ใช้เวลา 3 ปี คุยหลายเวที สนช.ผ่านวาระ 1 ร่างพ.ร.บ.การจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ
ใช้เวลา 3 ปี พูดคุยกันหลายเวที สนช.ผ่านวาระ 1 ร่างพ.ร.บ.การจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ย้ำชัดผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในร่างกฎหมายนี้ คือเรื่องอนาคต อาจมีการเพิ่มเงินกำจัดซากตั้งแต่กระบวนการผลิต
วันที่ 11 มกราคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีวาระการประชุมพิจารณากฎหมายหลายฉบับ 1 ในนั้น คือ ร่างพระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. .... คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ
พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวชี้แจงร่างพ.ร.บ.การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ....ว่า ปัจจุบันการใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์ดังกล่าวส่วนใหญ่มีส่วนประกอบซึ่งเป็นสารอันตรายและโลหะหนักหลายชนิด หากรั่วไหจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน จำเป็นต้องมีการจัดเก็บ รวบรวม คัดแยก ถอดชิ้นส่วน และกำจัดซากผลิตภัณฑ์อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ เพื่อให้มีระบบการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีประสิทธิภาพ โดยอาศัยความรับผิดชอบของผู้ผลิตและผู้นำเข้า ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ผู้ผลิตลดการใช้สารอันตราย รวมทั้งปรับปรุงการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ง่ายต่อการนำกลับมาใช้ใหม่ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อันเป็นการส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน
ซึ่งมาตรา 5 ระบุ ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ในบังคับแห่งพ.ร.บ.นี้ ได้แก่ 1.คอมพิวเตอร์ 2.เครื่องโทรศัพท์และโทรศัพท์ไร้สาย 3.เครื่องปรับอากาศ 4.เครื่องรับโทรทัศน์ 5. ตู้เย็น 6.ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
สำหรับการจัดการซากผลิตภัณฑ์ มาตรา 7 ห้ามมิให้ผู้ใดทิ้งซากผลิตภัณฑ์ในที่สาธารณะ ที่รกร้างว่างเปล่า หรือทิ้งปนอยู่กับสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย ให้ส่งคืนที่ศูนย์รับคืนซากผลิตภัณฑ์ รวมถึงมาตรา 15 กำหนดให้ผู้ผลิตมีหน้าที่รับคืน จัดเก็บ และรวมรวบซากผลิตภัณพ์ประเภทเดียวกันไม่ว่าเป็นของผู้ผลิตรายได้ รวมถึงซากผลิตภัณฑ์ที่มีการนำเข้าจากต่างประเทศหรือที่ไม่มียี่ห้อหรือเครื่องหมายการค้าใดๆ หรือที่ผู้ผลิตเลิกดำเนินกิจการแล้ว
ทั้งนี้ ยังมีบทกำหนดโทษที่สำคัญ สำหรับผู้ทิ้งซากผลิตภัณฑ์ฯ ในที่สาธารณะ และผู้ถอดแยกชิ้นส่วน กำหนดโทษสำหรับผู้ที่รับคืน จัดเก็บ รวบรวมซากผลิตภัณฑ์โดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นศูนย์รับคืนซากผลิตภัณฑ์
พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร สนช. กล่าวว่า ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีปัญหาเรื่องซากขยะพิษต่างๆ ดังนั้นกฎหมายก็ชอบที่ควรจะมี แต่เมื่อผ่านการร่างมาแล้ว หลายภาคส่วน ออกมาเสนอความคิดหลายครั้ง แต่ปรากฎว่า มีการแก้ไขทบทวนน้อย โดยเฉพาะมาตรา 9 ที่ห้ามมิให้ผู้ใดรับคืน จัดเก็บ หรือรวบรวมซากผลิตภัณฑ์ เว้นแต่ทำโดยศูนย์รับซื้อคืนซากผลิตภัณฑ์ฯ ขณะนี้เรามีประชาชนประกอบอาชีพรับซื้อของเก่าไม่น้อยกว่า 6 หมื่นรายทั่วประเทศ บางพื้นที่ทั้งอำเภอ มาตรานี้จะกระทบบุคคลเหล่านี้ทำอาชีพเก็บของเก่า พร้อมกันนี้ ยังแสดงความเป็นห่วงเรื่องบทลงโทษในกฎหมายฉบับนี้ด้วย
