กู้ศรัทธา! 140 องค์กรทำ จม.ถึง ปธ.สนช. ถอนมติปมไม่รับรอง 5 ผู้ผ่านการสรรหา กสม.
หวังให้กอบกู้วิกฤติศรัทธา! 140 องค์กร-ภาคประชาชนด้านสิทธิมนุษยชน ทำจดหมายเปิดผนึกถึง ปธ.สนช. ให้เพิกถอนมติ สนช. ไม่รับรอง 5 บุคคล ‘สมศรี-ไพโรจน์-จตุรงค์-บุญแทน-สุรพงษ์’ ที่ผ่านการเสนอชื่อเป็น กสม. โดยคณะกรรมการสรรหาฯ ชี้ขัดต่อกฎหมาย-หลักการปารีส ถ้าไม่ทำอาจถูกลดเกรด ไร้ปากเสียงในนานาชาติ
จากกรณีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติรับรองบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2561 ที่ผ่านมา โดยรับรองผู้ที่คณะกรรมการสรรหาเสนอรายชื่อให้พิจารณาเพียง 2 คน และไม่รับรอง 5 คน ได้แก่ นางสมศรี หาญอนันทสุข นายไพโรจน์ พลเพชร ผศ.จตุรงค์ บุณยรัตนสุนร นายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ และนายสุรพงษ์ กองจันทึก นั้น (อ่านประกอบ : เอ็นจีโอร่วงหมด! สนช.เคาะเลือก 'พรประไพ -ปิติกาญจน์' กสม.ใหม่เอ็นจีโอร่วงหมด! สนช.เคาะเลือก 'พรประไพ -ปิติกาญจน์' กสม.ใหม่)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ตัวแทนองค์กร 70 แห่ง และตัวแทนภาคประชาชน 70 คน ในด้านสิทธิมนุษยชน ทำหนังสือเปิดผนึกถึงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กรณีการลงมติของ สนช. ไม่รับรองผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง กสม. ระบุสาระสำคัญว่า การลงมติของ สนช. ในกรณีดังกล่าว ไม่ยืนอยู่บนหลักการของสิทธิมนุษยชนตามที่คณะกรรมการสรรหาใช้พิจารณา ดังนี้
1.การไม่รับรองบุคคล 5 คน ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการสรรหาฯว่า เป็นผู้มีความรู้ และประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์ และมีคุณสมบัติเฉพาะทั้ง 4 ด้าน ตามกฎหมาย กสม. โดยการลงคะแนนเสียงรับรอง 10-15 คะแนน และไม่รับรอง 135-145 คะแนน ทำให้เป็นที่ประจักษ์ได้ว่า เป็นการลงคะแนนที่มีลักษณะจัดตั้ง ชี้นำ จนอาจทำให้เชื่อได้ว่าเป็นการจงใจปฏิเสธบุคคลที่ทำงานภาคประชาสังคม (NGOs) ที่ทำงานและมีผลงานเป็นที่ประจักษ์อย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลให้สังคมไทยต้องเสียโอกาสในการพัฒนาสิทธิมนุษยชนของประชาชน และอาจสูญเสียความน่าเชื่อถือจากนานาชาติด้านสิทธิมนุษยชน
2.มติของ สนช. ส่วนใหญ่ไม่เป็นไปตามหลักการปารีสที่ระบุให้ กสม. ทุกประเทศต้องเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชน หรือภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสรรหา และการได้รับแต่งตั้งเป็น กสม. เพื่อให้เกิดความเป็นอิสระในการตรวจสอบการละเมิดสิทธฺมนุษยชนที่ส่วนใหญ่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ การไม่รับรองบุคคลดังกล่าวทำให้ส่งผลลบต่อภาพลักษณ์ไทยในด้านสิทธิมนุษยชน สุ่มเสี่ยงต่อสถานภาพของ กสม. ที่ขณะนี้ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม B กลายเป็นกลุ่ม C คือตกไปอยู่ในกลุ่มที่มีสถานภาพต่ำสุด และไม่สามารถประชุม กสม. ของสหประชาชาติได้
3. สนช. ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญ เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ พฤติกรรมทางจริยธรรมผู้ผ่านการสรรหา อาจขัดกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหาฯ มาตรา 13 (3) ที่บัญญัติว่า ในการสรรหา ให้คณะกรรมการสรรหาปรึกษาหารือเพื่อคัดสรรให้ได้บุคคลที่มีความรับผิดชอบสูง มีความกล้าหาญในการปฏิบัติหน้าที่ และมีพฤติกรรมทางจริยธรรมเป็นตัวอย่างที่ดีของสังคม มีทัศนคติที่เหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดผลสำเร็จ รวมตลอดทั้งคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของทั้งหญิงและชาย และส่งเสริมความเป็นพหุสังคม และให้คณะกรรมการสรรหาส่งข้อมูลที่ใช้ในการพิจารณาคัดสรรไปยังวุฒิสภาเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย ย่อมเห็นได้ว่า คณะกรรมการสรรหาฯ ที่มีประธานศาล ประธาน สนช. ตัวแทนเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน และผู้ทรงคุณวุฒิอื่น ๆ ย่อมเป็นบุคคลที่ยอมรับและน่าเชื่อถือทางสังคม ได้ให้ความเห็นชอบต่อผู้เข้ารับการสรรหาทั้ง 5 คน ดังนั้นการตั้ง กมธ.สามัญตรวจสอบประวัติ จึงเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ซ้ำซ้อน และไม่ยอมรับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหาฯ
4.การจัดให้มีการประชุมลับ เพื่อรายงานผลการตรวจสอบประวัติผู้ผ่านการสรรหา ระหว่าง กมธ.ตรวจสอบประวัติ กับ สนช. ก่อนที่จะลงมตินั้น ไม่อาจกระทำได้ในกรณีของการรับรองผู้ที่มีผ่านการสรรหาให้ได้รับการแต่งตั้งเป็น กสม. แม้ว่าข้อบังคับการประชุมของ สนช. ให้อำนาจแก่ สนช. ในการตั้ง กมธ.สามัญตรวจสอบประวัติ และให้อำนาจในการจัดทำรายงานลับก็ตาม แต่ สนช. ไม่ควรใช้ข้อบังคับดังกล่าวมาใช้เนื่องจากการสรรหา และแต่งตั้ง กสม. ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามหลักการของสมาพันธ์สถาบันสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ หรือ GANHRI ซึ่งเป็นกลไกของสหประชาชาติ
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น องค์กรภาคประชาสังคม องค์กรสิทธิมนุษยชน และบุคคลที่อยู่ท้ายจดหมายนี้ จึงไม่อาจยอมรับมติของ สนช. ได้ และเรียกร้องให้ประธาน สนช. โปรดดำเนินการดังต่อไปนี้
1.ให้ทบทวนการตั้ง กมธ.สามัญตรวจสอบประวัติ และต้องนำรายงานคณะกรรมการสรรหามาประกอบการพิจารณาการรับรองผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็น กสม.
2.เปิดเผยรายงานการประชุมลับที่ กมธ.สามัญตรวจสอบประวัติ เสนอต่อ สนช. เพื่อให้สังคมได้รับทราบเหตุผลในการไม่รับรองบุคคลทั้ง 5 คน เพื่อความโปร่งใส และเพื่อความบริสุทธิ์ในการตัดสินใจของ สนช.
3.ยกเลิกมติ สนช. ที่ไม่รับรองบุคคลทั้ง 5 คน อันเนื่องจากเป็นมติที่ไม่มีความชอบธรรม ขัดกับหลักการธรรมาภิบาล และขัดกับหลักการปารีส หาก สนช. เห็นว่า การเลือก กสม. เป็นเรื่องกิจการภายในประเทศ และ สนช. ทำตามข้อบังคับการประชุมแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องยึดหลักการปารีส จะเป็นความเข้าใจผิดมหันต์
“องค์กรภาคประชาสังคม องค์กรสิทธิมนุษยชน และบุคคลที่มีรายนามท้ายจดหมายนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านประธาน สนช. จะรับฟัง และปฏิบัติตามข้อเรียกร้องดังกล่าว เพื่อกอบกู้วิกฤติศรัทธาที่กำลังเกิดขึ้นกับ สนช. ชุดที่ท่านเป็นประธาน โดยควรทำการยกเลิกมติ สนช. เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2561 ก่อนที่ สนช. ชุดนี้จะหมดวาระ จะเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ถูกต้องในการสรรหา บนฐานหลักยึดทั้ง 2 ระดับ คือระดับประเทศ และถูกต้องในระดับสากล เพื่อนำไปลงมติรับรองหรือไม่รับรองบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อ กสม. ในวุฒิสภาชุดต่อไป” จดหมายดังกล่าว ระบุ
อ่านจดหมายดังกล่าวฉบับเต็ม และรายชื่อองค์กร-บุคคลที่ลงนามได้ท้ายข่าว
อ่านประกอบ : มีคนโดนโทษคุกคดีบุกสภา! เบื้องหลัง กมธ.สอบประวัติ กสม.ขอขยายเวลาอีก 30 วัน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/