สำนักฝนหลวงขานรับนาซ่าตั้งฐานอู่ตะเภา-ช่วยแก้ฝนแล้งป้องภัยธรรมชาติ
ผอ.สำนักฝนหลวงเสนอความเห็นต่อรมว.เกษตรฯ เห็นชอบโครงการนาซ่าพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูง หนุนวิจัยพฤติกรรมเมฆฝนแก้ภัยพิบัติ-แล้ง ครม.ยังไม่เคาะมอบกระทรวงวิทย์เจ้าภาพ กฤษฎีกาพิจารณาใหม่
วันที่ 20 มิ.ย.55 นายวราวุธ ขันติยานันท์ ผู้อำนวยการสำนักฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยผลการหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อประเด็นกระแสข่าวโครงการสำรวจภูมิอากาศเหนือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขององค์การนาซ่าและการเข้าร่วมโครงการของเครื่องบินฝนหลวงว่า โครงการนาซ่าประสานงานผ่านสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำเทศไทยมายังกระทรวงการต่างประเทศของไทย โดยมีวัตถุประสงค์จะทำการสำรวจชั้นบรรยากาศเหนือภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อทำการวิจัยการเปลี่ยนแปลงของโอโซน คุณภาพอากาศ ที่มีผลต่อองค์ประกอบการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะใช้สนามบินอู่ตะเภาเป็นฐานปฏิบัติการ โดยจะส่งเครื่องบินวิจัยที่ติดตั้งอุปกรณ์วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีชั้นสูงเข้ามาทำการบินตรวจวัดบรรยากาศระดับสูงของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน
ต่อมากระทรวงการต่างประเทศ ได้เชิญกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กองทัพเรือ กองทัพอากาศ สำนักพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ กรมอุตุนิยมวิทยา ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กระทรวงกลาโหม และสำนักฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าว ซึ่งมีข้อสรุปร่วมกันใน 2 ประเด็นคือ ในด้านเทคนิคและประโยชน์ที่ไทยจะได้รับทางวิทยาศาสตร์ และในด้านความมั่นคงของประเทศ ซึ่งรวมไปถึงผลกระทบด้านความมั่นคงของประเทศเพื่อนบ้าน
ผอ.สำนักฝนหลวงฯ กล่าวอีกว่า ในประเด็นด้านเทคนิคทางวิทยาศาสตร์ โครงการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อการเสริมสร้างขีดความสามารถให้กับวงการวิทยาศาสตร์ในไทยและช่วยพัฒนาขีดความสามารถในการพยากรณ์และป้องกันภัยพิบัติให้กับประเทศไทยและประเทศในภูมิภาค ส่วนเรื่องคามมั่นคงของประเทศ กระทรวงกรต่างประเทศได้ติดตามรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมจากนาซ่า ก่อนที่จะนำเสนอครม. เชื่อว่าจะได้ประโยชน์ในเรื่องการศึกษาพฤติกรรมของเมฆและฝนในประเทศไทย ซึ่งสำนักฝนหลวงกำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการศึกษาโดยใช้เครื่องบินวิจัยฝนหลวงทำการตรวจวัดข้อมูลการกระจายเชิงขนาดของเม็ดน้ำในก้อนเมฆหากได้รับข้อมูลจากการตรวจวัดสำรวจดาวเทียมขององค์การน่าซ่าจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาดังกล่าวเป็นอย่างมาก
“การสำรวจจะส่งผลให้มีการศึกษาข้อมูลเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเทคโนโลยีการดัดแปรสภาพอากาศเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งและภัยธรรมชาติที่เกี่ยวข้องในอนาคต รวมทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนานักวิจัยของสำนักฝนหลวงที่จะเข้าร่วมโครงการด้วย ซึ่งผู้แทนนาซ่าที่เข้าร่วมหารืออย่างไม่เป็นทางการในแนวทางการประสานความร่วมมือดังกล่าว แต่ยังไม่ได้มีข้อสรุปในรายละเอียด การจะเข้าร่วมหรือไม่อย่างไรจะต้องพิจารณาภายหลังโครงการนาซ่าได้รับอนุมัติจากรัฐบาลไทย”
ทั้งนี้ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่ จ.ชลบุรีเมื่อวันที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา ไม่ได้มีการนำเรื่องดังกล่าวเข้าพิจารณาในที่ประชุม มีเพียงให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นเจ้าภาพรับผิดชอบ เพราะเป็นการสำรวจเมฆและฝุ่นละอองระดับสูง ซึ่งมีผลต่อสัญญาณดาวเทียมและการพยากรณ์อากาศ เป็นการตั้งฐานพร้อมกันใน 3 ประเทศ คือ ไทย กัมพูชาและสิงคโปร์ พร้อมกันนี้ครม.ได้สั่งการให้กฤษฎีกานำกลับไปพิจารณาว่าเรื่องนี้ครม.สามารถให้ความเห็นชอบได้เลยหรือต้องเสนอให้รัฐสภาพิจารณาแล้วเสนอกลับมาให้ครม.อีกครั้งพร้อมกับตั้งคณะทำงานแต่ละด้านขึ้นมาศึกษารายละเอียด