าทีของครูที่มีท่าทีแบบเผด็จการในห้องเรียน ในระดับรัฐ ก็มีการควบคุมการเรียนและแบบเรียน ผ่านหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ อาคารเรียนก็มีสถาปัตยกรรมแบบโรงเรือนทหาร นอกจากนี้ยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในโรงเรียน ตั้งแต่ไม่ให้สิทธิและเสรีภาพในการคิดและการแสวงหาความรู้ การใช้อำนาจของครูก็เป็นแบบเผด็จการทหาร..."
ระยะนี้มีข่าว 2 ข่าวที่สะท้อนระบบคิดของโรงเรียนในระบบการศึกษาไทย
ข่าว 1 เรื่องโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ทดลองให้เด็กแต่งตัวตามสบายมาโรงเรียน ได้ 1 วันใน 1 สัปดาห์ โดยครูใหญ่อ้างว่าเป็นการทดลอง ถ้า “ไม่ดี” ก็จะยกเลิก ได้ถูกแทรกแซงจากกระทรวงศึกษาธิการทันที
และตามมาด้วยข่าวโรงเรียนอมาตยกุล ให้เด็กแต่งตัวตามสบายมาโรงเรียนนานมากแล้ว ถึงกว่า 20 ปี ทั้งที่โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก ให้เด็กแต่งตัวตามสบายมา 40 ปีแล้วเช่นกัน รอกระทรวงศึกษาธิการมาสั่งปิดอยู่เนี่ย จะได้ฝากเด็กๆ อยากจนของเราเข้าโรงเรียนดังๆของคนรวยในกรุงเทพฯ จะได้ลดความเหลื่อมล้ำในวงการศึกษาไทยลงไปได้บ้าง
อีกข่าวหนึ่ง เป็นข่าวเล็กๆ เรื่องห้องสมุดในประเทศฟินแลนด์ ลงผ่าน Twitter ของ ThaiPBS ที่ไม่มีคนสนใจเท่าข่าวแรก
ข่าวแรก ได้คุยกับอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ลี้ภัยทางการเมืองอยู่ที่ฝรั่งเศส อาจารย์จรัล ดิษฐาภิชัย เล่าให้ฟังว่า หลัง 14 ตุลา.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เคยออกระเบียบยกเลิกการแต่งชุดนักศึกษา สำหรับผู้ชายไม่มีปัญหาเรื่องการแต่งตัว แต่สำหรับนักศึกษาหญิง ด้วยความรักสวยรักงาม ทำให้เกิดความสิ้นเปลือง ในการหาเสื้อผ้ามาแต่งประชันกัน สุดท้ายระเบียบนี้ก็ยกเลิกไป
เมื่อปี 2520 ผมได้ตีพิมพ์หนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อ “เรียนตามสบายที่ซัมเมอร์ฮิล” เป็นที่ฮือฮาของคนหนุ่มสาวและเยาวชนในยุคนั้นมาก คำว่า “เรียนตามสบาย” มีความหมายตรงกับคำ “สบาย” คือจะเข้าเรียนเมื่อไรก็ได้ อยู่ที่การตัดสินใจของเด็ก แต่งตัวอย่างไรก็ได้ ตามใจเด็ก แต่เด็กเมื่อได้ “เสรีภาพ” แล้ว เด็กและผู้ใหญ่ก็ต้องเรียนรู้การใช้เสรีภาพนั้นผ่านระบบ “สภาโรงเรียน” ที่เรียกว่า “การปกครองตนเอง” โดยมีครูใหญ่ คือ นาย เอ.เอส. นีล ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องจิตวิทยาของ Sigmund Freud โดยใช้ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ ที่นีลเรียกวิธีการของตนว่า “การเรียนเป็นส่วนตัว” และใช้บรรยากาศของ “เสรีภาพ” ปลดปล่อยเด็กๆ ออกจากการจองจำจากความเชื่อทางศาสนาและวัฒนธรรมอังกฤษ ในยุคนั้น มาเสริมสภาโรงเรียน
ในสมัยนั้น บ้านเรามีการโจมตีระบบโรงเรียนกันแรงมาก วารสารที่ผมเป็นบรรณาธิการ ชื่อ “ปาจารยสาร” ลงภาพปกว่า “ล้มระบบโรงเรียน” และ “เผาแบบเรียน” ที่สอดคล้องกับกระแสสากลที่เป็นกระแสในตอนนั้นว่า “Deschooling Society - ที่นี่ไม่มีโรงเรียน” โดย Ivan Illich ขณะเดียวกัน Paulo Freire - เปาโล เฟรเร ก็เขียนหนังสือชื่อ “Pedagogy of the Oppressed - การศึกษาของผู้ถูกกดขี่” (ที่มีการนำมาแปลใหม่ ออกมาเมื่อปีก่อน)
