กรมคุมประพฤติ เผยสถิติจำเลยคดีเมาแล้วขับช่วงปีใหม่ เคยทำผิดซ้ำ-เสี่ยงสูงติดสุราส่งบำบัด
อธิบดีกรมคุมประพฤติ เผย 7 วันที่มีการควบคุมเข้มงวด ศาลสั่งติดอุปกรณ์ EM 116 ราย กำหนดเงื่อนไขห้ามออกจากที่อยู่อาศัย ช่วงเวลา 22.00 - 04.00 น. เป็นเวลา 15 วัน พบมีผู้กระทำผิดคดีเมาแล้วขับในจังหวัดกรุงเทพ ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข 1 ราย สำนักงานคุมประพฤติรายงานศาลเพื่อพิจารณามีคำสั่งต่อไป
วันที่ 7 มกราคม 2562 นายประสาร มหาลี้ตระกูล อธิบดีกรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับ นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จัดแถลงข่าวสถิติคดี “ดื่มแล้วขับ/ขับขี่ประมาท ถูกจับคุมประพฤติ” ช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2562 โดยมีคณะผู้บริหารกรมคุมประพฤติ และกรมควบคุมโรค เข้าร่วมฯ ณ ห้องประชุมกรมคุมประพฤติ ชั้น 4 อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร
อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ มีคดีที่เข้าสู่กระบวนการคุมประพฤติจากสำนักงานคุมประพฤติทั่วประเทศ 117 แห่ง มีจำนวนทั้งสิ้น 9,453 คดี แบ่งเป็น
- ขับรถขณะเมาสุรา จำนวน 8,706 คดี คิดเป็นร้อยละ 92.1
- ขับเสพและอื่นๆ จำนวน 701 คดี คิดเป็นร้อยละ 7.42
- ขับรถประมาท (ตามประมวลกฎหมายอาญา) จำนวน 44 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.46
- ขับซิ่ง จำนวน 2 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.02
เมื่อเปรียบเทียบกับสถิติคดีที่ศาลสั่งคุมประพฤติ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ปี 2561 พบว่า มีจำนวนเพิ่มขึ้น 2,776 คดี คิดเป็นร้อยละ 41.58 จังหวัดที่มีสถิติสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จำนวน 567 คดี จังหวัดมหาสารคาม จำนวน 565 คดี จังหวัดสกลนคร จำนวน 544 คดี โดยส่วนใหญ่ศาลกำหนดเงื่อนไขคุมความประพฤติ 1 ปี รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ทำงานบริการสังคม 24 ชั่วโมง และเงื่อนไขอื่นๆ เช่น อบรมระเบียบวินัยจราจร ห้ามเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ห้ามออกจากบ้านตามช่วงเวลากำหนดโดยใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (EM) ติดตามตัว เป็นต้น
อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวถึงกรณีศาลสั่งติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (EM) ในช่วง 7 วันที่มีการควบคุมเข้มงวด จำนวน 80 ราย และได้มีการสั่งให้ติด EM กับผู้กระทำผิดเพิ่ม ณ ปัจจุบัน (7 มกราคม 2562) มีจำนวน 116 ราย กำหนดเงื่อนไขห้ามออกจากที่อยู่อาศัยของตน ส่วนใหญ่ในช่วงเวลา 22.00 - 04.00 น. ระยะเวลา 15 วัน ขณะนี้พบว่า มีผู้กระทำผิดคดีขับรถขณะเมาสุราในจังหวัดกรุงเทพ ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข จำนวน 1 ราย โดยออกจากที่พักในเวลาที่ห้ามออก ขณะนี้ สำนักงานคุมประพฤติได้รายงานศาลเพื่อพิจารณามีคำสั่งต่อไป
นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้กระทำผิดคดีขับรถขณะเมาสุราในช่วงเทศกาลปีใหม่เป็นผู้ที่เคยกระทำผิดมาก่อนในคดีเดียวกัน จำนวน 153 ราย ซึ่งกรมคุมประพฤติจะดำเนินการคัดกรองตามแบบประเมินพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากพบว่า มีความเสี่ยงสูงในการติดสุราหรือติดสุราแล้ว จะส่งต่อเพื่อเข้ารับการบำบัดรักษาฟื้นฟูสภาพต่อไป ส่วนผู้ที่ได้รับการคัดกรองว่ามีความเสี่ยงในการติดสุราระดับกลางหรือระดับต่ำ จะจัดให้ทำงานบริการสังคมและรับการอบรมความรู้เกี่ยวกับกฎหมายจราจรและการลดเลิกแอลกอฮอล์
ด้านนายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเสริมว่า ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เห็นชอบ นโยบายการคัดกรองและบำบัดรักษาสำหรับผู้ถูกคุมความประพฤติฐานความผิดเป็นผู้ขับขี่ที่เมาสุรา ในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2562 ภายใต้โครงการนำร่อง “บำบัดรักษาฟื้นฟูสภาพผู้ดื่มแล้วขับ ถูกจับ ผิดซ้ำ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2562” เพื่อให้ผู้ถูกคุมความประพฤติได้รับการบำบัดรักษาฟื้นฟูสภาพ โดยโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในกรณีเป็นผู้เสพติดสุราและมีปัญหาซับซ้อน จะส่งต่อโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ และในกรณีผู้มีอาการทางจิตรุนแรง ส่งต่อโรงพยาบาลสังกัดกรมสุขภาพจิต ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้มีปัญหาการดื่มสุราในระดับความเสี่ยงสูง หรือผู้ติดสุรารุนแรงและเรื้อรัง สามารถลด ละ เลิกการดื่มสุรา ตลอดจนสุขภาวะดีทั้งกายและใจอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ และไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำอีก
สำหรับผู้เข้ารับการบำบัดในสถานพยาบาลตามโครงการบำบัดฟื้นฟูสภาพผู้ดื่มแล้วขับ ถูกจับ ผิดซ้ำ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2562 ในเบื้องต้นจำนวน 4 ราย ได้แก่
1. โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชตะพานหิน จังหวัดพิจิตร จำนวน 1 ราย
2. โรงพยาบาลลำปาง จังหวัดลำปาง จำนวน 1 ราย
3. โรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช จังหวัดลพบุรี จำนวน 2 ราย
อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับมาตรการบังคับโทษตามคำสั่งศาลของกรมคุมประพฤติกับผู้กระทำผิดซ้ำแต่ไม่อยู่ในเกณฑ์ต้องส่งบำบัดและผู้กระทำผิดในคดีพ.ร.บ.จราจรทางบก จะเข้าโปรแกรมการแก้ไขฟื้นฟูตามประเภทความเสี่ยง นอกจากนี้ในส่วนมาตรการทำงานบริการสังคมตามที่ศาล มีคำสั่ง กรมคุมประพฤติจะให้ผู้ถูกคุมความประพฤติ ทำงานบริการสังคมในสถานพยาบาล การดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียง เพื่อดำเนินกิจกรรมการกระตุ้นจิตสำนึกและรับทราบถึงความสูญเสียต่างๆ รวมถึงสภาพของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและพิการจากอุบัติเหตุทางถนน นอกจากนี้ ยังมีมาตรการอื่นๆ ที่ใช้ในการสร้างความตระหนักรู้และจิตสำนึกอีกหลายมาตรการ เช่น การช่วยเหลืองานมูลนิธิร่วมกตัญญู กิจกรรมเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ การช่วยเหลืองานของเจ้าพนักงานตำรวจด้านจราจรตามบันทึกข้อตกลง (MOU) กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือความปลอดภัยบนท้องถนนร่วมกับองค์กรอื่นๆ เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อสังคม