ตัดงบไม่จำเป็น-ฟุ้งเฟ้อออก 'อานันท์' ขอรัฐขยายถึง 6 ปี เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด
อดีตนายกฯอานันท์ ชมรัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กมากขึ้น ระบุ แต่ยังไม่พอ โดยเฉพาะนโยบายเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด จนครบอายุ 3 ปี เดือนละ 600 บาท เข้าถึงครอบครัวยากจนที่มีลูกเกือบ 6 แสนราย วันนี้ถึงเวลา ขยายเป็น 6 ปี พร้อมแนะให้ไปตัดนโยบายหลายอย่างที่ไม่ควรจะมี ไม่จำเป็น ฟุ้งเฟ้อออก แล้วมาให้กับเด็ก เชื่อประเทศได้ผลตอบแทนมหาศาล
วันที่ 10 มกราคม องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย และ กระทรวงการต่างประเทศ จัดงานเสวนาพิเศษ “การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทย: แนวทางการจัดการความท้าทายใหม่ในศตวรรษที่ 21”(Developing Human Capital of Thailand: Be Part of the Solution for Children) เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการมุ่งหาทางแก้ไขปัญหาอันจะยกระดับการเรียนรู้และการพัฒนาเยาวชนในประเทศไทย ณ วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ ถ. ศรีอยุธยา โดยมีนายโธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย และนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวเปิดงาน
นายดอน กล่าวตอนหนึ่งถึงอนาคตสำหรับเด็กทุกเป็นเรื่องสำคัญมากที่ผู้ใหญ่ต้องดำเนินวิถีที่สร้างอนาคตที่ดีไว้ให้กับคนรุ่นหลัง ให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการสร้างอนาคตของเขาเอง โดยไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
"ผมอยากฝาก 1.เราในฐานะผู้ใหญ่และภาครัฐมีหน้าที่สนับสนุนให้เด็กและเยาวชนมีบทบาทสร้างการเปลี่ยนแปลง สร้างเงื่อนไขที่เอื้อให้กับเด็กทุกพื้นที่ เปิดโอกาสให้แสดงความคิดสร้างสรรค์ได้ควบคู่กับการเสริมสร้างและตระหนักรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะเรื่องสิทธิเด็ก 2.เด็กทุกคนต้องได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน ความเหลื่อมล้ำยังเป็นประเด็นท้าทายในการทำงานด้านเด็กและเยาวชน จากสถิติพบว่า เด็กที่อยู่ในความยากจนขั้นรุนแรงอยู่ที่ร้อยละ 19.5 ประมาณ 1 ใน 3 อยู่ในข่ายได้รับสิทธิประโยชน์จากมาตรการคุ้มครองทางสังคม ขณะที่ด้านการศึกษา เด็ก 61 ล้านคนไม่สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษา เยาวชน 115 ล้านคนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ รวมถึงมีเด็กโยกย้ายถิ่นฐาน และเด็กพลัดถิ่นอีกมากมาย และ 3.เราสร้างเด็กที่เติบโตเป็นพลเมืองที่ดีของโลก สร่วมพัฒนาชาติ พัฒนาโลก ส่งเสริมคนรุ่นใหม่ให้มีความเอื้อเฟื้อ และแบ่งปันมากขึ้น
จากนั้นนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี และทูตสันถวไมตรี องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวปาฐกถาพิเศษ ถึงการทำงานของยูนิเซฟในประเทศไทยช่วงที่ผ่านมาว่า ทำให้คนไทยได้บทเรียน เด็กไม่มีพรมแดนกั้น เด็กไม่ได้อยู่บนพื้นฐานศาสนา เพศ ชนชาติ เด็กก็คือเด็ก เห็นเด็กเราไม่ต้องถามมาจากไหน ชนชาติอะไร ซึ่งงบประมาณของยูนิเซฟจึงใช้ทำกิจกรรมกับเด็กในเมืองไทยทั้งหมด ทั้งเด็กพม่า เขมร ไทยใหญ่ รวมถึงช่วยเหลือเรื่องภัยพิบัติต่างๆ อีกหลายๆ ประเทศ
