ประชันนโยบาย 6 พรรคการเมือง ต่อยอด ‘หลักประกันสุขภาพ’
6 พรรคการเมือง ประชันนโยบายต่อยอด สานต่อ "หลักประกันสุขภาพ" ลดเหลื่อมล้ำ ทัดเทียม เพื่อคนไทยทุกคน
เมื่อเร็ว ๆ นี้ มูลนิธิมิตรภาพบำบัด จัดงานรำลึก 11 ปี นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ‘แสงดาวแห่งศรัทธา’ ซึ่งมีเวทีเสวนา เรื่อง “มองไปข้างหน้า พรรคการเมืองกับการสร้างหลักประกันสุขภาพเพื่อคนไทยทุกคน” ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กรุงเทพฯ
โดยได้เชิญผู้แทนจาก 6 พรรคการเมือง ได้แก่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)และอดีตนายกรัฐมนตรี, คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทย (พท.), นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ, นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่, นายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานกรรมการยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ, ทพ.ศุภผล เอี่ยมเมธาวี พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ร่วมประชันนโยบาย
อนาคตหลักประกันสุขภาพ 'ปชป.' ชี้ต้องเป็นรัฐสวัสดิการ -เห็นต่างรวม 3 กองทุน
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)และอดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวยืนยันว่า ปชป.มองหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นเรื่องระบบสวัสดิการและสิทธิขั้นพื้นฐาน เพราะฉะนั้นไม่ต้องกังวลว่านโยบายดังกล่าวจะเป็นประชานิยมหรือไม่ ส่วนคำว่า ‘ถ้วนหน้า’ ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวข้องกับสิทธิคนชายขอบหรือคนบางกลุ่มตกหล่นควรให้สิทธิกับคนเหล่านั้น
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นความท้าทายในอนาคต ทุกวันนี้พบว่า ไทยยังมีปัญหาปีแล้วปีเล่า กรณีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงบประมาณ และรัฐบาล ยังต้องต่อรองกันตลอดเวลา และหลายปีที่มีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้ายังมีปัญหา เพราะการจัดสรรงบประมาณไม่เป็นไปตามที่ สปสช. คิดว่าจำเป็น การปรับปรุงกติกาการจัดสรรงบประมาณดังกล่าวเป็นเรื่องจำเป็น
หัวหน้า ปชป. กล่าวต่อถึงอีก 2 ระบบ คือ สิทธิประกันสังคมและสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ในมุมมอง ปชป. ยืนยันว่า มาตรฐานการรักษาพยาบาลหรือยาต้องเท่าเทียมกัน แต่กรณีข้อเสนอให้มีการรวม 3 กองทุน อาจมีมุมมองแตกต่างกัน เนื่องจากกองทุนประกันสังคม ผู้อยู่ในกองทุนนี้ต้องเสียสองต่อ คือ เสียภาษีดูแลระบบและเงินสมทบ เพราะฉะนั้นควรเปิดโอกาสให้สมาชิกกองทุนประกันสังคมตัดสินใจว่า อยากอยู่ในระบบนี้ต่อไปหรือไม่ หากไม่อยากเสียเงินสมทบให้ออกไปอยู่กับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่หากมีความประสงค์จะอยู่ต่อให้สมทบ