กลับมาที่เครื่องแบบนักเรียนในโรงเรียน ที่เป็นสัญญลักษณ์ของบรรยากาศแบบ “ อำนาจนิยม” ที่มีเต็มโรงเรียนไทย ตั้งแต่ท่าทีของครูที่มีท่าทีแบบเผด็จการในห้องเรียน ในระดับรัฐ ก็มีการควบคุมการเรียนและแบบเรียน ผ่านหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ อาคารเรียนก็มีสถาปัตยกรรมแบบโรงเรือนทหาร นอกจากนี้ยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในโรงเรียน ตั้งแต่ไม่ให้สิทธิและเสรีภาพในการคิดและการแสวงหาความรู้ การใช้อำนาจของครูก็เป็นแบบเผด็จการทหาร
ผมเคยคุยกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติบางคนว่า เพียงแค่นำหลักเกณฑ์ของสิทธิมนุษยชน ที่เราไปลงนามกับองค์การสหประชาชาติ มาจับผิดโรงเรียนทุกโรง มหาวิทยาลัยทุกมหาวิทยาลัย ก็สามารถเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับครูได้แล้ว แต่กรรมการฟังแล้วไม่เข้าใจ การละเมิดสิทธินุษยชนในโรงเรียนและในมหาวิทยาลัย ทุกมิติ จึงยังดำรงอยู่ตราบถึงวันนี้
เครื่องแบบนักเรียน เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ปรากฎกายออกมา ที่สะท้อน “ลักษณะอำนาจนิยมในโรงเรียน”
เด็กของเราจึงถูกฝึกมาแบบ “เผด็จการ” ไม่ใช่แบบ “ประชาธิปไตย” ซึ่งตอนนี้กำลังเป็นกระแสใหญ่ที่ถูกปลุกขึ้นมาในโลกใหม่ ว่าถ้าเราจะให้เกิดประชาธิปไตยทางการเมือง ต้องสร้างประชาธิปไตยในโรงเรียน และส่งเสริมประชาธิปไตยในครัวเรือนด้วย วัฒนธรรมการอ่านเป็นขบวนการหนึ่ง แบบที่ประเทศฟินแลนด์กำลังทำกับเยาวชนและประชาชนของเขา และในที่ประชุม IDEC - International Democratic Education Conference 2018 ณ เมืองบังกะลอร์ ประเทศอินเดีย เมื่อปลายปีที่แล้ว ก็ชูประเด็น “ประชาธิปไตยในโรงเรียน” เมื่อครูใหญ่ รัชนี ธงไชย “แม่แอ๊ว” ฉายหนังสารคดี 6 Weeks to Mother’s Day จบลง ประธานที่ประชุมก็ยกย่องโรงเรียนหมู่บ้านเด็กให้เป็นโรงเรียนประชาธิปไตย ที่ผู้ร่วมประชุม 300 กว่าคนต้องศึกษา
ถ้าเราไม่สนใจเรื่องประชาธิปไตยในโรงเรียน เราก็ต้องเริ่มต้นการเมืองประชาธิปไตยใหม่กันร่ำไป ดังบทความที่ผมเขียนว่า “การเมืองที่เริ่มต้นใหม่” หลังผ่านการรัฐประหารมา 13 ครั้ง ในรอบ 87 ปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ตั้งแต่ 2475
นี่ยังไม่พูดถึงความเหลื่อมล้ำในระบบโรงเรียนไทย เมื่อเทียบกับโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน กับโรงเรียนในอำเภอเล่าขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี เพราะโรงเรียนในชนบททั่วไป เด็กเขามีปัญหาจะหาชุดเครื่องแบบ ตั้งแต่เสื้อ กางเกง ถุงเท้า รองเท้า ให้ครบแต่ละเทอม แต่ละวัน เพื่อแต่งตัวมาเรียนหนังสือได้อย่างไร ? ไม่ต้องพูดถึงครู ที่มีไม่ครบชั้นเรียนอีกต่างหาก
ส่วนเรื่องวัฒนธรรมการอ่านของฟินแลนด์ ไว้ว่ากันวันหลัง ว่ามีผลต่อระบบประชาธิปไตยอย่างไร ในขณะที่บ้านเราผู้ใหญ่ยังสู้กันอยู่ “ระหว่างระบอบทักษิณกับระบอบ คสช.” จะไม่ให้มีอารมณ์ขันแบบไทยๆได้อย่างไรกัน เมื่อบ้านเขาสู้เรื่อง “การสร้างสมองให้ฉลาดด้วยการอ่าน” กับเด็กและประชาชนของเขา แต่เรากำลังสร้างเครื่องแบบนักเรียน ให้กับเยาวชนของเรา ว่าจะใส่หรือไม่ใส่ดี ก็ต้องมีอารมณ์ขันกันหน่อยนะครับ
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://www.bbc.com