เข้าสนช. 10 ม.ค.! ภาคประชาสังคมยันร่างกม. จัดตั้งองค์กรผู้บริโภคต้องมีสภาเดียว เป็นเอกภาพ
ร่างกม.จัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค เตรียมเข้า สนช. 10-11 ม.ค. 62 ภาคประชาสังคมเห็นสอดคล้องต้องมีสภาเดียว เป็นเอกภาพ ลดขัดแย้ง ชี้สภาฯ พิจารณาต้องเปิดอภิปรายให้มาก ป้องกันขัดหลัก รธน.
วันที่ 6 ม.ค. 2562 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ร่วมกับสมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค จัดเวทีวิชาการ เรื่อง กฎหมายสภาองค์กรผู้บริโภคแบบไหนที่ประชาชนได้ประโยชน์ ซึ่งคาดว่าจะถูกเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาภายในวันที่ 10-11 ม.ค. 2562 ณ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ นักวิชาการด้านกฎหมาย ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. ...ซึ่งผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกา มีเนื้อหาสาระแตกต่างจากฉบับภาคประชาชน โดยขาดในเรื่องของ “สภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ” ซึ่งควรเป็นสภาเดียว แต่กลายเป็นหลายสภา กังวลจะทำให้เกิดความสับสนและกระทบความเป็นเอกภาพขององค์กรผู้บริโภค และแม้ว่าจะมีสถานะเป็นนิติบุคคล ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐ แต่ไม่มีหลักประกันว่า การของบประมาณรายปีจะเกิดขึ้นจริง หรือครม.จะอนุมัติตามที่สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ
นอกจากนี้ร่าง พ.ร.บ. ฉบับกฤษฎีกายังขาดความเป็นอิสระ เช่น มาตรา 10 ระบุให้สภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติมีความเป็นอิสระ ไม่อยู่ภายใต้อาณัติ หรือการครอบงำทางตรงและทางอ้อมของหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ พรรคการเมือง ผู้ประกอบธุรกิจ อาจไม่จริง เพราะมีการให้คำนิยามขององค์กรผู้บริโภคแห่งชาติไว้ค่อนข้างกว้าง ไม่ได้จำกัดเฉพาะองค์กรผู้บริโภคที่เป็นบุคคลธรรมดารวมตัวกัน 10 คนและมีวัตถุประสงค์คุ้มครองผู้บริโภคเท่านั้น แต่ยังเปิดโอกาสให้องค์กรธุรกิจหรือบริษัท สามารถยื่นจดทะเบียนเป็นองค์กรธรุกิจได้ด้วย ดังนั้น องค์กรที่จัดตั้งขึ้นมาอาจไม่ใช่เพื่อผู้บริโภคจริง ๆ
ด้านน.ส.สุภัทรา นาคะผิว ศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้มีความสำคัญมาก เพราะหากไม่สำคัญ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ คงไม่นำตัวลงมาเป็นประธานจัดทำกฎหมายด้วยตนเอง โดยตั้งเป็นคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะพิเศษ และพิมพ์เนื้อหาเองกับมือ จึงคิดว่ากฎหมายฉบับนี้ต้องสำคัญและกระทบกับคนจำนวนมาก โดยเฉพาะภาคธุรกิจ ดังนั้น จึงต้องอยู่ในมือของนายมีชัย และท่านยังอ้างว่า สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ทำเนื้อหามาทั้งหมด ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 46 “สิทธิของผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครอง บุคคลย่อมมีสิทธิรวมกันจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภคเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค องค์กรของผู้บริโภคตามวรรคสองมีสิทธิรวมกันจัดตั้งเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระเพื่อให้เกิดพลัง ในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดตั้ง อํานาจในการเป็นตัวแทนของผู้บริโภค และการสนับสนุนด้านการเงินจากรัฐ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ”
ทั้งนี้ แนวคิดการมีองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคเริ่มมาตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 22 ปีแล้ว ซึ่งสาระสำคัญของมาตรา 46 ของรัฐธรรมนูญ เขียนเรื่องดังกล่าวไว้บาง เบา และหวิวมาก โดยระบุเพียงว่า ให้จัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ อย่างไรก็ตาม เสนอให้พรรคการเมือง หลังการเลือกตั้งให้แก้ไขเนื้อหาในรัฐธรรมนูญกลับไปใช้ของปี 2540 หรือ 2550 แทน เพื่อความชัดเจนที่ว่า จะต้องเป็นองค์กรอิสระ ระดับชาติ ที่มีความสำคัญเทียบเท่าสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย เพื่อให้เกิดตัวแทนจริง ๆ ไม่ใช่การตั้งขึ้นมาเฉย ๆ
“ต้องการให้มีสภาเดียว ไม่มีหลายสภา ท่านบอกว่าทำไม่ได้ เพราะขัดรธน. แต่ทำไมสภาเกษตรกรแห่งชาติมีสภาเดียว สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยมีสภาเดียว สภาหอการค้าไทยมีสภาเดียว เพราะว่าความเป็นเอกภาพสำคัญ ถ้ามีหลายสภา ไปดูเลย บทเรียนสำคัญที่สุดในประเทศนี้ สภาองค์กรลูกจ้าง มี 12-13 สภา จะถูกเลือกหยิบเอาสภาที่ว่านอนสอนง่าย ไปนั่งในที่ต่าง ๆ ทะเลาะกัน ไม่เจริญงอกงาม มีลักษณะการแย่งชิงพื้นที่ ซึ่งเราไม่อยากเห็นแบบนั้น แต่อยากเห็นสภาเดียว มีเอกภาพ และเป็นตัวแทนผู้บริโภคแท้จริง” ผู้แทนศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ กล่าว
ขณะที่ ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการคุ้มครองผู้บริโภค คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับคณะกรรมการกฤษฎีกา มีจุดอ่อนเรื่องระยะยาว บั่นทอนความเป็นอิสระของสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ และพลังของผู้บริโภค ขณะที่งบประมาณไม่มีความแน่นอน ดังนั้น หากนำเข้าสู่การพิจารณาของสนช. ต้องมีการอภิปรายค่อนข้างมากพอสมควร เพื่อไม่ให้ผิดหลักการของรัฐธรรมนูญ .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/