ขณะที่กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลราชการ ส่วนใหญ่ผู้เข้ามารับราชการ จะอยู่บนเงื่อนไขในการได้รับสิทธิตรงนี้ ดังนั้นหากจะมีการเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มต้นจากผู้เข้ามารับราชการใหม่ ทั้งนี้ หากพูดตามความจริง ผู้เข้ามารับราชการจำนวนมากยอมได้รับเงินเดือนต่ำกว่าภาคเอกชน เพื่อแลกกับสวัสดิการเหล่านี้ โดยจะเห็นว่าในต่างจังหวัดมีครอบครัวจำนวนมากที่พ่อแม่คิดเช่นนี้ ดังนั้นจึงพยายามสนับสนุนให้ลูกรับราชการ แต่หากจะเปลี่ยนแปลงต้องหาวิธีชดเชยในส่วนที่ขาดหายไปของราชการ
“เราอย่ามองเพียงการรวมกองทุน ถ้าเราคิดว่าจะสร้างหรือยกระดับคุณภาพให้ดีขึ้น เพราะสิ่งที่เกรง คือ หากรีบรวมกองทุน กลับไม่แน่ใจว่า หากบริหารจัดการแบบปัจจุบันแล้ว คุณภาพของคนในระบบหลักจะดีขึ้น แต่ที่แน่ ๆ สิ่งที่เคยได้จากระบบราชการหรือประกันสังคมอาจเสื่อมถอยลง ดังนั้น ประเด็นหลักต้องหาเงินมาสนับสนุนให้เพียงพอ และที่สำคัญระบบสวัสดิการที่มาจากภาษี ต้องพูดด้วยว่า แล้วระบบภาษีเป็นธรรมหรือไม่ เพราะขณะนี้ภาษีไทยถดถอยค่อนข้างมาก ตรงกันข้าม ภาษีเงินได้ มนุษย์เงินเดือนไม่ได้มีรายได้มากมาย ซึ่งข้าราชการส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มนี้ เสียภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่ผู้มีรายได้สูงจริง ๆ กลับมีช่องโหว่เยอะไปหมดในการไม่ต้องเสียภาษี หรือได้รับสิทธิยกเว้น ดังนั้น ปชป.มองว่า นี่คือประเด็นสำคัญในการสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำ”นายอภิสิทธิ์ กล่าว
‘เพื่อไทย’ เสนอปรับหลักประกันสุขภาพ เพิ่มประสิทธิภาพ
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า หลักประกันสุขภาพจะพูดกันโดยวาทกรรมว่า เป็นประชานิยมหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ข้อเท็จจริงเป็นหลักวิชาการที่ทั่วโลกยอมรับและยกย่อง ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เกิดความทัดเทียม ซึ่งหลักที่ทำต้องการให้ประชาชนทุกคนมีโอกาสเข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างทัดเทียมและทั่วถึง จุดนี้เป็นหลักการที่ต้องยึดถือ และยังเป็นหลักทำให้ประเทศเดินข้ามพ้นกลายเป็นประเทศหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง
“มีตัวเลขชัดเจนตั้งแต่มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ครอบครัวที่ล้มละลายหรือมีหนี้สินจากการรักษาพยาบาลน้อยลง”
ประธานยุทธศาสตร์ฯ พท. กล่าวอีกว่า หลักของโครงการฯ คือ Health for all ต้องการให้ประชาชนมีสุขภาพเหมือนกัน มีอายุเฉลี่ยยาวนานขึ้น และสามารถเพิ่มผลผลิตหรือผลิตภาพต่อช่วงอายุคนได้มากขึ้น ซึ่งถามว่า เวลาผ่านมา 17 ปีแล้ว ตั้งแต่มีโครงการฯ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็ดี กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการก็ดี สวัสดิการสังคมก็ดี เดินมายาวนาน ดังนั้นถามว่าถึงเวลาต้องดูและปรับเปลี่ยน
