เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ! กรุงเทพฯ- ปริมณฑลฝุ่นละออง PM2.5 เกินมาตรฐาน 19 พื้นที่
กรมควบคุมมลพิษ รายงานสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 วันที่ 11 มกราคม 2562 อากาศลอยตัวไม่ดี อุณหภูมิเพิ่มขึ้นตามความสูงในระดับล่าง สภาพอากาศปิด มีเมฆเป็นส่วนมากและมีหมอกในตอนเช้าส่งผลทำให้สถานการณ์ PM2.5 พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลคุณภาพอากาศโดยรวมอยู่ในระดับ 'เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ'
กรมควบคุมมลพิษ รายงานสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ประจำวันที่ 11 มกราคม 2562 ว่า จากสภาพอุตุนิยมวิทยาที่อากาศในช่วงเช้า อากาศลอยตัวไม่ดี อุณหภูมิเพิ่มขึ้นตามความสูงในระดับล่าง สภาพอากาศปิด มีเมฆเป็นส่วนมากและมีหมอกในตอนเช้าส่งผลทำให้สถานการณ์ PM2.5 พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลคุณภาพอากาศโดยรวมอยู่ในระดับ 'เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ' ปริมาณฝุ่นละอองเพิ่มขึ้นโดย
พื้นที่ริมถนน โดยสถานีวัดคุณภาพอากาศแสดงผลค่าฝุ่นละออง PM2.5 อยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ มีค่าเกินมาตรฐาน (50 มคก./ลบ.ม.) อยู่ 19 พื้นที่
พื้นที่ทั่วไป มีค่าเกินมาตรฐาน (50 มคก./ลบ.ม.) อยู่ 13 พื้นที่
คาดการณ์ ว่าคุณภาพอากาศในวันที่ 12 มกราคม จะอยู่ในระดับดีถึงปานกลางถึงเริ่มมีผลกระทบค่อสุขภาพ และ จากโมเดลพยากรณ์สภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ในช่วงของ วันที่ 11-12 มกราคม 2562 อากาศยังคงลอยตัวไม่ดีมากนัก สภาพอากาศค่อนข้างปิด
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศเรื่องค่าเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็กในบรรยากาศ ซึ่งเป็นปัญหามลพิษที่มีความรุนแรง โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ทั้งโรคระบบทางเดินหายใจ โรคระบบหัวใจและหลอดเลือดและโรคเรื้อรังอื่นๆ ซึ่งระดับของผลกระทบต่อสุขภาพ ได้ใช้สีเป็นสัญลักษณ์เปรียบเทียบ แบ่งเป็น 5 ระดับ ได้แก่ สีฟ้า (0–25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) สีเขียว (26–38 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) สีเหลือง (38–50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สีส้ม (51–90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) และ สีแดง (91 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไป) โดยตั้งแต่ระดับสีส้มเป็นต้นไป เป็นระดับที่เกินค่ามาตรฐานฝุ่นละอองขนาดเล็กในบรรยากาศและมีผลกระทบต่อสุขภาพ
ทั้งนี้ ฝุ่นละอองขนาดเล็กมีแหล่งกำเนิดจากหลายแหล่ง เช่น การจราจร การขนส่งวัสดุ การผลิตไฟฟ้า การเผาไหม้และการจุดธูป เป็นต้น โดยประชาชนที่อาจเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็กในบรรยากาศมากกว่าประชาชนทั่วไป ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคระบบทางเดินหายใจ ผู้ป่วยเรื้อรังอื่นๆรวมทั้งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะเฉียบพลัน ได้แก่ ผิวหนังเป็นผื่นคัน ระคายเคืองตา แสบจมูก ไอ มีเสมหะ แน่นหน้าอก เกิดโรคหอบหืด เป็นต้น รวมทั้งผู้ที่อยู่ริมถนน
สำหรับวิธีการลดปริมาณฝุ่นละอองที่ดีที่สุดคือ ประชาชนต้องมีจิตสำนึกร่วมกันเพื่อลดกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการเพิ่มขึ้นของฝุ่นละออง เช่น ลดการจุดธูป ลดการเผาขยะ ซึ่งจะเพิ่มปริมาณฝุ่นเป็นจำนวนมาก โดยเริ่มจากการลดใช้ถุงพลาสติกหันมาใช้ ถุงผ้าในการจับจ่ายสินค้าแทน ก็จะช่วยลดปริมาณขยะที่จะกำจัดด้วยวิธีการเผาให้น้อยลง ทำความสะอาดบ้าน บ่อยๆ เพื่อเป็นการลดฝุ่นละออง และป้องกันตนเองโดยการสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นละอองที่เหมาะสม ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย ควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม ถ้าที่พักอาศัยอยู่ในที่เสี่ยงฝุ่นละอองให้ปิดประตู หน้าต่างให้มิดชิด คอยติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศ และประกาศแจ้งเตือนจากทางราชการหรือสื่อต่าง ๆ