รุมค้าน!เบื้องหลัง ครม.ทวนตั้ง 52 หน่วยงานใหม่ เปลืองงบ-ไม่สอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติ
เบื้องหลัง! ครม.เห็นชอบตาม ก.พ.ร. ทบทวนจัดตั้งหน่วยงานใหม่ 52 หน่วย เหตุสารพัดหน่วยราชการรุมค้าน ยันไม่สอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติ สิ้นเปลืองงบประมาณ ต้องคำนึงถึงภาระค่าใช้จ่ายในอนาคต มีแค่ ก.คมนาคม ตั้งข้อสังเกต อย่าคิดแต่ประหยัดอย่างเดียว ขอให้ยืดหยุ่น หากปรับองค์กรเล็กลงต้องคำนึงประสิทธิภาพด้วย
จากกรณีเมื่อต้นเดือน ม.ค. 2561 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นด้วยกับที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)ให้ทบทวนข้อเสนอของหน่วยงานราชการที่ขอให้มีการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ 52 หน่วยงาน โดยอ้างตามแผนการปฏิรูปประเทศ โดยคณะรัฐมนตรีเห็นว่า การตั้งหน่วยงานใหม่ดังกล่าว ไม่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ หากจะตั้งหน่วยงานใหม่ต้องยุบเลิกหรือยุบรวมหน่วยงานเดิมที่มีอยู่เดิม เพื่อไม่ให้เกิดการทำงานซ้ำซ้อน และสิ้นเปลืองงบประมาณไปอีกหลายปีนั้น (อ้างอิงข่าวจาก ไทยโพสต์ออนไลน์)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลจากมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว พบว่า มีหน่วยงานราชการหลายแห่ง เห็นว่า ควบทบทวนข้อเสนอในการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ 52 หน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) มีความเห็นสรุปว่า การจัดตั้งหน่วยงานราชการใหม่ ต้องเป็นกรณีมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ต้องยุบเลิกหรือยุบรวมหน่วยงานเดิมที่มีอยู่เพื่อมิให้เกิดความซ้ำซ้อน ทั้งภารกิจและงบประมาณ เพราะแผนงานด้านการปฏิรูปประเทศกำหนดให้ภาครัฐต้องมีขนาดที่เหมาะสม ไม่ใหญ่โตหรือมีจำนวนมากเกินความจำเป็น รวมทั้งสอดคล้องกับ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ที่กำหนดให้การดำเนินการใด ๆ ของรัฐต้องพิจารณาอย่างคุ้มค่า ต้นทุน และความยั่งยืน ทั้งนี้หน่วยงานเดิมต้องพิจารณาถึงการปรับปรุงบทบาท ภารกิจ โรงสร้างเดิมที่มีอยู่ เพื่อบูรณาการเป็นอันดับแรก
เช่นเดียวกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ที่เห็นด้วยกับข้อเสนอให้ทบทวนการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ดังกล่าว โดยระบุว่า การจัดโครงสร้างหน่วยงานราชการไม่ควรเกิดความซ้ำซ้อน และควรปรับปรุงกระบวนการทำงานโดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภารกิจเกี่ยวกับประชาชน
ส่วนกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เห็นว่า แผนปฏิรูปประเทศที่กำหนดให้มีหน่วยงานใหม่ถึง 52 หน่วยงาน จะก่อให้เกิดปัญหาค่าใช้จ่ายภาครัฐในอนาคต และไม่เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ชาติที่จะทำให้ภาครัฐมีขนาดเล็กลง นอกจากนี้การจัดตั้งหน่วยงานใหม่ควรเป็นกรณีจำเป็นอย่างยิ่ง ต้องไม่มีความซ้ำซ้อนกับหน่วยเดิม เช่นเดียวกับกระทรวงพาณิชย์ เห็นว่า หากจัดตั้งหน่วยงานใหม่ควรพิจารณาถึงความซ้ำซ้อนในการทำงาน
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เห็นว่า กระบวนการพิจารณาขอจัดตั้งหน่วยงานใหม่ ควรคำนึงและให้ความสำคัญต่อบริบทความจำเป็นเร่งด่วนของจัดตั้งหน่วยงาน รวมทั้งเหตุผลในการจัดตั้งเพื่อให้เหมาะสมกับบทบาทภารกิจ เพื่อขับเคลื่อนการบริหารแผ่นดินให้มีประสิทธิภาพ
ส่วนกระทรวงคมนาคม เห็นว่า การจัดตั้งหน่วยงานใหม่ต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายที่จะสร้างปัญหา และภาระแก่ภาครัฐในอนาคต และต้องเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ชาติด้วย นอกจากนี้ภารกิจองค์กรต้องปรับเปลี่ยนไปตามบริบทปัจจุบัน การลดขนาดองค์กรอาจสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายของรัฐได้ แต่ในระยะยาวจะกระทบถึงความสามารถและประสิทธิภาพของหน่วยงานในการปฏิบัติภารกิจราชการ ย่อมลดน้อยลงด้วย ดังนั้นสำนักงาน ก.พ.ร. ควรศึกษาและกำหนดแนวทางต่าง ๆ ให้มีความยืดหยุ่นสูง เกิดความชัดเจนสำหรับการปรับโครงสร้างหน่วยงาน ไม่ควรมุ่งลดขนาดหรือประหยัดเพียงอย่างเดียว
ต่อมาเมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2562 คณะรัฐมนตรี จึงมีมติอนุมัติตาม ก.พ.ร. ที่ขอให้ทบทวนแผนการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ 52 หน่วยงานออกไปก่อน หากมีกรณีจำเป็นหรือเร่งด่วน ต้องถือปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2560 เรื่อง การขอจัดตั้งหน่วยงานตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านต่าง ๆ และเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.2561 เรื่อง การมอบอำนาจการแบ่งส่วนราชการภายในกรม อย่างเคร่งครัด พร้อมกับระบุข้อเสนอให้ยุบเลิก หรือยุบรวมหน่วยงานที่มีอยู่เดิม เพื่อมิให้เกิดความซ้ำซ้อนทั้งด้านภารกิจและงบประมาณ รวมถึงเสนอแผนการนำ Digital Technology มาใช้ในการปฏิบัติงาน ประกอบคำขอจัดตั้งหน่วยงานใหม่ด้วย (ดูเอกสารประกอบ)
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/