ดังเช่นหลักประกันสุขภาพ 30 บาท เริ่มต้น Health for all แต่คุณหมอทุกท่านทราบว่าเราเดินสู่ All for health ต้องการให้ทุกคนมีอายุยืนยาว สุขภาพดี เดินสู่การสร้างสุขภาพดีถ้วนหน้า แต่วันนี้แน่นอนว่าเมื่อผู้กำกับนโยบายเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ จึงเกิดการเพี้ยนในนโยบายและความเข้าใจประกอบกับการแก้ไขปัญหาหน้างานไปเรื่อย ๆ บางครั้งไปหลงกับปัญหาจนลืมหลักการ
“วันนี้จึงต้องเปลี่ยน เทคโนโลยีกลับเข้ามาช่วยเราได้ และเราได้เห็นปัญหามากขึ้น ในอดีตเริ่มต้นด้วยงบประมาณ 1,200 บาท/หัว มีหมอประมาณ 1.7 หมื่นคน พยาบาล 8.5 หมื่นคน ตอนนี้เกือบ 3,500 บาท/หัว มีหมอประมาณ 3 หมื่นคน พยาบาลประมาณ 1.5 แสนคน มีเทคโนโลยีเปลี่ยนมากขึ้น งบประมาณได้มากขึ้น แต่ผู้ให้บริการยังไม่ได้รับความสุข เพราะเงินไม่พอ ผู้มารับบริการก็ไม่มีความสุข เพราะคิวยาว ทั้งหมดจึงต้องปรับใหม่ พิจารณาและเพิ่มประสิทธิภาพ เพราะประสิทธิภาพบุคลากรทางการแพทย์มีความตั้งใจและมีความสามารถ แต่ปัญหาหน้างาน นโยบายไม่เข้าใจ ภารกิจมากขึ้น กลายเป็นว่า เงินที่ใส่ลงไปไม่สามารถเพิ่มประสิทธิผลได้”
‘พลังประชารัฐ’ กับแนวคิด ปรับเปลี่ยน เชื่อมโยง ยกระดับ ขับเคลื่อน
นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า เราต้องการเตรียมพร้อมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 ซึ่งเชื่อว่าการลงทุนเรื่องสุขภาพเป็นการลงทุนในมนุษย์ โดยมีผลการศึกษามากมายว่า การลงทุนในสุขภาพนั้นมีผลทำให้เกิดการตอบแทนในเรื่องผลิตภาพ เพราะฉะนั้นจึงไม่มีใครปฏิเสธ อย่างไรก็ตาม หลักประกันสุขภาพต้องไม่ถูกมองในเรื่องการเมือง จะต้องมองหลักคิดถูกต้องหรือไม่ และทำให้ต่อเนื่องดีขึ้นอย่างไร
ทั้งนี้ หลักประกันสุขภาพในอนาคตต้องผูกกับการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยหลักคิดที่ถูกต้อง พัฒนาเดิมคนป่วยรักษาอย่างไร มาสู่การส่งเสริม ป้องกัน รักษาคุ้มครอง และกรณีต่างคนต่างดูแลตนเองนั้น มาสู่แคมเปญที่ดี “ดีช่วยป่วย รวยช่วยจน” ฉะนั้นบัตรทองที่พัฒนามาจาก 30 บาทนั้น เป็นเรื่องของสังคมเกื้อกูลและแบ่งปันกัน คนสุขภาพดีไม่ต้องใช้ คนรวยไม่ต้องใช้ ดังนั้นเราจะทำให้มีหลักปฏิบัติลักษณะนี้เกิดขึ้นมากกว่า
รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ มองมี 4 ประเด็นท้าทายเป็นโจทย์ 16 ปีที่ผ่านมาต้องตอบคำถามดังนี้ ประชาชนได้รับสิทธิถ้วนหน้าแล้วหรือไม่ ซึ่งจากข้อมูลจาก 3 กองทุน มีประชาชนได้รับสิทธิกว่า 90% แล้ว แต่โจทย์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าได้รับสิทธิ แต่อยู่ที่เข้าถึงสิทธิจริงหรือไม่ เช่น ทันตกรรม หากให้อยู่ในบัตรทอง ถามว่ามีทันตแพทย์เพียงพอหรือไม่ และเมื่อเข้าถึงแล้วได้รับบริการดีเพียงใด และบริการให้แล้วบริหารจัดการมีประสิทธิภาพประสิทธิผลมากน้อยเพียงใด หมายถึงเรื่องงบประมาณที่มีอยู่จำกัด จะนำเทคโนโลยีเข้ามา หรือบริหารจัดการอย่างไร