ขณะที่นายบุญเฑียร บุญตัน สนช. กล่าวว่า โดยหลักการ ร่างพ.ร.บ.การจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ เป็นกฎหมายที่ดี แสดงให้เห็นถึงความตื่นตัว เหมาะกับยุคสมัย แม้ออกมาช้านิดหนึ่ง แต่ก็ดีกว่าไม่ออกมา แต่เป็นห่วงเรื่องวิถีชีวิตที่ไม่เปลี่ยนของคนไทย
นายบุญเฑียร ยังกล่าวว่า อนาคตเทคโนโลยี IoT เข้ามา IoT จะเข้าข่ายเป็นซากผลิตภัณฑ์ในกฎหมายนี้หรือไม่ และหากกระบวนการการประกาศเพิ่มเติมล่าช้า ก็จะเสียหายเกินกว่าจะแก้ไขได้
ส่วนนายเจน นำชัยศิริ สนช. กล่าวถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากกฎหมายฉบับนี้ คือกระบวนการและการบริหารจัดการ โดยเฉพาะมาตรา 15 ภาระการกำจัดซากผลิตภัณฑ์ไปไว้กับผู้ผลิตทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ของตัวเองหรือไม่ รวมทั้งซากผลิตภัณฑ์ของผู้หยุดการผลิตไปแล้ว เชื่อว่า จะทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตในอนาคต
"อย่าลืมว่า ฐานการผลิตโทรศัพท์ไร้สายไม่ได้อยู่ในประเทศไทย อยู่ที่ประเทศเพื่อนบ้านเรา ถามว่า กรณีแบบนี้จะเอาใครมาเป็นผู้รับผิดชอบซากผลิตภัณฑ์ไร้สาย"
พร้อมกันนี้ นายเจน ยังแสดงความเป็นห่วง มาตรา 16 ให้ผู้ผลิตจัดทำแผนความรับผิดชอบการจัดการซากผลิตภัณฑ์ และมีบทกำหนดโทษนั้น โทษนี้มีความเหมาะสมกับการกระทำหรือไม่ ควรพิจารณาให้ดี
"ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศแรกมีกฎหมายแบบนี้ ถามว่า เขาทำแบบนี้หรือไม่ เชื่อว่าไม่ได้ทำ ที่ผ่านมาเรามีการพูดคุยกับกระทรวงฯ หลายครั้ง ร่างกฎหมายฉบับนี้เข้ามา เราได้ศึกษาอยู่ในชั้นอนุกรรมาธิการอุตสาหกรรม จึงขอผลการศึกษานั้นมาพิจารณาประกอบการในชั้นกรรมาธิการฯ ด้วย ผมเป็นห่วงหลายเรื่อง ทั้งๆ ที่จริงๆ เห็นด้วยในหลักการที่ต้องมีกฎหมายลักษณะนี้ แต่กลไก ประหนึ่งว่าไม่สามารถดำเนินการได้ หากดำเนินการก็มีผลกระทบต่อผู้ประกอบการ ไม่ว่าระดับซาเล็ง ระดับผู้ผลิต"
จากนั้น พลเอก สุรศักดิ์ กล่าวชี้แจงต่อว่า แม้กฎหมายฉบับนี้จะยังไม่สมบูรณ์ มีมุมมองแตกต่างกันตลอดเวลา วันนี้เราอยากควบคุมมลพิษ ไม่อยากให้สิ่งที่เราใช้เป็นภาระกับลูกหลานหรือสิ่งแวดล้อม จึงอยากมีกฎหมายควบคุม มีกรมควบคุมมลพิษเป็นหน่วยงานควบคุมหลัก กฎหมายฉบับนี้ผ่านครม.ตั้งแต่เดือนพ.ค.2558 ใช้เวลา 3 ปี พูดคุยกันหลายเวทีมาก ประเด็นที่มีการอภิปรายก็ถูกหยิบยกขึ้นมาตลอดเวลา เมื่อสรุปสุดท้ายใช้เวลา 3 ปีเข้าสภา
"ทุกคนอยากมีกฎหมายลักษณะนี้ แต่มีอย่างไรให้ปฏิบัติได้จริง เราไม่เคยกฎหมายแบบนี้มาก่อน ซึ่งที่ผ่านมามีการถกกันมาก โยงไปถึงขยะในอดีต ฉะนั้น ผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในร่างกฎหมายนี้ คือเรื่องอนาคต อาจมีการเพิ่มเงินกำจัดซากตั้งแต่กระบวนการผลิต และหากเราเห็นใจซาเล้ง กำลังตกงาน ช่วงเปลี่ยนผ่านเราอาจต้องมีสังกัด มีมาตรฐานรับรอง "
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังมีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ในที่สุดที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ลงมติในวาระที่ 1 รับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. .... ไว้พิจารณา ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 170 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี งดออกเสียง 2 เสียง ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้คณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 21 ท่าน พิจารณาร่างพระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. .... วาระ 2