"กดดันดูนเลาะ - เร่งปิดเกมพูดคุยสันติสุข" เงื่อนไข "ปลุก" ไฟใต้โชน
เหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ห้วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมกราคม มีเหตุการณ์รุนแรงขนาดใหญ่ 2 เหตุการณ์
คือ เหตุฆ่าครูวัยเกษียณชิงรถกระบะทำคาร์บอมบ์ใกล้ฐานปฏิบัติการของหน่วยเฉพาะกิจสงขลา อำเภอเทพา กับเหตุยิง อส. เสียชีวิต 4 นาย คาโรงเรียนบ้านบูโกะ อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี
หลายฝ่ายสงสัยว่าเงื่อนไขของความรุนแรงในช่วงนี้คืออะไร
เมื่อไล่เรียงดูจังหวะเวลา จะพบว่าทั้ง 2 เหตุการณ์เกิดขึ้นในช่วงหลังวันที่ 4 มกราคม 2562 ซึ่งเป็นวาระครบรอบ 15 ปีเหตุการณ์ปล้นปืนครั้งใหญ่จากค่ายทหารในจังหวัดนราธิวาส ซึ่งถือกันว่าเป็น "วันเสียงปืนแตก" หรือจุดเริ่มต้นของสถานการณ์ไฟใต้ในห้วง 15 ปีมานี้
ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลได้ตั้งคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯคณะใหม่ขึ้นมา และดีเดย์เปิดตัวกันในวันที่ 4 มกราคมเช่นกัน รวมทั้งเปิดเวทีต่อภาคประชาสังคมและสื่อมวลชนเป็นแรกครั้งแรกที่จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 9 มกราคมที่ผ่านมาด้วย
รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ให้สัมภาษณ์ในรายการคมชัดลึก ทางเนชั่นทีวี และ "ศูนย์ข่าวอิศรา" ว่า สาเหตุส่วนหนึ่งของความรุนแรงในช่วงนี้ น่าจะมาจากการที่ทั้งไทยและมาเลเซียช่วยกันกดดันกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐและฝ่ายกองกำลังติดอาวุธให้เข้าสู่กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข ทำให้ฝ่ายขบวนการรู้สึกว่าพื้นที่ในการเคลื่อนไหวมีน้อยลง จึงก่อเหตุรุนแรงตอบโต้ และมีความเสี่ยงว่าจะเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้นอีกในช่วงวันสำคัญทางสัญลักษณ์ต่างๆ
"จริงๆ แล้วการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯทำกันมานาน ในภาพรวมก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก ในทางกลับกัน กระบวนการพูดคุยฯยังเปิดกว้างมากขึ้นและหลากหลายขึ้น การสำรวจความคิดเห็นของคนในพื้นที่ก็สนับสนุนการพูดคุยทุกรูปแบบ ฉะนั้นเรื่องนี้จึงไม่ได้เป็นสาเหตุโดยตรง แต่การกดดันของเจ้าหน้าที่ต่อกองกำลังที่ก่อความไม่สงบในหลายรูปแบบ ทั้งการกดดันในประเทศไทยและมาเลเซีย ก็อาจทำให้คนเหล่านี้หันมาโจมตีเจ้าหน้าที่มากขึ้น"
"แรงกดดันให้เข้าสู่กระบวนการพูดคุยเจรจา มีทั้งแรงกดดันจากนานาชาติ จากประเทศเพื่อนบ้าน และจากในพื้นที่เอง ทำให้กลุ่มขบวนการมีความรู้สึกได้ว่าพื้นที่เคลื่อนไหวมีน้อยลง นอกจากนั้นเรายังเห็นความเคลื่อนไหวในลักษณะที่แตกต่างจากในอดีต เช่น แกนนำในพื้นที่หลายคนไม่สามารถอยู่ในพื้นที่ได้ถาวร ต้องเคลื่อนที่ไปมา ต้องย้ายสถานที่ฝึก แม้แต่ในประทเศเพื่อนบ้านก็มีการกดดัน แกนนำหลายคนที่หลบหนีไปยังประเทศเพื่อนบ้านก็มีความจำเป็นต้องย้ายที่อยู่เป็นระยะๆ เรื่องแบบนี้ไม่ค่อยเคยเกิดขึ้นกับระดับแกนนำมาก่อน ทำให้เกิดความรู้สึกไม่พอใจ และเชื่อว่าการตอบโต้ในช่วงวันสำคัญที่เป็นสัญลักษณ์ก็จะตามมา" ที่ปรึกษารองนายกฯฝ่ายความมั่นคง กล่าว