เมื่อนำโจทย์ข้างต้นมาแปลงเป็นนโยบายของพรรคพลังประชารัฐนั้น มองต้องปรับเปลี่ยนกลไกตอบโจทย์วามเท่าเทียมและยั่งยืน เชื่อมโยงภาคีครอบคลุมทุกภาคส่วน ยกระดับ ทำอย่างไรมั่นใจว่าประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และคุณภาพการให้บริการได้มาตรฐานจริง ขับเคลื่อน ทำให้เกิดสุขภาพที่ดีทุกช่วงวัย
ภาพสุดท้าย ‘อนาคตใหม่’ อยากเห็นระบบประกันสุขภาพ’ ต้องถ้วนหน้าจริง
นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีความสำคัญอยู่ 2 ประการ ประการแรกคือ คำว่า “ประกัน” ไม่เคยมีมาก่อนที่การเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้รับการประกัน ถือเป็นสิทธิในประเทศอื่นไม่เคยมีมาก่อน และประการที่สอง คือคำว่า “ถ้วนหน้า” สิทธินั้นถ้วนหน้า ทุกคนใช้ได้เหมือนกัน ดังนั้นคำว่า “ประกันสุขภาพถ้วนหน้า” โครงการตัวนี้จึงมีความสำคัญในแง่ประกันสิทธิ เพราะสิทธิในการเข้าถึงของคนทุกคนจะต้องถ้วนหน้า ไม่ว่าจะรวยหรือจน เท่าเทียมกันในการใช้ชีวิต
ขณะที่ผลกระทบ ก่อให้เกิดมิติใหม่ทางการเมืองว่า ประชาธิปไตยกินได้ นโยบายเป็นไปได้จริงๆ การเมืองที่ประชาชนได้ผลประโยชน์จากการเลือกตั้งมีจริง และผลกระทบของนโยบายนี้ยังเปรียบได้กับอิฐก้อนแรกของการสร้างระบบสวัสดิการในอนาคตที่สำคัญของประเทศไทย ถ้าในอนาคตมีรัฐสวัสดิการ และผู้คนถามว่าอะไรคืออิฐก้อนแรก ก็ต้องบอกว่าระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นก้าวแรก ซึ่งประวัติศาสตร์ได้จารึกความสำคัญไว้แล้ว
“โครงการนี้เปิดทางไว้ให้กับคนรุ่นใหม่อย่างผม ที่มีความฝันเดียวกันเดินต่อและเดินไปข้างหน้าได้ง่าย ดังนั้นเมื่อเป็นการเปิดทางก็ต้องบอกว่า การเมืองเป็นทางที่ไม่จบสิ้น สิ่งที่เป็นอยู่ปัจจุบันย่อมไม่ใช่รูปแบบสุดท้ายของระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ยังมีสิ่งที่จะต้องพัฒนา สิ่งที่ต้องเดินไปข้างหน้าอีกเยอะ”
หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวถึงข้อมูลสถิติด้วยว่า พ.ศ. 2546 ข้าราชการมีสิทธิในการรักษาพยาบาลต่อหัวละ 5,600 บาท บัตรทอง 1,200 บาท พ.ศ. 2559 ข้าราชการมีสิทธิในการรักษาพยาบาลต่อหัว 15,326 บาท บัตรทอง 3,200 บาท เพิ่มโดยเฉลี่ยทุกปี ปีละ 8% เท่ากัน เฉพาะส่วนเพิ่มของสิทธิข้าราชการอย่างเดียว 9,600 บาท ในรอบเกือบ 3 ปี เอาเป็นว่า 5 ปีที่ผ่านมา พ.ศ. 2554 ราชการเลื่อนที่ประมาณ 12,000 บาท บัตรทอง 2,600 บาท พ.ศ. 2559 อยู่ที่ 15,326 บาท บัตรทอง 3,200 บาท เฉพาะสิทธิของข้าราชการเพิ่มถึง 2,850 บาท แต่สิทธิของบัตรทองเพิ่มเพียงแค่ 528 บาท เพิ่มขึ้น 4% เท่ากัน นี่คือเรื่องที่ต้องจัดการ
