ยกระดับไทยเป็น “ศูนย์กลางการค้าข้าว”เส้นทางความสำเร็จในตลาดโลก
การก้าวไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ในปี พ.ศ.2558 ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นผู้นำในการส่งออกข้าวของโลกจะใช้โอกาสนี้ในการปรับตัวและยกระดับสถานะการผลิต การค้า และการส่งออก ของอุตสาหกรรมข้าวไทยได้อย่างไร?
ทำอย่างไร? จะสามารถสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมข้าวของไทยทั้งระบบ โดยเฉพาะชาวนาไทยที่เป็นผู้ผลิตวัตถุดิบ ข้าวเปลือก สามารถมีความมั่นคง และศักดิ์ศรีในอาชีพนี้ นอกเหนือจากการส่งออกข้าวคุณภาพดี ซึ่งเป็นที่ต้องการทั่วโลก สามารถสร้างรายได้ให้แก่ประเทศทั้งในแง่จำนวน และมูลค่า
“AEC” จึงมีหลายมุมมองที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องให้ความสนใจ ยกตัวอย่าง กลุ่มประเทศผู้นำเข้าอย่างประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ที่ทุกวันนี้รัฐบาลมีนโยบายให้หน่วยงานของรัฐผูกขาดการนำเข้า ซึ่งเป็นการปิดกั้นการทำการตลาดข้าวไทยคุณภาพดี เช่น ข้าวหอมมะลิ ระหว่างภาคเอกชนของไทยและภาคเอกชนของประเทศเหล่านั้น(ส่วนใหญ่ หน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะประเทศฟิลิปปินส์ ,อินโดนีเซีย จะนำเข้าข้าวคุณภาพปานกลาง คือ ข้าวขาว 10-25 %)
หากมีการเปิดเสรีทางการค้าจะเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนของไทย ร่วมมือกับภาคเอกชนของประเทศเหล่านี้ สร้างตลาดข้าวคุณภาพดี เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในประเทศเหล่านี้ ซึ่งอยากจะรับประทานข้าวหอมมะลิไทย เป็นต้น
ในกรณีข้าวเปลือกและข้าวสารของประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศกัมพูชา ซึ่งผลิตได้ล้นเหลือจากการบริโภคภายในประเทศก็ได้มีการขายข้ามผ่านชายแดนไทย-กัมพูชา เข้ามาฝั่งไทย ซึ่งไม่ถูกต้องตามกฏหมายไทย หากเป็น “AEC” ประเทศไทยจะสามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้โดยการส่งเสริมและเปิดจุดรับซื้อ(นำเข้า) อย่างเป็นทางการ วัตถุดิบข้าวเปลือกและข้าวสารเหล่านี้สามารถหล่อเลี้ยงชาวนา การผลิต โรงสี และอุตสาหกรรมการแปรรูปข้าวได้ ตรงนี้จะช่วยส่งเสริมประเทศไทยให้เป็น “ศูนย์กลางการค้าข้าว” อย่างแท้จริง
จากการเดินทางไปต่างประเทศบ่อยครั้ง ทั้งแอฟริกา และตะวันออกกลาง ต้องยอมรับว่าคุณภาพข้าวไทย และชื่อเสียงของข้าวไทยเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก แม้ว่าข้าวไทย จะขายในราคาที่สูงกว่าข้าวจากเวียดนาม อินเดีย ปากีสถาน เฉลี่ยตันละ 150-250 เหรียญสหรัฐต่อเมตริกตัน เช่น ข้าวนึ่งไทย มีราคาตันละประมาณ 630-650 เหรียญสหรัฐในขณะที่ข้าวนึ่งอินเดียอยู่ที่ตันละ 421-450 เหรียญสหรัฐ