ทัศนะของ อาจารย์ปณิธาน ถือว่าแหลมคมอย่างยิ่ง "ศูนย์ข่าวอิศรา" จึงเสาะหาข้อมูลเพิ่มเติมจากเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในมาเลเซีย กระทั่งพบเบาะแสที่น่าสนใจ คือแกนนำฝ่ายกองกำลังของกลุ่มก่อความไม่สงบที่ถูกกดดันให้เข้าร่วมโต๊ะพูดคุยสันติสุขฯ จนต้องย้ายที่อยู่ ไม่สามารถพำนักอยู่ที่เดิมได้ในมาเลเซียนั้น มีแกนนำคนสำคัญอย่าง นายดูนเลาะ แวมะนอ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นประธานกลุ่มบีอาร์เอ็น รวมอยู่ด้วย โดย นายดูนเลาะ หลบหนีหมายจับคดีก่อการร้ายของทางการไทยอยู่ในประเทศมาเลเซีย และก่อนหน้านี้มีข่าวว่าถูกทางการมาเลเซีย นำโดยอดีตผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยฯคนใหม่กดดันให้เข้าร่วมโต๊ะพูดคุยฯ จนต้องหนีไปอินโดนีเซียมาแล้ว
แต่ข่าวการหนีไปอินโดนีเซียไม่มีแหล่งข่าวยืนยันอย่างเป็นทางการ ผิดกับครั้งนี้ มีแหล่งข่าวยืนยันชัดเจนว่านายดูนเลาะไม่สามารถพำนักในสถานที่เดิมได้ ทำให้ผู้ก่อความไม่สงบในเครือข่ายของนายดูนเลาะไม่พอใจอย่างมาก และก่อเหตุรุนแรงระลอกใหญ่ขึ้นมา
สำหรับการพุ่งเป้าก่อเหตุไปที่ชุดคุ้มครองตำบล หรือ ชคต. ซึ่งระยะหลังตกเป็นเป้าบ่อยครั้งนั้น รศ.ดร.ปณิธาน บอกว่า เป็นเพราะประชาชนในพื้นที่ปฏิเสธความรุนแรงมากขึ้น ทำให้เป้าหมายของกลุ่มก่อความไม่สงบมีน้อยลง เหลือแต่เจ้าหน้าที่ที่ทำงานใกล้ชิดกับประชาชนและชุมชน เช่น ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน หรือ ชรบ. ชุดคุ้มครองครู ซึ่งมีความเปราะบางกว่าเจ้าหน้าที่ปกติ เนื่องจากต้องทำตัวให้เหมาะสมกับการอยู่ในโรงเรียน หมู่บ้าน ตลาด และโรงพยาบาล จึงตกเป็นเป้าลอบทำร้ายได้ง่ายกว่า
"การตัดสินใจก่อเหตุเป็นเรื่องของโอกาสและจังหวะของกลุ่มก่อความไม่สงบที่เห็นช่องว่างในการโจมตีทำร้ายเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่ไม่ได้มีความสามารถในการป้องกันตนเองมากเท่าที่ควร และอยู่ในจังหวะเวลาช่วงที่ป้องกันตัวเองได้ยาก" รศ.ดร.ปณิธาน ระบุ
หากขยายความจากคำพูดของที่ปรึกษารองนายกฯฝ่ายความมั่นคง ก็จะถอดรหัสได้ว่า เจ้าหน้าที่ที่กำลังตกเป็นเป้าหมายของผู้ก่อเหตุรุนแรงในปัจจุบัน คือ เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่อ่อนไหว เช่น ในโรงเรียน โรงพยาบาล หรือในตลาด ทำให้ใช้อาวุธได้ยาก ขณะที่เหตุการณ์ยิง 4 ศพในโรงเรียนบ้านบูโกะ ก็เลือกจังหวะเวลาช่วงพักเที่ยง ทำให้การระมัดระวังลดต่ำลง
จุดนี้เองที่ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ก็มองเห็นปัญหาตรงกัน และสั่งให้กำลังพลทุกหน่วยเตรียมพร้อมรับกับสถานการณ์ โดยต้องเตรียมการใช้อาวุธให้พร้อมในทุกอิริยาบถ
-----------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร
อ่านประกอบ : แกนนำบีอาร์เอ็นตอบรับร่วมโต๊ะพูดคุย "บิ๊กเมา"แย้มไม่เสนอเงื่อนไขหยุดยิง