ทั้งนี้ ในส่วนของพรรคอนาคตใหม่ เรามองเป็นเกม รูปภาพสุดท้ายที่เราอยากเห็น คือ ระบบประกันสุขภาพที่ถ้วนหน้าจริงๆ มีระบบเดียวที่ทุกคนได้เข้าถึงบริการที่เท่าเทียมกันจริงๆ แต่ปล่อยเอาไว้อย่างนี้ไม่ได้ เพราะแค่เดือนเดียวประกันสังคมจ่ายคุ้มครองผู้ประกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานที่อยู่ในระบบที่เป็นผู้ประกันตนจ่ายให้กับประกันสังคมด้วย แถมยังจ่ายภาษีด้วยการซื้อข้าวของ อะไรต่างๆ สิ่งที่ควรก็คือ สิทธิรักษาพยาบาลค่าราชการโตเท่ากันไม่ได้ อย่างที่ผลบอก 13 ปี โตเท่ากัน ค่าบัตรทองและค่าราชการ โตปีละ 8% 5 ปีที่ผ่านมาบัตรทองและข้าราชการโตเท่ากัน คือปีละ 4% หากโตเท่ากันไปเรื่อยๆ จะไม่มีทางที่จะเข้าหากันได้
สิ่งที่เราเสนอคือ ข้าราชการต้องโตน้อยกว่านี้ โตในราคาที่น้อยลง แล้วให้สิทธิบัตรทองโตขึ้นเร็วขึ้น เพื่อทำให้ประชาชนรู้สึกว่า ข้าราชการไม่ได้รวยขึ้นเพราะภาษีตัวเองลดน้อยลง ในอนาคตรวมกันเป็นก้อนเดียว ทำให้ข้าราชการโตขึ้นน้อยลง บัตรทองโตเร็วขึ้น เราได้เสนอไปแล้ว ที่ประกาศนโยบายเมื่อเดือนที่แล้ว เราเสนอไป 3,500 บาท ปรับเป็น 4,000 บาท เพิ่ม 17% ใน 1 ปี เพิ่มเร็วที่สุด รัฐบาลนี้ชุดนี้ประกาศเมื่อสองอาทิตย์ที่แล้ว เพิ่มจาก 3,400 บาท ปรับเป็น 3,800 บาท เราเสนอ 4,000 บาท โดยไม่ต้องแจงว่าเงินมาจากไหน แต่พรรคการเมืองต้องชี้แจงอย่างละเอียด
‘ไทยรักษาชาติ’ หวังดันงบฯ หลักประกันสุขภาพ มากขึ้น เพิ่มความเท่าเทียม
นายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานกรรมการยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ กล่าวว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นโครงการที่ต้องการให้ประชาชนมีสิทธิเข้าถึงการรักษาพยาบาล สาธารณสุขถ้วนหน้าเท่าเทียมกัน และในตัวมันเองตั้งแต่ต้น มีเจตนาต้องการให้ปรับปรุงคุณภาพของการรักษาโรค โดยใช้กลไกลของระบบที่รัฐเก็บเงินภาษีไปจ่ายเป็นค่าประกัน หรือรัฐทำประกันให้ประชาชน คือ นำไปจ่ายให้โรงพยาบาล ตามค่าใช้จ่ายต่อหัว แล้วหลักที่ตอนนั้นถ้าหากมีการปรับปรุงบริหารจัดการให้ดี ส่วนมากก็จะมีเงินเหลือ และเมื่อทำจริงแล้วไม่ง่าย แต่เจตนาตั้งแต่ต้นให้เกิดการปรับปรุง เพื่อที่จะเกิดประสิทธิภาพและใช้เงินน้อยลง รวมทั้งประชาชนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล
“ในแง่นี้ไม่ใช่ประชานิยมในความหมายที่เคยเกิดขึ้นในหลายพื้นที่นั้น เป็นคำที่ใช้โจมตีนโยบายของรัฐบาลในหลายๆ ประเทศ ผมใช้คำว่า สวัสดิการของรัฐ”