ในปัจจุบันนี้ประเทศในทวีปแอฟริกามีการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น การเมืองในประเทศและระหว่างประเทศดีขึ้นส่งผลให้เกิดชนชั้นกลางมากขึ้น ฐานะดีขึ้น และมีความต้องการบริโภคอาหารที่มีคุณภาพ เช่น ข้าวคุณภาพดีของไทย (ข้าวนึ่ง,ข้าวหอมมะลิ,ข้าวขาว 5 % ,ปรายข้าวหอมมะลิ)
เมื่อหันมาดูตัวเลขการส่งออก 5 เดือนแรกของปีนี้(2555) จะพบว่าประเทศไทยมีตัวเลขส่งออกข้าวทุกชนิดและทุกตลาดอยู่ที่ประมาณ 3 ล้านตัน สูงกว่าประเทศอินเดียหรือเวียดนาม ที่มียอดส่งออกข้าวประมาณ 2.4 -2.6 ล้านตัน แต่ละประเทศ ซึ่งตรงนี้เป็นข้อมูลยืนยันว่า ประเทศไทยยังคงเป็นผู้นำในการส่งออกอยู่ และขายได้ในราคาสูงขึ้น(ปี 2012 เฉลี่ยราคา 670 เหรียญสหรัฐต่อตันเปรียบเทียบปีที่แล้วที่ 550 เหรียญสหรัฐต่อตัน)
เบื้องหลังความสำเร็จของข้าวไทยในตลาดโลกมาจาก "พันธุ์ข้าวคุณภาพดี” ซึ่งเป็นผลงานของกระทรวงเกษตรฯ การประชาสัมพันธ์ และส่งเสริมการขายของกระทรวงพาณิยช์ ผู้ประกอบการเอกชน เช่น โรงสี ผู้ส่งออก และที่สำคัญที่สุด คือ ชาวนาไทย ซึ่งเป็นผู้ผลิตข้าวเปลือกคุณภาพดี
อย่างไรก็ตาม เราจะประมาทมิได้ ภาครัฐจะต้องส่งเสริม จัดสรรงบประมาณให้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สร้างนักวิชาการรุ่นใหม่ๆ เพื่อพัฒนาพันธุ์ข้าวของไทยให้มีคุณภาพสูงขึ้น ปรับปรุงระบบชลประทาน พัฒนาการปลูกข้าวของไทย และการเก็บเกี่ยว สร้างกลยุทธ และใช้งบประมาณที่พอเพียงในการสร้างและยกระดับภาพลักษณ์ของข้าวไทย แก่ประเทศคู่ค้า และผู้บริโภคทั่วโลก สร้างช่องทางการขายใหม่ๆ ยุทธศาสตร์การส่งเสริมข้าวไทยควบคู่กับอาหารไทยและการท่องเที่ยวไทย
ปัจจุบันบริษัท ซี.พี.อินเตอร์เทรด จำกัด (ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายทั้งในประเทศและการส่งออก)ในฐานะผู้นำธุรกิจข้าวของไทย ได้ก่อสร้างโรงงานปรับปรุงคุณภาพข้าวแห่งใหม่ที่มีความทันสมัยและมีกำลังการผลิตกว่า 1 ล้านตัน/ปี ซึ่งได้ เปิดทำการตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจข้าวตราฉัตร ทั้งในประเทศและส่งออก
ในส่วนของตลาดในประเทศ บริษัทฯได้วางแผนเจาะกลุ่มธุรกิจ HORECA (Hotel Restaurant and catering/โรงแรม ร้านอาหาร ครัว) เพื่อตอบสนองผู้ประกอบการ และผู้บริโภค ที่มีการเติบโตสูง
การพัฒนาอุตสาหกรรมข้าวไทย ต้องทำอย่างต่อเนื่อง หากหยุดการพัฒนาหรือประมาท เราก็จะสูญเสียสถานะการเป็นผู้นำในธุรกิจข้าวของตลาดโลก ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือ โทรศัพท์มือถือยี่ห้อโนเกีย(Nokia) ซึ่งเมื่อ 5-6 ปีที่แล้วได้รับการยอมรับว่าเป็นเบอร์หนึ่งของโลก แต่วันนี้โทรศัพท์มือถือแบบ SMART PHONE ของค่ายอื่นแซงหน้าไปแล้ว
“ข้าวไทย” ก็เหมือนกันถ้าไม่ได้รับการดูแลและพัฒนาตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ อย่างต่อเนื่อง และทันการณ์ โอกาสที่จะถูกแซงหน้าก็มีสูง