นายอานันท์ กล่าวว่า แม้ประเทศไทยจะมีความก้าวหน้าไปหลายๆ ด้านๆ แต่ปัจจุบันเราก็กำลังเผชิญความท้าทาย นั่นคือการพัฒนาศักยภาพประชากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด นี่คือความท้าทายใหม่ ต้องใช้วิธีการใหม่ๆ ในการจัดการ คำถามข้อแรก คือ เราจะทำอย่างไรให้เด็กที่อยู่ในภาวะเปราะบาง ไม่ว่าจะเป็นเด็กยากจน เด็กที่อยู่ห่างไกลความเจริญ เด็กพิการ และเด็กข้ามชาติ สามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ที่จำเป็นเท่าเทียมกับเด็กคนอื่นๆ และทำอย่างไรให้การเข้าถึงเป็นไปอย่างยั่งยืน รวมทั้งจะทำอย่างไรให้แน่ใจว่า บริการเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา สาธารณสุข หรือการคุ้มครองเด็กเป็นบริการที่มีคุณภาพ ตอบสนองความต้องการเด็กและเยาวชน และช่วยพวกเขามีความพร้อมทั้งด้านความรู้ ทักษะในการใช้ชีวิตท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไอย่างรวดเร็ว
"คำถามสุดท้ายก็คือ เราจะเปลี่ยนวิธีการทำงานของเราอย่างไร ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้อย่างไร ซึ่งการจัดการความท้าทายใหม่ๆ ต้องอาศัยการวางแผน ความร่วมมือที่เข้มแข็งกว่าเดิมจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเอกชนที่มีอิทธิพลต่อความเติบโตทางเศรษฐกิจให้เข้ามามีส่วนร่วมกับการจัดการความท้าทายใหม่ๆ"
อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กมากขึ้น แต่ยังไม่พอ นโยบายเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด จนครบอายุ 3 ปี เดือนละ 600 บาท ซึ่งเข้าถึงครอบครัวยากจนที่มีลูกเกือบ 6 แสนรายนั้น เป็นโครงการเริ่มต้นที่ดีมาก สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก
"แม้ว่า รัฐบาลไทยจะมีภาระหลายด้าน แต่ทุกรัฐบาลก็ต้องจัดลำดับก่อนหลังความสำคัญ ผมอยากเห็นรัฐบาลให้ความสำคัญกับสุขภาพอนามัย การศึกษาของเด็ก วันนี้ยังจัดลำดับก่อนหลังไม่ค่อยถูก เมืองไทยเป็นเมืองที่มีคนชรามากขึ้น ฉะนั้น อนาคตเมืองไทยอยู่ที่เด็ก หากเด็กไม่มีคุณภาพ ไม่มีการศึกษา ไม่แข็งแรง ไม่มีอนามัย ฉะนั้นเด็กคืออนาคตที่ทิ้งไม่ได้"
นายอานันท์ กล่าวถึงเด็กที่เกิดมามีความทัดเทียมเท่ากัน แต่ตั้งแต่วันเกิดมา ความทัดเทียมก็ลดน้อยลงไปทุกด้าน ไม่ว่าเรื่องสุขภาพอนามัย การดูแลเอาใจใส่ของผู้ปกครอง การศึกษา การหางานทำ
"ผมขอร้องและอยากเห็นรัฐบาลไทยจัดลำดับก่อนหลังให้เหมาะสมกว่านี้ เงิน 600 บาทต่อเดือน กับเด็กอายุ 3 ปี ถึงเวลาแล้วเพิ่มเป็น 6 ปี งบประมาณไม่เท่าไหร่ ผลตอบแทบในอนาคตมากกว่านั้น เราเสียอะไรหลายอย่างที่ไม่ควรจะเสียไป เรามีนโยบายหลายอย่างที่ไม่ควรจะมี ตัดนโยบายที่ไม่จำเป็น ฟุ้งเฟ้อแล้วมาให้กับเด็ก"
ช่วงท้าย อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเยาวชนในประเทศไทยต้องเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานในทศวรรษที่ 21 เพื่อจะ เติบโตเป็นนักคิด เป็นผู้นำที่ดีในอนาคต ซึ่งหากไม่มีการลงทุนอย่างเร่งด่วนทางภาคการศึกษา หรือการฝึกทักษะที่จำเป็นแล้ว เยาวชนหลายล้านคนจะขาดความพร้อมและกลายเป็นแรงงานไร้ฝีมือ กลายเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้า และเสถียรภาพของประเทศไทย การพัฒนาเพื่อก้าวไปสู่ประเทศไทย 4.0 ไม่ได้เริ่มจากผู้ใหญ่ หรือคนในปัจจุบัน ความยั่งยืนของสิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยคนรุ่นใหม่ เด็กจะเป็นกำลังสำคัญ ดังนั้นมีภาระกิจมากรอเราอยู่ในอนาคต แต่เราไม่สามารถดำเนินการได้วันนี้
"อย่าให้สังคมเจอความรู้สึกว่า เมืองไทยไม่สนใจเรื่องของความเหลื่อมล้ำ ไม่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็ก สิ่งที่อันตรายที่สุดคือ เด็กพวกนี้โตขึ้นมา หากเขามีความรู้สึกไม่ว่าเหตุผลใดก็ตามว่า เขาไม่มีอนาคต ถูกทอดทิ้ง ทุกคนลืมเขา เขาไม่มีตัวตนในสังคม ความรู้สึกที่ติดค้างเมื่อโตขึ้นแล้ว เมื่อนั้นจะเป็นอันตรายของประเทศ"