ทั้งนี้ การจะเป็นรัฐสวัสดิการ ประธานกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ระบุคือการมีสวัสดิการของรัฐมากขึ้นถ้ามีกำลังและภาษีเพียงพอ และรัฐบาลทำได้ดี เป็นเรื่องควรส่งเสริม แต่การจัดให้ประเทศไทยเป็นรัฐสวัสดิการ หมายความว่าการดูแลประชาชนทำโดยรัฐ และต้องพูดกันถึงที่มาของงบประมาณ เพราะว่า รายได้ของรัฐจากภาษีของประเทศไทย ตั้งแต่ผมเริ่มเป็นนักการเมืองมาก็เริ่มได้ยิน ตัวเลขประมาณ 15-17% GP ในขณะประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการ มีเงินภาษีตั้งแต่ 3.5-55% เป็นตัวเลขที่ต่างกันมาก เพราะฉะนั้นการจะเป็นรัฐสวัสดิการไม่ได้ง่าย ต้องใช้ความพยายามกันอีกมาก ต้องพัฒนาเศรษฐกิจอีกมาก
นายจาตุรนต์ กล่าวถึงความเท่าเทียมของ 3 กองทุน ควรทำให้เกิดความเท่าเทียมกันมากขึ้น โดยเฉพาะหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าควรมีงบประมาณมากขึ้น ให้ทุกคนได้มีสิทธิมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องส่งเสริมแน่นอน แต่ว่าจะรวมกันเลย หรือว่าให้เหมือนกันไปหมด มันก็ต้องคำนึงถึงผู้ที่เขาทำประกันสังคม ประกันสังคมกว่าที่จะเกิดขึ้นต้องใช้เวลายาวนาน มีผู้ที่มีชื่อเสียงในเรื่องการบุกเบิกทำให้เกิดประกันสังคมในประเทศ ก็ยังมีคนทำนองเดียวกัน ความรู้สึกเหมือนกัน และระบบราชการมีปัญหาเรื่องรั่วไหล แต่ว่าให้เท่าเทียมกันมากขึ้น นี่เป็นหลักการที่ต้องสนับสนุน แต่จะให้เหมือนกันไปเลยอาจจะทำให้กระทบต่อหลักการสำคัญองค์กรอื่นจัด
รปช.หนุนนโยบาย ป้องกันเป็นหลัก รักษาเป็นรอง
ทพ.ศุภผล เอี่ยมเมธาวี พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.)กล่าวว่า เรื่องนโยบายทั้งหมดไม่ใช่เพียงแค่นโยบายสุขภาพ เรามองว่าการจะทำนโยบายเรื่องหนึ่งขึ้นมาได้ จะต้องไปรับฟังประชาชนหรือว่าสังคม เพราะที่นั่นคือข้อมูลจริงที่จะทำให้เราทำนโยบายได้ถูกต้องตามความเป็นจริง ดังนั้นการเดินตะลอนแผ่นดิน 50 กว่าจังหวัดที่ผ่านมา หนึ่งในนั้นคือปัญหาด้านสุขภาพที่รับฟังมา และจัดทำเป็นนโยบายขึ้นมาในวันนี้
โดยปัญหาสุขภาพที่เราพบมาสำคัญกับหลายเรื่องในประเทศ ยกตัวอย่าง คนป่วยจากอาหารที่ไม่ปลอดภัยเต็มประเทศ คนเป็นมะเร็งที่มีสารก่อมะเร็งเต็มประเทศ เป็นต้น ดังนั้นปัญหาสุขภาพจึงป็นห่วงโซ่สายชีวิตของคนไทยทั้งประเทศเช่นเดียวกัน ห่วงโซ่นี้จะทำอย่างไร หากจะเทียบปัญหาสุขภาพ เราก็จำเป็นจะต้องแก้ปัญหาเรื่องอื่นด้วย อย่างเรื่องอาหารปลอดภัยเป็นนโยบายหัวใจหลักสำคัญของพรรคพลังประชาชาติ
“นโยบายสุขภาพ เราไปรับฟังพี่น้องประชาชนยังไม่พอ เราได้พบกับผู้ที่อยู่ในแวดวงของวงการสุขภาพหลายคน แล้วดึงผมเข้าไปทำงานในด้านสุขภาพอยู่ช่วงหนึ่ง ประมาณ 4 ปี เรามองเห็นอย่างนี้ว่า แนวคิดในการทำเรื่องสุขภาพตามที่คุณอภิสิทธิ์พูดว่า หลักประกันสุขภาพเป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบสุขภาพ แต่เป็นส่วนสำคัญเพราะเป็นการปฏิวัติระบบด้านสาธารณสุขของคนไทยขึ้นมา เราเองคิดว่าการนำหลักประกันสุขภาพขึ้นมาให้คนไทยเป็นเรื่องที่ดีมาก ไม่ใช่เรื่องการเมือง เราต้องยกเว้นการพูดเรื่องการเมืองกับหลักประกันสุขภาพแล้ว และแน่นอนทุกพรรคการเมืองจะต้องส่งเสริมหรือพัฒนาต่อไป”
