ฟังโมเดลธุรกิจใหม่ 'ดร.รักษ์' บสย. กับสินเชื่อชุบชีวิต ให้โอกาสคนเคยล้มกว่า 1 แสนราย
"วันนี้เรามีพี่น้องเอสเอ็มอีที่เคยล้ม ไม่ต่ำกว่า 1 แสนราย บสย.จะทำในรูปแบบค้ำประกัน Direct Guarantee แม้ ธพว. สสว. จะช่วยส่วนหนึ่งแล้ว แต่หากจะให้เครื่องจักรกลับมาทำงานได้ใหม่ เงินส่วนเพิ่มคือเงินที่ บสย.จะเข้าไปค้ำ"
"ผมเชื่อมั่นในคนเคยล้ม โอกาสที่ 2 คือโอกาสที่ทำให้ลูกเมียเขาสามารถลืมตาอ้าปากได้ สามารถทำให้ลูกน้องคู่ใจ ที่อยู่กับกิจการเขามาหลายสิบปีมีงานทำได้ใหม่ คนเคยล้มไม่สามารถประพฤติเหมือนเดิม หรือใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ หรืออะไรก็ดี นี่คือโอกาสที่ 2 ของชีวิต บสย.กำลังจะทำให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เคยล้มกว่า 1 แสนรายทั่วประเทศ"
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดแถลงข่าวถึงผลการดำเนินงานของบสย.ตลอดปี 2561 พร้อมแสดงวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์และแผนงาน บสย.ปี 2562 ภายใต้ความท้าทายในโลกยุคดิจิทัลที่เปลี่ยนเร็ว กับการทำงานของบสย.ที่ต้องปรับตัวให้เร็ว ตอบโจทย์ และการการทำงานของรัฐบาลยุคดิจิทัล
สำหรับ ดร.รักษ์ ประสบการณ์เคยทำงานกับบริษัทข้ามชาติอย่างเชฟรอน ตำแหน่งหัวหน้าคณะที่ปรึกษาภูมิภาคเอเชียใต้ ฝ่ายนโยบายด้านรัฐกิจและกิจการสัมพันธ์ บริษัท เชฟรอนเอเชียเซ้าท์ จำกัด,รองกรรมการผู้จัดการ สายพัฒนาธุรกิจและการตลาด บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (iBank) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (Exim Bank) กลางเดือนธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา เข้าร่วมงานกับ บสย. ในตำแหน่ง กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย.
เริ่มต้นผู้บริหารคนใหม่ บสย. โชว์ถึงภาพรวมการค้ำประกันสินเชื่อ ปี 2561 บสย.ที่มียอดอนุมัติค้ำประกัน 88,878 ล้านบาท ซึ่งสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการได้ 77,862 ราย ทำให้เอสเอ็มอีไทย หรือวิสาหกิจชุมชน หรือสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ยืนได้ด้วยรายได้จากการทำธุรกิจ ขณะที่สัดส่วนการค้ำประกัน จำแนกตามประเภทธุรกิจ ที่สำคัญ พบว่า ภาคเกษตรกรรมจากสัดส่วนอยู่ที่ 6% ก็เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 8.44% และกำลังจะแตะที่ 10%
ดร.รักษ์ ชี้ว่า ตลอด 26 ปี ถึงวันนี้ ตัวเลข ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561 บสย. มีวงเงินอนุมัติอยู่ที่ 757,297 ล้านบาท ช่วยเอสเอ็มอี 344,138 ราย
จากฐานข้อมูล สสว.มีเอสเอ็มอีที่ลงทะเบียนมีจำนวน 3 ล้านราย และเอสเอ็มอีไม่ลงทะเบียน หรือไม่ได้อยู่ในระบบอีกประมาณ 2.5 ล้านราย (เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน) รวมกว่า 5.5 ล้านราย ฉะนั้น เป็นโอกาสของ บสย.จะเข้าไปช่วยเหลือ
"ที่ผ่านมา บสย.ช่วยเอสเอ็มอีได้ถึง 7-8% ทีเดียวจากจำนวนดังกล่าว" ดร.รักษ์ ระบุ พร้อมกับชี้ถึงภารกิจหลักและการทำงานของบสย. คือการเข้าไปช่วยภาคเอสเอ็มอีของไทยให้กลับมายืนได้อย่างมั่นคง เข็มแข็ง และยั่งยืน
ในส่วนของยุทธศาสตร์ ปี 2562 กับการขับเคลื่อนกลยุทธ์ SOS
S=SMEs Capacity Enhancer
กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย. บอกว่า นอกจาก บสย.จะเข้าไปค้ำประกันสินเชื่อแล้ว เราจะเข้าไปส่งเสริมความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้วย
"จากเมื่อก่อนค้ำอย่างเดียว วันนี้ค้ำไปด้วยสอนวิธีการประกอบการให้ประสบความสำเร็จ โดยร่วมมือระหว่าง สถาบันการเงินของรัฐ (SFIs) (รวมธนาคารกรุงไทย)"
นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบไทยที่ออกไปทำธุรกิจนอกบ้าน แบบกองทัพมด หรือ การค้าผ่านแดน. (CROSS BORDER ) บสย.จะเข้าไปเพิ่มศักพยภาพผู้ประกอบการไทยที่มีหลักแหล่ง มีที่อยู่ตรวจสอบได้จากทูตพาณิชย์ โดยสามารถมีวงเงินส่วนเพิ่มได้ ซึ่งบสย.จะทำร่วมงานกันธนาคารรัฐ และธนาคารพาณิชย์ที่มีสินเชื่อ CLMV
New Business Model ต่อจากนี้ของบสย. เขาชี้ว่า บสย.อยากทำหน้าที่เป็น One Stop Service ซึ่งปัจจุบันเราได้ลองไปคุยกับเพื่อนธนาคารพันธมิตร ทำโครงการสินเชื่อพร้อมค้ำ โดยบสย.จะวิเคราะห์เบื้องต้นก่อนแบงก์ปล่อยสินเชื่อ ซึ่งการวิเคราะห์เบื้องต้นเชื่อมั่นว่า พนักงานบสย.ทำได้ เราจะแบ่งเบา ลดภาระของแบงก์ ลดการปฏิเสธจากหลาย ๆ ธนาคาร หรือเรียกว่า ทำหน้าที่กึ่งๆ เป็น Bank Agent
O=Opportunity Gateway
ทั้งนี้ โครงการในท่อของบสย.ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าเฉพาะกลุ่ม ดร.รักษ์ บอกว่า อนาคตอันใกล้ บสย.จะมีโครงการรักพี่วิน คล้ายกับโครงการฮักแท็กซี่ ของเอสเอ็มอีแบงก์
ก่อนจะให้ตัวเลข รถจักรยานยนต์รับจ้าง หรือวินมอเตอร์ไซในกรุงเทพฯ มีอยู่ประมาณ 6 พันวิน มีผู้ขับวินมอเตอร์ไซด์ประมาณ 1 แสนราย รวมกับปริมาณฑล ก็อีกประมาณ 5 หมื่นราย รวมทั้งหมด 1.5 แสนราย "เราจะดูสภาพรถ มีความปลอดภัยสำหรับผู้โดยสารหรือไม่ โครงการนี้จะทำร่วมกับธนาคารของรัฐ ให้วงเงินเล็กๆ ไม่ถึง 5 หมื่นบาท มีบสย.เป็นผู้ค้ำ เชื่อว่า จะทำให้คนขับวินมีเงินปรับปรุงรถให้ดีขึ้น รวมถึงการซื้ออุปกรณ์สำหรับความปลอดภัยผู้โดยสาร"
S=Second 'Chance' Provider
โอกาสของคนเคยล้ม โดยพลิกฟื้นอุตสาหกรรมที่กำลังจะแย่ ให้โอกาสใหม่แก่กลุ่ม NPLs และกลุ่มที่ต้องการฟื้นกิจการ ดร.รักษ์ อธิบายถึงรายละเอียดว่า "เรามีพี่น้องเอสเอ็มอีที่เคยล้มจำนวนไม่ต่ำกว่า 1 แสนราย บสย.จะทำในรูปแบบค้ำประกัน Direct Guarantee แม้ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย” (ธพว.) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จะช่วยส่วนหนึ่งแล้ว แต่หากจะให้เครื่องจักรกลับมาทำงานได้ใหม่ เงินส่วนเพิ่มคือเงินที่ บสย.จะเข้าไปค้ำ"
พร้อมกันนี้เขายังแสดงความเชื่อมั่น "คนเคยล้ม โอกาสที่ 2 คือโอกาสที่ทำให้ลูกเมียเขาสามารถลืมตาอ้าปากได้ สามารถทำให้ลูกน้องคู่ใจ ที่อยู่กิจการเขามาหลายสิบปีมีงานทำได้ใหม่ เขาไม่สามารถประพฤติเหมือนเดิม หรือใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ หรืออะไรก็ดี นี่คือโอกาสที่ 2 ของชีวิตเขา บสย.กำลังจะทำให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เคยล้มกว่า 1 แสนรายทั่วประเทศ"
นายสุรชัย ดนัยตั้งตระกูล ประธานบอร์ด บสย.ร่วมแถลงผลการดำเนินงานตลอดปี 2561
สุดท้าย ผู้บริหารหนุ่มไฟแรง บสย. ยังบอกถึงนโยบายธงรบของปีนี้ คือ โครงการสินเชื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิต ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยบสย.จะบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานของรัฐ และภาคการศึกษา เพื่อให้เถ้าแก่มีเงินก้อนเพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต ให้เป็นระบบ Automation มากขึ้น
"ที่ผมพูดว่าธงรบ หรือสนามรบ บสย.รบกับความยากจน รบกับความลำบากของเอสเอ็มอีไทย ร่วมกับแบงก์ออมสิน ธ.ก.ส. ธพว. ธอส. เอ็กซิมแบงก์ ไอแบงก์ และเพื่อนธนาคารพาณิชย์ อยู่ข้างหลัง เราจะร่วมรบและทำสงครามกับความยากจนของเอสเอ็มอีไทยไปด้วยกัน"