ผู้แทนพรรครวมพลังประชาชาติไทย ยังพบว่าประกันสุขภาพจำเป็นจะต้องคิดเพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คำว่า “สร้างหลังซ่อม” หรือ “ป้องกันเป็นหลัก รักษาเป็นรอง” เรื่องนี้สำคัญ มีอยู่ในหลักประกันสุขภาพกองทุนเดียวเท่านั้น ประกันสังคมไม่มี ข้าราชการไม่ได้พูดถึงและใช้จ่ายจำนวนมากด้วย แต่หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบุว่า มีงานส่งเสริมป้องกันเป็นสำคัญ เพียงแต่ว่าในรอบ 15-16 ปีที่ผ่านมา งานส่งเสริมป้องกันนั้น ไม่ได้ถูกนำขึ้นมาให้เกิดการปฏิบัติที่จริงจัง
“ผมคิดว่า เรื่องสำคัญของนโยบายสุขภาพของพรรครวมพลังประชาชาติไทย จำเป็นจะต้องทำให้หลักการข้อนี้ปรากฏขึ้นมาเป็นจริงให้ได้ นั่นคือ ป้องกันเป็นหลัก รักษาเป็นรอง”
เราจะทำอย่างไร ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการป้องกันให้มีศักยภาพมากขึ้นและเป็นตัวจริง จะทำอย่างไรให้ชุมชน ประชาชน ให้เขตสุขภาพ 12+1 เขตนั้น ได้สามารถเข้าประเมินมีส่วนร่วมในเรื่องนี้ เราคิดค่อนข้างครบวงจร นอกจากนั้นยังคิดถึงความสำคัญของการทำให้ประชาชนมีสุขภาพดี อยู่ที่ระดับตำบลและหมู่บ้านเป็นหลัก คำว่า “หมู่บ้าน” หมายถึงชุมชน ในเมืองใหญ่ด้วย และในตำบลก็จะเป็นความสำคัญ โดยมีองค์กรสำคัญ เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลเป็นเป้าหมายด้วย
ขณะเดียวกัน เราพบว่าประชาชนหลั่งไหลเข้ามาที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด หรือโรงพยาบาลศูนย์ประจำจังหวัดอย่างแน่นหนา อย่างที่ว่านโยบายประกันสุขภาพไม่สามารถคัดกรองประชาชนได้ จนมีชาวบ้านหลายคนพูดว่าเหมือน “โรงคัดศพ” เราคิดว่า จำเป็นจะต้องยกระดับการรักษาให้ขึ้นมามีศักยภาพสูงที่เพียงพอและจะกลายเป็นที่พึ่งพาสำหรับประชาชนระดับอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน โดยไม่จำเป็นจะต้องเข้ามาที่จังหวัด หรือโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัย
“ การวางด้านสุขภาพที่หลายท่านกล่าวมานั้น มีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาและปรับปรุง อย่าลืมว่า ในแผนยุทธศาสตร์ของ สปสช. (สำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ) จนถึงปี พ.ศ. 2564 งบประมาณไม่ควรเกินประมาณ 17-20% แต่เมื่อปี 2560 ให้งบประมาณหัวละ 360 บาท จาก 48 ล้านคน ที่อยู่ในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งถือว่ายังไม่พอ ดังนั้นเราจะเพิ่มอย่างไรให้พอ นี่เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่เราจำเป็นจะต้องไปคิดและช่วยกันแก้ไข” ผู้แทนพรรครวมพลังประชาชาติไทย ระบุ .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/